xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขลอนดอน แนะไทยต้องทำ 3 ระบบเท่าเทียมกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ชี้ ภารกิจระบบสุขภาพไทย ต้องมีการออกแบบระบบที่ปราศจากการแทรกแซงและผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุนและการเมือง ย้ำถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องทำให้ระบบรักษาพยาบาล 3 กองทุนเท่าเทียม

ศ.แอน มิลล์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนไทยเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษนั้น ยังมีภารกิจการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยที่ยังไม่สำเร็จ และสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการต่อไปในอนาคต คือ 1.การสร้างระบบให้มีธรรมาภิบาลที่ปราศจากการแทรกแซงและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการเมืองที่พยายามเข้ามาแทรกแซงจนทำให้ระบบบิดเบี้ยวไป ควรเพิ่มบทบาทตัวแทนของภาคประชาสังคมและภาคชุมชน และควรแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้มาจากราชการเพิ่มขึ้นเพื่อให้การตัดสินใจต่างๆ อิงกับหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น นอกจากนั้นยังต้องจัดการความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องทำให้มีความเป็นอิสระต่อกัน แต่ก็ต้องเอื้อประโยชน์ต่อกันเพื่อการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนด้วย

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขฯ กล่าวว่า สำหรับการลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพไทย ทั้งประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เนื่องจากปัจจุบันทั้ง 3 กองทุนมีความแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะไม่เป็นผลดีกับประเทศ ซึ่งการลดความแตกต่างกันของทั้ง 3 กองทุนมีหลายวิธีการ อาจจะไม่ใช่การรวมกองทุน แต่อาจจะต้องทำให้ทั้ง 3 กองทุนมีวิธีการจัดการที่เหมือนกัน มีสิทธิประโยชน์เหมือนกัน เพื่อไม่ให้ผู้ให้บริการมีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันแต่ละระบบมีการจัดการที่แตกต่างกัน ในส่วนของบัตรทองนั้น 10 ปีที่ผ่านมา มีการปฏิรูปหลายอย่างที่ก้าวหน้าไปมาก แต่ประกันสังคมและข้าราชการมีน้อยมาก หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ความแตกต่างระหว่าง 3 กองทุนจะมีมากขึ้น และเมื่อผนวกเข้ากับการที่ในอนาคตผู้ประกันตนที่เกษียณอายุจากประกันสังคมจะย้ายเข้ามาอยู่บัตรทอง ก็ยิ่งจะทำให้โครงสร้างประชากรของบัตรทองต้องรองรับผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องมีการเพิ่มงบประมาณเพิ่มขึ้น ดังนั้น ณ เวลานี้ ประเทศไทยต้องคิดหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้แต่ละระบบมีความเท่าเทียมไม่แตกต่างกัน เพื่อให้แต่ละระบบสามารถเดินหน้า เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ให้แต่ละระบบแข่งขันจนมาทำลายกันเอง
 
ศ.แอน มิลล์ กล่าวว่า นอกจากนั้นแล้ว ประการที่ 3 การสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยบริการภาคเอกชน ซึ่ง สปสช.ควรมีการออกแบบให้หน่วยบริการภาคเอกชน เช่น คลินิกเอกชน รพ.เอกชน เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีพบเห็นเฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น ขณะที่ในเขตชนบทมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนน้อยมาก ดังนั้น นี่จะเป็นความท้าทายใหม่ของ สปสช.ที่จะทำอย่างไรให้การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนมีความสมดุลระหว่างเขตเมืองและชนบท ตัวอย่างการจัดการหลักประกันสุขภาพของประเทศอังกฤษมีหน่วยบริการภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการจำนวนมาก และไม่มีความแตกต่างระหว่างหน่วยบริการสังกัดของรัฐและเอกชนมากนัก เนื่องจากหน่วยบริการทั้งสองประเภทต่างได้รับงบประมาณจากรัฐเหมือนกัน ทำให้สามารถแก้ปัญหาบริการที่แตกต่างของหน่วยบริการทั้งสองประเภทได้

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องให้ความสมดุลระหว่างการกระจายอำนาจและการรวมศูนย์อำนาจในกรณีกระจายอำนาจ แม้ภารกิจบางประการของ สปสช.จำเป็นต้องมีการรวมศูนย์ เช่น การกำหนดมาตรฐานและอัตราการจ่าย การตรวจสอบเวชปฏิบัติ เป็นต้น แต่ในระดับพื้นที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น และต่อรองระหว่างผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เช่น ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ และผู้มีสิทธิ์ เพื่อจัดการกับปัญหาอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ และสร้างความร่วมมือในการนำนโยบายไปสู่เป้าหมายได้

อย่างไรก็ตาม ประการที่ 5 การมุ่งความสำคัญไปที่การส่งเสริมสุขภาพระดับเบื้องต้น โดยเฉพาะแนวโน้มของประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น การให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงต้องทำให้สมดุลคู่ไปกับการให้การรักษาด้วย รวมทั้ง .การควบคุมคุณภาพโดยการติดตามจากข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว และการประเมินเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพื่อให้มีการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีข้อมูลพื้นฐานที่ดีอยู่ที่น่าจะนำมาใช้ในการติดตามคุณภาพได้ และให้ความสำคัญกับการประเมินเทคโนโลยีการแพทย์ เพื่อการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ ต้นทุน และความคุ้มค่า ผลกระทบต่อองค์กร สังคมและจริยธรรมจากการใช้เทคโนโลยีการแพทย์นั้นๆ

ศ.แอน กล่าวว่า ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคนครบ 10 ปี แต่ก่อนหน้านั้นประเทศไทยก็ได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการสาธารณสุขไว้อย่างเหมาะสม ทำให้เมื่อเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคในปี 2544 ก็สามารถจัดการได้ดี แม้จะเป็นประเทศที่ไม่ร่ำรวยก็ตาม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของประเทศไทยสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ ขณะเดียวกัน การดำเนินการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้น สะท้อนถึงทัศนะที่มองว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศชาติ แต่เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่าในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น