นักวิชาการแนะแยกเงินสมทบชราภาพรายหัว-ไม่ต้องเก็บมากองรวม แก้ปัญหากองทุนชราภาพเจ๊ง จ่ายคืนจริงตามที่สมทบไว้ กระเป๋าใครกระเป๋ามัน ด้านเลขาฯ สปส.คาด ทำได้ไม่ยาก รับรวมเงินก้อนไปลงทุน โดยไม่ได้ระบุว่าเงินของใคร พร้อมเร่งศึกษาก่อนเสนอบอร์ด ก.ย.นี้
วันนี้ (24 พ.ค.) นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังศึกษารูปแบบที่เหมาะสม สำหรับการประกันชราภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากพบว่าระบบปัจจุบันจะทำให้เงินกองทุนไหลออกจนติดลบในปี 2586 ว่า ตนเองได้มีโอกาสเข้าไปเป็นทีมที่ปรึกษาให้คณะทำงาน ซึ่งสรุปผลทางออกมาหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่า ที่เหมาะสมที่สุด คือ การเปลี่ยนวิธีการ จ่ายเงินออมคืนให้ผู้ประกันตนในลักษณะกระเป๋าใครก็ใช้กระเป๋านั้น
นางวรวรรณ กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการแยกบัญชีของผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบชราภาพออกจากกัน และจ่ายคืนให้ตามสัดส่วนที่สะสมไว้ ซึ่งคล้ายกับของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่เก็บเอาเงินสมทบกรณีชราภาพมากองรวมไว้ที่ส่วนกลาง และจ่ายคืนเป็นบำเหน็จหรือบำนาญตามสูตรที่ สปส.กำหนดไว้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหา เพราะจ่ายออกมากกว่าอัตราสมทบ ที่สำคัญคือ ผู้ประกันตนเองก็ไม่รู้ว่าเงินของตัวเองที่จ่ายสมทบไว้นั้นมี เท่าไหร่ และไม่ทราบว่าเมื่อเอาไปรวมไว้ตรงกลางแล้วถูกใช้ไปอย่างไรบ้างเพราะไม่มี เจ้าของที่ชัดเจน แต่หากแยกบัญชีออกมาทำให้แต่ละคนทราบว่ามีเงินที่ออมไว้เท่าไร และมีการเฝ้าระวัง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เกิดความยั่งยืน
นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนเป็นวิธีการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว หากผู้ประกันตนรายใดอยากได้เงินชราภาพมากก็ออมมากตามความสมัครใจ และเชื่อว่าวิธีการนี้ไม่น่าจะมีความยุ่งยากในเรื่องบริหารจัดการ เพราะ สปส.มี บัญชีข้อมูลของผู้ประกันตนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญ คือ สปส.ต้องให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับผู้ประกันอย่าง ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้ผู้ประกันตนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าต้องการรูปแบบใด
“ตอนนี้พอเอาเงินสมทบชราภาพมารวมกัน ทำให้เห็นว่ากองทุนนี้มีเงินอยู่มหาศาลมาก คนนู้นก็จะเอาไปทำอย่างนั้น คนนี้ก็จะเอาไปทำอย่างนี้ เพราะเห็นว่าเจ้าของไม่มีตัวตน แต่หากแยกบัญชีให้ชัดก็ทำให้เกิดการเฝ้าระวัง” นางวรวรรณ กล่าว
ด้าน นายปั้น วรรณวินิจ เลขาธิการสปส.กล่าวว่า ผลการศึกษาได้ระบุการแก้ไขปัญหาไว้หลายรูปแบบ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติสุดท้าย ซึ่งในเบื้องต้นมี 4 วิธี คือ 1.การขยายอายุเกษียณอายุ 2.การขยายการเก็บเงินสมทบ 3.การปรับปรุงระบบการลงทุน 4.การเปลี่ยนแปลงฐานเงินเดือนซึ่งปัจจุบันคิดที่ 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียรและกำหนดเพดานไว้ที่คนละ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ไปศึกษาเพิ่มเติม เมื่อแล้วเสร็จจะนำเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด)พิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะเสนอได้ภายในเดือนกันยายน ทั้งนี้ ได้จ้างให้มีการวิจัยเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้ประกันตน ขณะเดียวกันได้ยกร่างตัวกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เช่น กรณีบัญชีเงินสมทบท้ายพรบ.ซึ่งเก็บกรณีชราภาพเต็มเพดานร้อยละ 3 แต่จะแก้อย่างไรก็ต้องพิจารณากันอีกครั้ง
“ข้อเสนอของ นางวรวรรณ เรื่องแยกบัญชีชราภาพของผู้ประกันตน ว่า จริงๆ แล้ว แม้ทุกวันนี้จะเก็บเงินสมทบมารวมเป็นก้อนเดียวกัน แต่ก็แยกเป็นรายบุคคลไว้ เพียงแต่ตอนนำเงินไปลงทุนไม่ได้ระบุว่าเอาเงินจากใครคนใดคนหนึ่งไปลงทุน แต่เอาไปเป็นก้อนใหญ่ และการคำนวณชราภาพก็แยกเป็นรายคน อย่างไรก็ตามหากแยกจ่ายเงินออมตามการจ่ายสมทบของแต่ละคนนั้น ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวความคิดที่สามารถทำได้ไม่ยาก และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยังไม่ตกผลึก” นายปั้น กล่าว