xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.สำรองจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน เน้นป่วยสาหัส-เสี่ยงตายสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ์ สปสช.สำรองจ่ายให้ก่อนดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ เน้นผู้ป่วยสาหัสเหตุมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

หลังรัฐบาลประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินของการบรูณาการ 3 กองทุน เพื่อให้การบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ นำร่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ์ รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคนเริ่ม 1 เม.ย.นี้ เน้นแก้ปัญหาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินระดับวิกฤต หรือโคม่า ชี้หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง ส่วนกรณีหน่วยบริการที่รับผู้ป่วย 3 สิทธิ์ ส่งข้อมูลเบิกจ่ายมายัง สปสช.เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเบิกจ่ายกลาง สำรองเงินจ่ายให้ รพ.ตามอัตราผู้ป่วยใน ก่อนเรียกเก็บเงินจากแต่ละกองทุนต่อไป

วันนี้ (27 มี.ค.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ มีการเสวนาเรื่อง “นิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินและความพร้อมหน่วยงานเบิกจ่ายกลาง หรือเคลียริ่งเฮาส์” (Clearing House) เพื่อรองรับระบบการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ โดยไม่ต้องสอบถามสิทธิ์และไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ตามแนวทาง เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ์รักษาทันที

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการบรูณาการ 3 กองทุน เพื่อการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ ของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน โดยเริ่มต้นที่ผู้ป่วยฉุกเฉินโดยมีแนวคิดให้ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ได้รับบริการโดยไม่ต้องถามสิทธิ์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต และระดับเร่งด่วน จะต้องรับผู้ป่วยไว้จนผู้ป่วยอาการทุเลาสามารถส่งกลับบ้านหรือส่งต่อ/ส่งกลับสู่ รพ.ในระบบต้นสังกัดได้ ซึ่งการดำเนินการนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุน ที่เดิมมีปัญหาในการเข้ารับบริการฉุกเฉินใน รพ.ที่อยู่นอกเครือข่าย ทำให้ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน และอาจจะถูกบ่ายเบี่ยงการรักษาพยาบาล รวมถึงเสียโอกาสจากขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิ์ โดยเฉพาะต้องการแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต และเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ต้องเสียโอกาสจากการตรวจสอบสิทธิ์ และ รพ.ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินค่ารักษา แนวทางใหม่ที่ดำเนินการนี้ จะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ทุก รพ.ไม่ต้องถามสิทธิ์การรักษาพยาบาลจากผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย รพ.รักษาทันที แล้วจึงมาเบิกจ่ายจากกองทุนที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแทน
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สปสช.กล่าวว่า ในส่วนอัตรา และเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยนั้น หลักการคือ ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษากับรพ.ในเครือข่ายของ 3 กองทุน ให้เป็นไปตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน แต่กรณีที่เข้ารับการรักษากับ รพ.นอกเครือข่ายของสิทธิการรักษาของผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยนอก จ่ายตามอัตราที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง สำหรับผู้ป่วยใน จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ ดีอาร์จี (DRG) โดยมีอัตราจ่ายตามน้ำหนักของโรค หรือ RW ละ 10,500 บาท วิธีการคือ สำหรับ รพ.นอกเครือข่ายของทั้ง 3 กองทุนที่รับรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทั้งจากผู้ป่วยที่ส่งมาโดยรถกู้ชีพ 1669 หรือนำส่งเองเข้า รพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุด แล้ว รพ.ต้องให้การรักษาทันที หลังจากนั้น จึงลงทะเบียนเบื้องต้น บันทึกข้อมูลการให้บริการ ส่งมาที่หน่วยงานเบิกจ่ายกลาง ซึ่ง สปสช.รับหน้าที่นี้ หลังจากนั้น สปสช.จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับ รพ.ไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน วิธีการจ่ายนี้เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และให้ รพ.ที่รับการรักษาได้รับเงินโดยเร็ว

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่มีความสำคัญ คือ การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินระหว่างแพทย์ และผู้ป่วยไม่ตรงกัน จุดนี้ให้ยึดตามนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินตามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งแบ่งเป็น

1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต คือ บุคคลที่มีอาการป่วย หรือบาดเจ็บกะทันหันที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันทีเพื่อแก้ไขระบบหายใจ ไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น หายใจไม่ออกหอบรุนแรง หยุดหายใจ ภาวะช็อก ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

2.ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน คือ บุคคลที่มีอาการป่วย หรือบาดเจ็บเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนพิการหรือเสียชีวิตได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาต หรือตาบอดหูหนวกทันที ตกเลือดซีดมากจนเขียว เจ็บปวดมาก หรือทุรนทุราย ถูกพิษหรือรับยาเกินขนาด ได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะมีบาดแผลที่ใหญ่มากหลายแห่ง

ทั้งนี้ แนวทางครั้งนี้เน้นผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤตและเร่งด่วน นั่นหมายความว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ได้รับการส่งรักษาโดยบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็น รพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อให้การรักษาทันท่วงทีลดการสูญเสียชีวิต และความพิการรุนแรงจากเหตุไม่จำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น