นายกฯ ลงนามความร่วมมือ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ให้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ทันทีตามสิทธิ หวังประชาชนมีสิทธิเข้าถึงแหล่งรักษา ยืนยันไม่ยุบรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกัน ด้านเลขาธิการ สปสช.เผยเตรียม 200 ล้านสำรองจ่ายฉุกเฉิน และลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชน มั่นใจไม่มีที่ไหนไม่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน
วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ได้แก่กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง, กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” เพียงแค่แสดงบัตรประชาชนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินมาโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานว่า ถือเป็นการลงนามที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รู้สึกดีใจว่ามีอีกหนึ่งโครงการที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชนทั้ง 3 กองทุน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นการพัฒนาเพิ่มเติมระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า เพื่อที่จะหาวิธีการทำอย่างไรให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงแหล่งรักษา เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด โดยความร่วมมือของกองทุนเพื่อช่วยแก้ปัญหา เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ช่วยเหลือทุกคน ในการเข้าสู่ระบบ เพราะการรักษาประชาชนมีค่าใช้จ่าย ซึ่งบางคนได้รับบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน สิทธิต่างกัน และการดูแลไม่ทั่วถึง
ทั้งนี้ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องมีการถามสิทธิก่อนการรักษาก็ไม่ทันการณ์ จึงต้องการให้ผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาได้ทุกที่โดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าถึงทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และไม่มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้า เมื่อรักษาไปได้สักระยะผู้ป่วยทุเลาก็ส่งกลับยังโรงพยาบาลที่กองทุนดูแล โดยให้จ่ายเงินได้ภายหลังตามสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง และยืนยันว่าจะไม่ยุบรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกันและไม่นำเงินส่วนนี้มาใช้ ทุกกองทุนยังคงมีสวัสดิการข้าราชการ ภาครัฐยังเหมือนเดิม ไม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม วันนี้อาจจะมีปัญหาผู้รักษาผ่านระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าทุกพื้นที่ไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และตนเชื่อว่ายังมีอีกเยอะและอาจจะเพิ่มขึ้น จึงขอให้ทุกฝ่ายที่ทำงานเชิงปฏิบัติชี้แจงกับประชาชนว่ากรณีฉุกเฉินจะได้รับการรักษาทันที ตนในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งก็รู้สึกดีใจหน่วยงานที่ดูแลร่วมกันปรับปรุงสุขภาพคนไทย
จากนั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมมือระหว่าง 3 กองทุน สุขภาพภาครัฐ และหน่วยบริการทั้งรัฐและเอกชน
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ทางกระทรวงได้เตรีมความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะได้มอบหมายให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลเอกชนและประชาชนถึงขอบเขตและนิยามกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและยืนยันว่าทุกโรงพยาบาลให้ความร่วมมือ สำหรับโรงพยาบาลที่อยุ่ในต่างจังหวัดจะเป็นหน้าที่ของ สป.สช.เช่นกัน
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ในฐานะผู้จัดทำระบบซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาให้กับโรงพยาบาล เบื้องต้นได้หารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ว่าภายใน 6 เดือนได้เตรียมงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉินไว้ 200 ล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ สปสช.ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิที่จะเข้ารับการรักษาฉุกเฉินว่ากรณีใดเข้าข่ายหรือไม่ เช่น กรณีหัวใจวาย อุบัติเหตุรุนแรง อันตรายถึงสมอง หัวใจ ปอด ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ แต่หากมีดบาดเล็กๆ น้อยๆ คงไม่เข้าหลักเกณฑ์ นี่คือสิ่งสำคัญที่จะไปทำความเข้าใจ
ทั้งนี้ สปสช.ได้ให้ประชาชนหารือกับหัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลแล้วว่า โรงพยาบาลเอกชนควรละลุ่มอะล่วยในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษา เพราะทราบดีว่ามีผู้ที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายคือกองทุนฯ และมั่นใจว่าจะไม่มีโรงพยาบาลใดปฏิเสธรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แม้ทางภาครัฐจะไม่มีมาตรการลงโทษ และหลังจากวันที่ 1 เม.ย. สปสช.จะมีการประเมินผลการดำเนินการทุก 1 เดือน และยินดีรับเรื่องราวร้องเรียนผ่านสายด่วน 1669