บอร์ดสปส.สั่งตั้งหน่วยงานเร่งรัดติดตามเงินค้างสมทบ หลังนายจ้างค้างชำระกว่า 3 พันล้านบาทจากสถานประกอบการกว่า 3 หมื่นแห่ง เริ่มเดินหน้าตั้งแต่เดือนมิ.ย.นี้ พร้อมสั่งให้นำเรื่องกรณีเพิ่มสิทธิประโยชน์โรคเอชไอวีเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์เพิ่มอีก 1 กรณี นอกจากกรณีโรคเรื้อรัง-ทันตกรรมในวันที่ 14 มิ.ย.นี้
วันนี้(10 มิ.ย.) นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการสปส.ว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีนายจ้างค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นเงินสะสมกว่า 3 พันล้านบาทจากสถานประกอบการกว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศโดยได้หารือถึงวิธีการดำเนินการและอัตรากำลังเพื่อเร่งรัดติดตามเงินค้างสมทบให้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งหน่วยเร่งรัดติดตามเงินสมทบค้างชำระประกันสังคมขึ้นโดยเกลี่ยอัตรากำลังจากหน่วยงานต่างๆ เน้นนักกฎหมายเป็นหลัก รวมทั้งเริ่มดำเนินการติดตามเงินสมทบค้างชำระตั้งแต่เดือนมิ.ย.นี้ ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการติดตามเงินสมทบค้างชำระและจำนวนอัตรากำลังของหน่วยงานเร่งรัดฯนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมในวันที่ 21 มิ.ย.นี้
เลขาธิการสปส. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้นำเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนในการรักษาโรคเอดส์เข้าหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์ของสปส.ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ เพิ่มเติมอีก 1 กรณีสิทธิประโยชน์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการฯเห็นชอบให้นำรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณและการดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใน 2 กรณีได้แก่ โรคเรื้อรังที่จากเดิมดูแลเพียง 180 วันเพิ่มเป็นดูแลอย่างต่อเนื่องและทันตกรรมเข้าสู่ที่ประชุมในวันดังกล่าว
"ผมยังได้รายงานที่ประชุมถึงความคืบหน้าแนวทางความร่วมมือระหว่างสปส.กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในการดำเนินการด้านสุขภาพตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุถึงการขยายบริการสาธารณสุขไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งล่าสุดได้ข้อสรุปว่า ผู้ประกันตนจะได้รับทั้งสิทธิเดิมจากประกันสังคมและยังได้รับสิทธิจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ซึ่งรวมแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มทั้งหมด 11 กรณีโดยที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น ผมจะรวบรวมข้อสังเกตทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมสปส.กับสปสช.ในวันที่ 13 ก.ค.นี้" นายปั้น กล่าว