xs
xsm
sm
md
lg

10 ประเด็น ที่ ระบบสุขภาพไทยต้องแก้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.พงษ์พิสุทธิ์
เปิด 10 ประเด็น ระบบุสุขภาพที่ควรแก้ ร้อยละ 4.26 ชี้ชัด อยากให้เร่งแก้เรื่องจำนวนและคุณภาพบุคลากร สธ.รองลงมา ความครอบคลุมสิทธิประโยชน์บริการที่จำเป็น

วานนี้ (22 มี.ค.) นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงผลสรุปในการประชุมวิชาการ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษที่สอง” ระหว่างวันที่ 21-22 มี.ค. ว่า จากการประชุมดังกล่าวนอกจากจะรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรระบบสาธารณสุขแล้ว ในงานยังทำการสำรวจความเห็นผู้เข้าร่วมประชุม 536 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.9 ของผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน โดยแบ่งเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์บริการสาธารณสุข ร้อยละ 14.6 โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ร้อยละ 12.2 สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและจังหวัด ร้อยละ 12.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 12.2 เครือข่ายภาคประชาสังคม ร้อยละ 12.4 โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ร้อยละ 10.9 นักวิชาการอีกร้อยละ 6.5 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนกลางและเขตต่างๆ ร้อยละ 9.4 โรงพยาบาลนอกสังกัด สธ.และเอกชน ร้อยละ 2.4

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจความคิดเห็น สรุปปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข ดังนั้น อันดับ 1 ร้อยละ 4.26 จำนวนและคุณภาพบุคลากร รองลงมา ร้อยละ 4.15 ความครอบคลุมสิทธิประโยชน์บริการที่จำเป็น ร้อยละ 4.15 ความเพียงพอของงบประมาณ ร้อยละ 4.06 ความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ ร้อยละ 4.06 ปัญหาเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ร้อยละ 4.04 คุณภาพยา และร้อยละ 4.04 คุณภาพบริการในภาพรวม นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงความสำคัญของนโยบายรัฐบาล อันดับ 1 ร้อยละ 4.37 ประเด็นการสร้างสุขภาพในทุกกลุ่มวัย ร้อยละ 4.33 การพัฒนาบริการให้สะดวกรวดเร็ว รอไม่นาน ร้อยละ 4.30 การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ร้อยละ 4.26 การมียาดี มีคุณภาพ และใช้อย่างเหมาะสม ร้อยละ 4.19 การลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนประกันสุขภาพ เป็นต้น

"นอกจากนี้ ยังสอบถามถึง 10 ประเด็นความห่วงใย และ 10 ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปรับปรุง โดย 10 ความห่วงใย ได้แก่ 1.ไม่เห็นด้วยกับการรวมกองทุนประกันสุขภาพ แต่ไม่ขัดข้องหากจะลดความเหลื่อมล้ำ 2.แนวทางการพัฒนาบริการปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.แตกต่างกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติสับสน 3.บุคลากรต้องเสียเวลาส่งข้อมูลเพื่อรับการจัดสรรเงิน จนทำให้เวลาในการให้ข้อมูลผู้ป่วย เพื่อดูแลสุขภาพตนเองลดลง 4.การแบ่งเขตพื้นที่ของกระทรวงและสปสช. แตกต่างกัน ทำให้ยากต่อการประสานการทำงาน 5.เงินกองทุนตำบลไม่ควรจำกัดการใช้แค่ อบต.หรือ รพ.สต.6. การร่วมจ่ายมีวัตถุประสงค์หลากหลายแตกต่างกัน การนำกลับมาใช้จึงควรมีความชัดเจน และไม่เร่งรีบดำเนินการ 7.ปัญหาสุขภาพแรงงานต่างชาติ และระบบการดูแล เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย 8.งบส่งเสริมป้องกัน มีอัตราเพิ่มค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับงบรักษาพยาบาล ทำให้การพัฒนางานมีข้อจำกัด 9.ขาดความชัดเจนด้านบทบาทของจังหวัด และอำเภอในอนาคต หากมีการกระจายอำนาจ และ 10.ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพบริการให้มากขึ้น ไม่ใช่พอใจกับการเข้าถึงบริการเท่านั้น” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

10 ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปรับปรุง ได้แก่ 1.หน่วยงานด้านสุขภาพทั้งหมด ควรทำงานอย่างประสานร่วมมือกันมากกว่าปัจจุบัน 2.ในแง่การสร้างเสริมสุขภาพ บุคลากรควรเข้าถึงประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ 3.การแก้ไขระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้กองทุนสุขภาพระดับตำบล สามารถบริหารได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น 4.ควรลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรให้มากขึ้น เพราะคุณภาพบริการที่ประชาชนจะได้รับขึ้นกับคุณภาพบุคลากร 5.ควรกระจายอำนาจและขยายการมีส่วนร่วมของประชาชน 6.ควรขยายประเด็นการพัฒนาสุขภาพให้ครอบคลุมปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านสังคมด้วย 7.ควรเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่มีพฤติกรรมสุขภาพดี สามารถลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ 8.ควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านบริการอาชีวอนามัย 9.ควรลดการสร้างโรงพยาบาลเพิ่มในเขตเมือง เพราะเป็นการเน้นการรักษาพยาบาลมากเกินไป และ 10.ควรให้นายจ้างมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น