xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะ สปส.ขอรัฐร่วมจ่ายค่ายารักษาผู้ประกันตน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการแนะ สปส.ควรให้รัฐร่วมจ่ายค่ารักษา นำเงินสมทบค่ารักษากว่า 2 หมื่นล้าน/ปี โป๊ะบำนาญแทน ช่วยไม่ให้ สปส.เจ๊งเร็วขึ้น ชี้ต้องแก้อย่างเร่งด่วน เพื่อสิทธิรักษาฟรีเท่าเทียมกัน

วันนี้ (31 พ.ค.) นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญ สปสช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เงินกองทุนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะหมดลงในปี 2586 จากการที่ต้องนำเงินกองทุนไปจ่ายในส่วนของบำนาญชราภาพ โดยจะเริ่มจ่ายครั้งแรกในปี 2557 และจะเริ่มขาดทุนครั้งแรกในปี 2574 หาก สปส.ยังเก็บเงินสมทบเท่าเดิม ว่า เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าเงินกองทุนของ สปส.นั้น จะไม่เพียงพอ ซึ่งทาง ไอแอลโอ หรือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ก็ได้คาดการณ์ไว้นานแล้ว จึงเป็นห่วงว่าในอนาคตอาจจะต้องมีการเพิ่มเงินสมทบ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.พงศธร กล่าวว่า โดยส่วนตัวผมเสนอให้รัฐร่วมจ่ายเงินในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้สถานะทางการเงินของ สปส.ดีขึ้น และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยในแต่ละปี สปส.ต้องนำเงินสมทบของผู้ประกันตนมาจ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 20,000 ล้านบาท จึงอยากให้นำเงินส่วนนี้มาใช้ในส่วนของบำนาญชราภาพมากกว่า เพื่อจะได้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยคนอื่นที่รักษาฟรี และไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกันตนเพียงกลุ่มเดียว

“ขณะนี้ทาง สปส.ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ทันกับบัตรทอง ยิ่งจะทำให้เงินในกองทุนยิ่งลดน้อยลง อย่างเช่น โรคไตที่อยู่ระหว่างพิจารณานั้น เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้งในอนาคตค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้นตามเทคโนโลยี คิดว่า ส่วนนี้น่าจะให้บัตรทองดูแล” นพ.พงศธร กล่าว

ส่วนกรณีที่ว่า สปส.เป็นกองทุนที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของนั้น นพ.พงศธร กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าจะเฉลี่ยต้องเฉลี่ยกับคนทั้งประเทศ ทั้งคนแก่และเด็ก หรือไม่ก็ให้สิทธิกับประชาชนในการเลือกระบบรักษาพยาบาลคิดว่าน่าจะเหมาะสมที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น