นักวิชาการ ชี้ ข้อเสนอ 3 ระบบสุขภาพไทยเสมอภาค เท่าเทียม ไม่ใช่ของใหม่ ปูด! ประชาธิปัตย์ เคยพยายามตั้งสำนักงานกลางคุม 3 กองทุน แต่ยังไม่คืบ ย้ำ ผลการ Work Shop พิสูจน์ความจริงใจรัฐบาล
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเพื่อไทยมีแนวคิดที่จะทำให้ระบบสุขภาพของไทยทั้ง 3 ระบบ มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ซึ่งนับเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลที่จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทยให้ก้าวไปอีกระดับ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ซึ่งมี 3 ระบบใหญ่ ให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นข้อเสนอที่มีมานานแล้วจากหลายกลุ่ม ซึ่งสามารถสรุปได้ 3 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 ข้อเสนอจากภาคประชาชนและเอ็นจีโอนั้น เป็นข้อเสนอที่มีมานานแล้ว ที่ให้มีหน่วยงานเดียวบริหารจัดการด้านสวัสดิการสุขภาพแก่ประชาชนทุกคน เป้าหมายหลัก คือ ประชาชนทุกคนไปรับบริการโดยไม่ต้องบอกว่ามีสิทธิอะไร ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมจริงๆ มีอำนาจการต่อรองสูง งบประมาณจากภาษี ประชาชนไม่ต้องร่วมจ่าย แต่เป็นรูปแบบที่เผชิญกับแรงต่อต้านมากที่สุด โดยเฉพาะจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะเสียประโยชน์จากการทำธุรกิจ ถือได้ว่าเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมากใช้ระบบนี้
ทางเลือกที่ 2 ข้อเสนอสำนักงานพัฒนาการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยนั่งเป็นประธานด้วยตนเอง หวังที่จะตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อคุมทั้ง 3 กองทุน คอยกำหนดสิทธิประโยชน์ วิธีจ่ายเงิน ซึ่งเป็นรูปแบบประนีประนอม ไม่ต้องการผ่าตัดทั้งระบบ และมีจุดอ่อนในการปฏิบัติ ไม่มีอำนาจที่จะบังคับทั้ง 3 กองทุนได้
ทางเลือกที่ 3 ข้อเสนอเอกชน โดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) และแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนบางกลุ่ม ที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันกันแบบทุนนิยม โดยต้องการให้ประชาชนทุกคนร่วมจ่ายและให้บริษัทประกันชีวิตเอกชน เป็นผู้บริหารกองทุน ซึ่งอาจมีกองทุนไม่จำกัด มีจุดอ่อนทั้งเรื่องประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม และไม่มีอะไรการันตีเรื่องคุณภาพ ที่สำคัญคือ ขัดกับลักษณะของระบบสุขภาพ ผู้ป่วยไม่รู้ว่าป่วยด้วยโรคอะไร การตัดสินใจต่างๆ ขึ้นอยู่กับแพทย์ ไม่สามารถใช้การตลาดแบบทุนนิยมได้ จุดแข็งคือ รัฐมีความมั่นคงการเงิน เพราะผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบแทน แต่ไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้ ตัวอย่างประเทศที่มีระบบนี้ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงที่สุดในโลก จนประธานาธิบดี โอบามา ต้องปฏิรูประบบในที่สุด และตัวอย่างจาก กองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของไทย ที่มอบให้บริษัทประกันภัยเอกชนทำหน้าที่บริหารกองทุน แต่ละปีมีต้นทุนการบริหารจัดการสูงถึง 3,000-4,000 ล้านบาท ขณะที่มีเม็ดเงินกองทุนเพียง 10,000 ล้านบาทต่อปี เท่านั้น
นพ.พงศธร กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลเพื่อไทยมีแนวคิดเรื่องนี้เป็นความก้าวหน้าที่ดี และผลลัพธ์ของการเวิร์กชอปครั้งนี้ จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า รัฐบาลจริงใจแค่ไหน จะปฏิรูปทั้งระบบเพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรมจริงๆ หรือต้องการเพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีการประนีประนอมที่สุด คือ การทำสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลกลางด้วยการลดกระแสที่รัฐบาลเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำกับข้อหาทำให้บัตรทองเป็นอนาถา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงระบบจริงๆ ทั้งปัญหาเรื่องการเงินการคลัง ความเหลื่อมล้ำของการจ่ายเงิน ผู้ประกันตนกลุ่มเดียวยังต้องจ่ายสมทบ ขณะที่งบข้าราชการก็บานปลายเพิ่มขึ้นทุกปี ที่สำคัญคือ การทำให้สวัสดิการรักษาเท่าเทียมกันนั้น เป็นเรื่องยากกว่าการทำให้ทุกคนมีสวัสดิการรักษาพยาบาล เพราะมีแรงต้านที่มีพลังอย่างมากจากกลุ่มที่จะเสียผลประโยชน์