อนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์สปส.เห็นชอบชงเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง-ทันตกรรม ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ สั่ง ผอ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ศึกษารายละเอียดงบดำเนินการเสนอ คณะอนุกรรมการอีกครั้ง 14 มิ.ย.นี้ พร้อมถกเพิ่มสิทธิอีก 5 รายการ
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวหลังประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์ของ สปส.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรอบงบประมาณในการดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์ ตามที่คณะกรรมการ สปส.ได้เห็นชอบในหลักการไปก่อนหน้านี้ ใน 5 รายการ ได้แก่ 1.โรคเรื้อรัง 2.ยาราคาแพง 7 ชนิด 3.โรคไต 4.เจ็บป่วยฉุกเฉิน 5.ทันตกรรม ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากเดิมดูแลไม่เกิน 180 วัน เพิ่มเป็นให้ดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกรณีเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม ซึ่งได้มอบให้ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ของ สปส.กลับไปคำนวณงบประมาณดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทั้ง 2 กรณีอีกครั้ง และจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมในวันที่ 21 มิ.ย.นี้
เลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณียาราคาแพง 7 ชนิดให้กลับไปศึกษาจำนวนผู้ใช้ว่าเป็นคนกลุ่มใด อายุเท่าไหร่ และต้องใช้ยาจำนวนเท่าใด รวม ทั้งกรณีโรคไตและเจ็บป่วยฉุกเฉินจะต้องกลับไปศึกษาและจัดทำข้อมูลงบประมาณ และรูปแบบการเพิ่มสิทธิประโยชน์อีกครั้ง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจะพิจารณาการเพิ่มสิทธิประโยชน์ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ยาราคาแพง 7 ชนิด 2.โรคไต 3.เจ็บป่วยฉุกเฉิน 4.โรคมะเร็ง และ 5.โรคเอชไอวีในการประชุมในวันที่ 14 มิ.ย.นี้
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผอ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรอบงบประมาณในการดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์ตามที่คณะกรรมการ สปส.ได้เห็นชอบในหลักการไปก่อนหน้านี้ ในรายการต่างๆ ได้แก่ การรักษาโดยโรคไต เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนไต การให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดงแก่ผู้ป่วยไตระยะสุดท้าย ทันตกรรม เจ็บ ป่วยฉุกเฉินรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และยามีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งตนได้เสนอกรอบงบประมาณดำเนินการทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่า น่าจะใช้งบประมาณมากกว่านี้โดยประมาณการว่าน่าจะอยู่ที่ 500-600 ล้านบาท
นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ให้ตนไปพิจารณารายละเอียดในเรื่องงบประมาณดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระยะยาวให้ชัดเจน โดยยึดหลักให้ผู้ประกันได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาโดยเท่าเทียมกันแล้วนำ ข้อมูลมานำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ส่วนงบประมาณเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องยาต้านไวรัสเอชไอวี และสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยมะเร็งอีก 7 รายการ ซึ่งคาดว่า จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ตนจะไปหาข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้ง และนำเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการในวันที่ 14 มิ.ย.นี้เช่นกัน
“ขณะนี้กรอบงบประมาณดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์ในรายการต่างๆ ยังไม่ชัดเจนอาจจะลดลง หรือเพิ่มขึ้นจากที่ได้ประมาณการเบื้องต้นไว้ก็ได้ ดังนั้น ผมจะไปดูรายละเอียดเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯต่อไป” นพ.สุรเดช กล่าว