ถกโอนผู้ประกันตนไปบัตรทองไม่คืบ ยังขัดเรื่องกม. ต่างฝ่ายกลับไปคิดประเด็นคำถาม-ผู้ตีความ ด้าน สปส.ชี้ขัด รธน.หากจ่ายเงินด้านการแพทย์ 2.2 หมื่นล้านให้ สปสช. เหตุเงิน 2 ใน 3 เป็นของลูกจ้าง-นายจ้าง นัดถกอีกครั้ง 5 ส.ค. ส่วนสภาองค์การนายจ้างเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองสัปดาห์หน้า เหตุขัด ม.5 พ.ร.บ.สุขภาพ ชี้ สปสช.ไม่มีอำนาจเก็บเงินส่วนนี้
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่สำนักงานประกันสังคม ได้มีการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อหารือในกรณีการโอนผู้ประกันตนจากประกันสังคมไปรับบริการทางการแพทย์กับ สปสช. หรือบัตรทอง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545
โดยที่ประชุมได้หารือถึงข้อเสนอจาก สปสช.ซึ่งพร้อมจะรับผู้ประกันตนไปดูแลและจะให้สิทธิการรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าเดิม ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่บัตรทองให้มากกว่าประกันสังคมอีกกว่า 30 รายการ แต่ สปส.ต้องจ่ายเงินค่าค่าบริการทางการแพทย์ให้ สปสช.เป็นจำนวนเงินกว่า 2.2 หมื่นล้าน เป็นระยะเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวตัวแทน สปส.คัดค้านว่าไม่ควรต้องจ่ายเงินในส่วนค่าบริการทางการแพทย์ให้กับ สปสช. เนื่องจากเป็นการขัดต่อมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการร่วมจ่ายเงินของผู้ใช้บริการ โดยระบุว่าปัจจุบัน สปสช.ให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หาก สปส.ต้องโอนผู้ประกันตนไปใช้บริการของสปสช.ก็ไม่ควรต้องเสียค่าบริการทาง การแพทย์ด้วยเช่นกัน เพราะจะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการ สปสช.กล่าวว่า ตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายเห็นต่างเกี่ยวกับการตีความตามมาตราดังกล่าว จึงควรให้หน่วยงานที่มีอำนาจมาตีความให้ชัดเจนเสียก่อน โดย สปสช.เสนอว่าควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ส่วนฝ่าย สปส.เห็นว่าควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วย
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องชัดเจนเสียก่อน คือ สปส.ต้องจ่ายเงินหรือไม่ ถ้าจ่ายต้องจ่ายเท่าใด สิ่งที่ สปส.กังวลคือ การจ่ายเงินค่าจัดบริการทางการแพทย์ให้ สปสช.อาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเงินของสปส.มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ เงินสมทบจากลูกจ้าง นายจ้าง และส่วนที่รัฐบาลร่วมจ่าย
“เป็นคำถามว่าถ้าเอาเงินของลูกจ้างและนายจ้างไปให้ สปสช.จะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความ เช่น อาจให้จ่ายเฉพาะส่วนที่รัฐร่วมสมทบประมาณ 8,000 ล้านบาทเท่านั้นก็ได้ แต่ต้องมีหน่วยงานที่ให้ความชัดเจน” นายปั้นกล่าว
นายปั้นกล่าวว่า ที่ประชุมยังตกลงให้ทั้ง 2 ฝ่าย จัดทำรายละเอียดในการโอนผู้ประกันตน และรายละเอียดสิทธิประโยชน์ วิธีการเข้าถึงบริการซึ่งบางอย่างยังมีความแตกต่างกันอยู่ โดยให้เหตุผลว่าเตรียมการไว้สำหรับการโอนผู้ประกันตนในอนาคต
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผอ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากวันนี้ ทั้ง สปส.และสปสช.จะกลับไปคิดคำถามของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง แล้วจะให้ใครเป็นผู้ตอบ เช่น ถ้ามีคำถามที่เป็นปัญหาทางด้านกฎหมายก็จะยื่นให้กฤษฎีกาตีความ ถ้าเป็นเรื่องทางรัฐธรรมนูญก็จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากเป็นเรื่องทางนโยบายก็จะให้ทางรัฐบาลเป็นผู้เสนอ
ด้าน นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล คณะกรรมการ สปส. ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า อีก 1 สัปดาห์ ตนและสภาองค์การนายจ้างอีก 7 องค์กร จะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองกรณี สปสช.จะเรียกเก็บเงินในส่วนค่าบริการทางการแพทย์จาก สปส.จำนวน 2.2 หมื่นล้าน ว่า ขัดต่อมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ที่ทาง สปสช.ไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บเงินในส่วนนี้ เพราะจากที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการเรียกเก็บเงินจากบุคคลอื่น
ทั้งนี้จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค.ที่จะถึงนี้