สปส.เผยร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ให้ผู้ประกันตนเขียนระบุผู้รับสิทธิประโยชน์กรณีตาย-ชราภาพ หลังพบ กม.เดิมมีช่องโหว่ ทำให้คู่สมรส-บุตร ที่ไม่จดทะเบียนของผู้ประกันตนอดรับเงินสิทธิประโยชน์ เร่งชงวุฒิสภาแก้ร่าง พ.ร.บ.เปิดช่องให้ระบุผู้รับมอบสิทธิได้ คาดบังคับใช้ ส.ค.นี้
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีผู้ประกันตนที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับคู่สมรส ไม่มีบุตร หรือไม่ได้เขียนระบุผู้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม ทำให้คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือญาติของผู้ประกันตนไม่ได้รับเงินสิทธิประโยชน์จากผู้ประกันตนดังกล่าว โดยเงินสิทธิประโยชน์ถูกนำเข้ากองทุนประกันสังคม ว่า สปส.พบกรณีเช่นนี้ และเห็นว่า เป็นช่องโหว่ของกฎหมายประกันสังคมฉบับปัจจุบันที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนเขียนระบุผู้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมไว้ให้ชัดเจน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ จึงได้เขียนกำหนดไว้ โดยคาดว่า ร่าง พ.ร.บ.จะผ่านวุฒิสภาและมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคมนี้
นายโกวิท สัจจวิเศษ ผอ.กองนิติการ สปส.กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปส.ได้ให้ผู้ประกันตนระบุผู้รับสิทธิประโยชน์กรณีตายซึ่งแบ่งเป็นเงินค่าทำศพ 4 หมื่นบาทและเงินสงเคราะห์ โดยหากส่งเงินสมทบเกินกว่า 3 ปี จะได้เงินสงเคราะห์เพิ่มอีกเดือนครึ่งของเงินที่ส่งสมทบตามฐานเงินเดือน ถ้าส่งเงินสมทบเกินกว่า 10 ปี จะได้เงินสงเคราะห์เพิ่มอีก 5 เดือน อย่างไรก็ตาม ได้มีคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือญาติของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตในกรณีต่างๆ เช่น ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยที่ไม่ได้เขียนระบุผู้รับสิทธิประโยชน์ไว้มาอุทธรณ์ตั้งแต่ปี 2551-เดือนเม.ย.2554 แยกเป็นกรณีบำเหน็จชราภาพ 130 ราย เงินถูกนำเข้ากองทุนไม่เกินปีละประมาณ 2 ล้านบาท และเงินสงเคราะห์กรณีตาย 104 ราย เงินถูกนำเข้ากองทุนไม่เกินปีละประมาณ 8 แสนบาท
นายโกวิท กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีชราภาพซึ่งแบ่งเป็นเงินบำเหน็จและบำนาญชราภาพ ยังไม่ได้ให้ผู้ประกันตนมอบสิทธิ จะให้มอบสิทธิก็ต่อเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้ผู้ประกันตนเขียนมอบสิทธิการรับสิทธิประโยชน์กรณีตายและกรณีชราภาพให้ชัดเจน ว่า จะให้ผู้ใดรับมอบสิทธิประโยชน์ และกำลังเสนอวุฒิสภาให้แก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ โดยให้ผู้ประกันตนเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จชราภาพ หรือเงินบำนาญชราภาพ โดยหากส่งเงินสมทบไม่เกิน 15 ปี หรือสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนก่อนอายุ 55 ปี จะได้เงินบำเหน็จ แต่ถ้าส่งเงินสมทบเกิน 15 ปี และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตอนอายุเกิน 55 ปี จะได้เงินบำนาญ ซึ่งบำนาญชราภาพเริ่มจ่ายครั้งแรกในปี พ.ศ.2557
“ขอแนะนำให้คู่สมรสจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนรับรองบุตรหรือเขียนหนังสือมอบสิทธิการรับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้แก่คู่สมรส บุตรหรือญาติไว้ให้ชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นพินัยกรรม เพียงเขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์เป็นหนังสือและมีพยานรับรอง ก็นำมาใช้เป็นหลักฐานยืนยันให้ผู้ได้รับมอบสิทธิมาขอรับสิทธิประโยชน์ได้”นายโกวิท กล่าว