xs
xsm
sm
md
lg

“30 บาทรักษาทุกโรค” ยุคเพื่อไทย ถอยหลังสู่ระบบสงเคราะห์อนาถา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นโยบายประชานิยมหนึ่งเดียวของรัฐบาลยุคทักษิณ ที่โดนใจประชาชนอย่างจัง โจมตียากที่สุด มีจุดอ่อนน้อยที่สุด และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ไม่สามารถล้มนโยบายนี้ลงได้ นั่นคือ “30 บาทรักษาทุกโรค” แม้ว่ารัฐบาลขิงแก่จะประกาศยกเลิกเก็บเงิน 30 บาท เพื่อลบคำว่า 30 บาท ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ยกเลิกการใช้บัตรทอง แต่คำว่า ‘30 บาท และบัตรทอง’ ก็ยังติดปากชาวบ้านจนถึงทุกวันนี้

แต่ในยุคของรัฐบาลปู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ภายใต้พรรคเพื่อไทย กลับเข้ามาเป็นรัฐบาล และส่ง 2 รมต.จากเพื่อไทยเองมาคุมสาธารณสุขและแรงงาน ทว่า ตกอยู่ภายใต้การบงการของ “เจ๊ใหญ่” ผู้มีบารมีคับ สธ.คอยกุมการเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลัง กำลังจะทำให้ “30 บาทรักษาทุกโรค” ถอยหลังลงคูลงคลองอย่างที่เรียกว่า “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า”

เรื่องปรากฏเด่นชัด เมื่อถึงวาระการเลือกบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ตำแหน่งของบอร์ด สปสช.ที่ถูกพลิกขั้วกลับมาอยู่ในมือของกลุ่มที่ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กในคาถาของเจ๊ใหญ่ทั้งสิ้นและเรื่องที่หัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออก คือ คนที่ส่งเข้ามาเป็นบอร์ดนั้น เป็นหมอปลอกแขนดำที่เคยรณรงค์คัดค้าน 30 บาทสมัยที่รัฐบาลไทยรักไทยกำลังเริ่มต้นนโยบายนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายการเมืองยังพยายามเข้ามาครอบงำ 30 บาท ที่มีงบประมาณมหาศาล โดยส่งคนในสังกัดมาเป็นเลขาธิการสปสช.ที่จะหมดวาระในอีก 2 เดือนนี้ แต่ทั้งหมดเพียงเพื่อต้องการกรุยฐานเสียงของตัวเองเพื่อลงเลือกตั้งในสนามผู้ว่าฯ กทม.เพื่อสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้ว่าฯกทม.หญิงคนแรกของประเทศไทยหลังจากอกหักกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ 30 บาท จะไม่มีทางถูกยกเลิกแต่จากนี้ไปเจตนาของ 30 บาท จะเปลี่ยนไป กลายเป็นการสงเคราะห์ ถูกทำให้เป็นเรื่องของคนยากไร้ เป็นระบบอนาถาในที่สุด ต่างจากเดิมที่ 30 บาทเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐต้องจัดบริการให้

ทั้งนี้ มีสำนักงานประกันสังคม เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ โดยช่วงต้นปีมีการปรับวิธีการจ่ายเงินผู้ป่วยในสำหรับโรคร้ายแรงโดยจ่ายตามค่าสัมพันธ์ความรุนแรงของโรค (RW) ละ 15,000 บาท มากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสวัสดิการข้าราชการซึ่งคล้ายกับเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับคนที่มองภาพรรวม 3 ระบบกองทุนสุขภาพไทย ย่อมรู้ว่า การที่ประกันสังคมจ่ายมากกว่า 30 บาทและข้าราชการ เป็นการกดดันให้ 30 บาท กลายเป็นระบบอนาถาทันที เพราะโรงพยาบาล ที่เลือกได้ย่อมไม่อยากรักษาคนที่จ่ายน้อยกว่า ขณะที่เงินที่ประกันสังคมจ่ายเป็นเงินผู้ประกันตน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องจ่ายมากกว่าข้าราชการ ขณะเดียวกัน งบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช.ก็ถูกหั่นลดลงด้วย

ฝั่ง สปสช.เอง ก็เพลี่ยงพล้ำกับข้อหาการทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ซึ่งเกิดจากความชะล่าใจของฝ่ายหมอตระกูล ส.ที่หลงคิดว่าตัวเอง “เอาอยู่” ทำให้ไม่ใส่ใจที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมตระหนักและรับรู้ อีกทั้งไม่ไว้ใจใคร เอาแต่พวกพ้องตนเองและมองไม่เห็นแนวร่วมอื่นๆ 10 ปีของ สปสช.และตระกูล ส.อื่นจึงมีวังวนอยู่กับพวกพ้องตนเอง ซึ่งเปราะบางและง่ายต่อการถูกทำลาย

บวกกับผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ระบุถึงการใช้เงินไม่ตรงตามระเบียบ ซึ่งทันทีที่เป็นข่าว จากความไม่ถูกระเบียบก็ถูกตีความว่าเป็นเรื่องของการทุจริตการใช้เงิน ซึ่งเป็นข้อหาเดิมที่ถูกจับจ้องโจมตีมาตลอด และไม่เคยแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ การรับรู้ของสังคมจึงยิ่งแย่และง่ายต่อการที่ฝ่ายการเมืองจะส่งคนของตนมายึดได้ทั้งบอร์ดและเลขาธิการ

ข้อดีประการเดียวที่การเมืองส่งสัญญาณที่จะเข้ามาคุมตระกูล ส.คือ การยกเครื่องการทำงานของสปสช. และส.อื่นๆ แต่เพื่อไทยต้องหาทีมงานที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่กลุ่มหมอที่พื้นฐานมีแนวคิดค้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นนี้

30 บาทในยุคเพื่อไทย ณ เวลานี้ จึงอยู่ในสถานการณ์ เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า 10 ปีที่แล้วสร้างระบบนี้จนครองใจคนทั้งประเทศ ก่อนที่จะทำลายลงด้วยน้ำมือของตัวเองในปีที่ 10

หลังจากนี้ คงต้องจับตาดูว่า การเวิร์กชอปที่ “ยิ่งลักษณ์” ย้ำหนักหนาว่า จะเชิญ 3 ระบบกองทุนสุขภาพของไทย ทั้ง 30 บาท ประกันสังคม ข้าราชการ มาหารือเรื่องทำระบบการรักษาเป็นมาตรฐานเดียว ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ คำซ้ำๆที่ยิ่งลักษณ์พูดในวันนั้น คือ เสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมนั้น จะเป็นจริงได้แค่ไหน?
กำลังโหลดความคิดเห็น