บอร์ด สปสช.ยังไม่ชัด ร่วมจ่าย 30 บาท ด้าน วิทยา ลั่น ขอมอบ อนุกรรมการ พิจารณารายละเอียดอีกครั้ง
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) การประชุมครั้งนี้มีการหารือกันในเรื่องของการร่วมจ่าย 30 บาท ซึ่งได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ได้หารือในเรื่องดังกล่าวเพื่อหาข้อยุติ และกำหนดกรอบเวลาในการร่วมเก็บ โดยให้ศึกษารวมกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย เพื่อแก้ปัญหาในการรับบริการให้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องถามสิทธิ ว่า อยู่ในระบบอะไร ต้องมีบัตรอะไร ซึ่งยุ่งยากมาก จะแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย รวมไปถึงให้พัฒนาระบบส่งต่อให้ดีขึ้น
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชยเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ด้วยที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและการคุ้มครองสิทธิ พิจารณารายละเอียดทางด้านกฎหมายให้เกิดความครอบคลุม และนำข้อเสนอของแพทยสภามาพิจารณา เพื่อให้มีเหตุผลในการนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เนื่องจากเรื่องนี้ต้องแก้กฎหมายที่ต้องผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ อีกทั้งยังพิจารณาในเรื่องข้อเสนอนโยบายงบกองทุน โดยมีการพิจารณากรณีการรักษาผู้ป่วยยาเสพติด โดยจะให้หน่วยบริการของ สปสช.ทำหน้าที่รับผู้ป่วยมาบำบัดในสถานพยาบาลในสังกัดมากขึ้น
รมว.สธ.กล่าวต่อว่า กรณีมีการร้องเรียนคุณสมบัติผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน คือ นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นั้น ที่มีการร้องเรียนการส่งหนังสือเวียนไปยังรพ.เอกชนเพื่อยับยั้งการเข้าร่วมกับสปสช.กรณีล้างไต โดยที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า บอร์ด สปสช.ชุดปัจจุบันมีอำนาจในการตัดสินข้อกล่าวหาหรือไม่ เนื่องจากกรณีนี้เกิดขึ้นในบอร์ด สปสช.ชุดก่อน
นายวิทยา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ด้วย โดย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ ปัจจุบันจะหมดวาระลงในวันที่ 31 มี.ค.2555 นี้ โดยคณะกรรมการดังกล่าว มี 5 คน ประกอบด้วย 1.นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการสัดส่วนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี บอร์ด สปสช.ผู้แทนภาคประชาชน 2.ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา ผู้แทนแพทย์วิชาชีพ 3.นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน 4.นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ และ 5.นายเอนก เพิ่มวงเสนีย์ เลขาสภาการศึกษา
ด้านนายนิมิต เทียนอุดม กรรมการ สปสช.กล่าวด้วยว่า ในการประชุมยังมีการเสนอให้ สปสช.เป็นผู้กระจายงบประมาณเพื่อเสนอให้มีการเปิดบริการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ในหน่วยบริการของ สปสช.ซึ่งปัจจุบันนนี้ ประชาชนที่มีการเข้ารักษาในสถานพยาบาลเอกชน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 15,000 บาท ต่อ เดือน โดยแต่ละรายต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งหากกระจายให้หน่วยบริการ สปสช.จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น