xs
xsm
sm
md
lg

สปส.โยนหินเก็บเงินสมทบเพิ่มอ้างผู้สูงอายุพุ่ง หวั่นกองทุนฯเจ๊ง ปี 2586

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปส.ชี้ ยอดผู้สูงอายุพุ่งกระทบเงินประกันสังคม ต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ หากให้จ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 เช่นเดิม เงินกองทุนกว่า 8.4 แสนล้านเกลี้ยงในปี  2586  เล็งเสนอ 3 มาตรการต่อรัฐบาล-นายจ้าง-ลูกจ้าง 
           

นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์   ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม  กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่า ในปี พ.ศ.2573 ผู้สูงอายุไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 17  ล้านคน จากปัจจุบันกว่า  7 ล้านคนและค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นถึง 4  เท่า ในปี 2565 ว่า  พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร้อยละ 5 ของค่าจ้างต่อเดือน  และนายจ้างร่วมจ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 เท่าจำนวนที่หักจากลูกจ้างและรัฐบาลร่วมจ่ายในอัตราร้อยละ 2.75  ซึ่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไปจนถึงอายุครบ 55 ปี ซึ่งค่ารักษาพยาบาลนั้นยังไม่มีปัญหางบประมาณ เพราะใช้รูปแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข จึงยังไม่มีแนวคิดจะปรับการจ่ายเงินสมทบเพื่อสนับสนุนในส่วนนี้
           

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า กรณีเงินออมซึ่งกำหนดให้ผู้ประกันตนจะถูกหักเงินออมเข้ากองทุนชราภาพ ร้อยละ 3 จากร้อยละ 5 ต่อเดือน เพื่อนำมาเป็นเงินบำนาญชราภาพและเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะจ่ายแก่ผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี  โดยใช้อัตราเงินเดือน 3 เดือนสุดท้าย ของการทำงานเป็นฐานในการคำนวณ ทั้งนี้ มีผู้ประกันตนร้องเรียนว่าได้เงินบำนาญชราภาพและเงินบำเหน็จชราภาพน้อยมาก  จึงมีแนวคิดที่จะขยายอายุผู้ประกันตนในการจ่ายเงินสมทบเป็นอายุ  58  ปี 60 ปี หรือ 65 ปีขึ้นไป รวมทั้งปรับการคำนวณเงินบำนาญชราภาพและเงินบำเหน็จชราภาพ โดยยึดอัตราเงินเดือนทุกเดือนกระทั่งเกษียณ  แต่ยังอยู่ระหว่างหารือกันของคณะกรรมการ สปส.และต้องพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยขึ้น
           

นายพีรพัฒน์     พรศิริเลิศกิจ    รองเลขาธิการ สปส.กล่าวว่า ข้อมูล สปส.ในเดือนมีนาคม 2554 มีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 9,681,525 คน จากสถานประกอบการ  396,803 แห่ง จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมซึ่งมียอดเงินสะสมทั้งสิ้น 845,133 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสิทธิประโยชน์  3 ส่วนได้แก่ 1.กรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ และคลอดบุตร 115,608 ล้านบาท  2.กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 671,287 ล้านบาท และ3. กรณีว่างงาน 58,238 ล้านบาท
           

นายพีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า กรณีเจ็บป่วยนั้นไม่มีปัญหาเรื่องค่ารักษาเพราะคณะอนุกรรมการการแพทย์ของบอร์ด สปส.ประเมินค่ารักษาและปรับให้เหมาะสมเป็นระยะ แต่ส่วนที่มีปัญหาคือ กรณีชราภาพซึ่งในปี พ.ศ.2557 เป็นปีแรกที่จ่ายเงินบำนาญชราภาพและอีก 17 ปี ในปี พ.ศ.2574 หากยังให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 ของค่าจ้างต่อเดือนเช่นเดิม  จะทำให้กองทุนประกันสังคมขาดทุนเป็นปีแรกและเงินกองทุนจะหมดลงในปี 2586  
           

“สปส.ได้ตั้งคณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบจำลองการพัฒนาบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคม โดยมี ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผอ.วิจัยด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เป็นประธาน โดยผลการศึกษามีข้อเสนอ 3 มาตรการ ทั้งมาตรการเดี่ยว มาตรการผสม 2 แนวทางและมาตรการผสม 3 แนวทาง ซึ่งมีวิธีการ เช่น เพิ่มการจ่ายเงินสมทบ  ขยายเวลาส่งเงินสมทบ ขยายอายุการเกิดสิทธิ เปลี่ยนค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้คำนวณบำนาญชราภาพ  เพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ฯลฯ  รวมถึงการนำวิธีเหล่านี้มาผสมกัน เพื่อช่วยยืดอายุกองทุนประกันสังคม เช่น เพิ่มการจ่ายเงินสมทบร้อยละ 2 ทุกๆ 5 ปี บวกกับการขยายเวลาส่งเงินสมทบเป็น 25 ปี จะช่วยยืดอายุกองทุนได้มากกว่า 65 ปี และจะขาดทุนหลังปี 2651  แต่ข้อเสนอเหล่านี้ จะต้องเสนอรัฐบาล และจะจัดเวทีระดมความเห็นทั้งนายจ้างและลูกจ้างแล้วเสนอบอร์ด สปส.” รองเลขาธิการ สปส.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น