xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” เยือน สธ.เจอม็อบดักพบเพียบ !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 
“นายกฯ” เยือน สธ.เจอม็อบดักพบเพียบ! ทั้งเครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายวิชาชีพ สธ.พร้อมใจยื่นเรื่องร้องเรียนสารพัด เจ้าตัวยันอยากให้ สธ.สานต่อนโยบาย 30 บาท  ยังพ่วงปัญหาห้ามสื่อเข้าฟังนโยบายระหว่างประชุม
 

วันนี้ (9 ม.ค.)   น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เดินทางเป็นประธานเข้าร่วมประชุมมอบนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คณะผู้บริหาร สธ.  รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายวิชาชีพรอเข้าคิวยื่นหนังสือร้องเรียนหลายกรณี   อาทิ    กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มีการยื่นหนังสือข้อเสนอภาคประชาชนต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนโยบายการเก็บ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพ   และขอให้รัฐบาลเดินหน้าระบบประกันสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียว

ด้าน ภญ.อมราพักตร์  สารกุล เภสัชกรประจำ รพ.จอมพระ  จ.สุรินทร์  ตัวแทนจากเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า ตัวแทนลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 40 คนทั่วประเทศ  ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องการไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ (เภสัช)    เนื่องจากมีลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นเภสัชกรรายปีที่จบในปีการศึกษา 2543-2548  จำนวนราว 1,000 คน ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ขณะที่ผู้จบการศึกษาในปี 2549 ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว                 
ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล  รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) และหัวหน้าคณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายทบทวนยกเลิก พ.ร.บ.ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานบกพร่องของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.).

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในเป็นประธานเปิดการประชุม ว่า  การพัฒนาคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพ นับเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วน โดยเฉพาะในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขอให้สานต่อ แต่อยากให้สานต่อแบบดีกว่าเดิม คือ ต้องทำให้คนไทยแข็งแรง และเจ็บป่วยน้อยลง  และต้องพัฒนาระบบให้ดีขึ้น ซึ่งต้องพัฒนาทั้งการดูแลรักษารักษาพยาบาล และการบริการขั้นตอนต่างๆ ทั้งลดเวลาการรับบริการ ขณะเดียวกัน ประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล การบริการต้องดีขึ้น  นอกจากนี้ ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาลของประชาชนต้องมีความเสมอภาค ต้องไม่แบ่งชั้นวรรณะ เพศ ทุกคนต้องได้รับความเท่าเทียม ทั้ง 3 ระบบ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
        
“ส่วนระบบไหนจะไปเพิ่มสิทธิพิเศษตามแต่ละระบบก็ไปจัดการกันเอง  แต่สิทธิพื้นฐานต้องเหมือนกัน โดยจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 กองทุน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของแต่ละกองทุนแตกต่างกันอย่างไร ระบบไหนเป็นเช่นใด และจะพัฒนาอย่างใดให้เท่าเทียม  ซึ่งจะมีการประชุมในเร็วๆ นี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
          
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการที่อัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อหัวในการรักษาอาจจะต้องสูงขึ้น ดังนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพจำเป็นต้องวางแผนในการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ส่งเสริมยาไทยแทนการนำเข้ายานอก ส่วนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ สสส.ดังนั้น บอร์ด สปสช.ต้องหารือร่วมกับ สสส.เพื่อเดินหน้าระบบส่งเสริมสุขภาพ ลดการเจ็บป่วยของประชากรโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี  อีกทั้ง ฝากให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และต้องเร่งดำเนินการนโยบายการบำบัดยาเสพติดเพื่อบำบัด และเยียวยาอดีตผู้ติดยาให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ด้วย
 

“นอกจากนี้ ต้องพิจารณาเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายระยะยาวก็มีความจำเป็น เพราะทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในการักษาต่อหัวมีการเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งอาจจะต้องหารือกันว่าจะมีการเพิ่มรายหัวเพื่ออำนวยความสะดวกในการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยอาจแยกเป็นกลุ่มโรคที่แตกต่างกันไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายวิทยา กล่าวภายหลังมอบนโยบายและหารือร่วมกับนายกฯ และผู้บริหาร สธ.ว่า นายกฯมีความห่วงใยเรื่องการบริหารจัดการเรื่องหลักประกันสุขภาพที่คุณภาพต้องดีขึ้นในอนาคต  ภายใต้วงเงินที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณและความเสมอภาคในการรับบริการ ซึ่งเป็นการบ้านที่คณะกรรมการบริหาร บอร์ด สปสช.ต้องดำเนินการให้เกิดมาตรฐานในการดูแลพี่น้องประชาชน  โดยในส่วนของงบประมาณเบื้องต้นนายกฯอยากทราบว่างบเหมาจ่ายรายหัวปี 2555 จำนวน 2,700 บาทต่อคนต่อปี จะครอบคลุมระยะยาวอย่างไร สำหรับประเด็นการฟื้นเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทนั้น มีการแสดงออกของบอร์ดบางคนที่บอกว่าจะไม่คุ้ม แต่นายกฯไม่อยากให้มองเรื่องความไม่คุ้ม อาจต้องพัฒนามากกว่า เรื่องเก็บหรือไม่ นายกฯไม่ซีเรียส แต่อยากให้บอร์ดดูให้รอบคอบ  
        
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการมอบนโยบายครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวรับฟัง แต่จากการสอบถาม ปรากฏว่า ในการประชุมมีการถกเถียงเรื่องการเรียกเก็บ 30 บาทมาก โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายแพทยสภา รพ.เอกชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สปสช.เห็นด้วยกับการเรียกเก็บ เพราะจะช่วยลดการรักษาโดยไม่จำเป็น ลดปัญหาความแออัดลงได้ และ 2.ฝ่ายภาคประชาชน นำโดย นายนิมิต เทียนอุดม กรรมการ สปสช.ฝ่ายประชาชน ไม่เห็นด้วย เพราะหากเก็บจะเบียดเบียนประชาชน และหากจะรีแบรนด์ เรื่องนี้ก็ควรให้ทุกระบบเป็นมาตรฐานเดียวจริงๆ  ซึ่งสุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกให้บอร์ด สปสช.ไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยแม้การเรียกเก็บ 30 บาทจะช่วยลดการรักษาโดยไม่จำเป็นได้ แต่จะไม่เก็บตอนนี้แน่ๆ เพราะจะต้องพัฒนาให้ดีกว่าเดิมก่อน
       
นายบารมี ชัยรัตน์ โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ทำข้อเสนอมอบแก่นายกฯ พิจารณา   ซึ่งนายกฯ รับทราบ และรับปากว่า จะพิจารณาด้วยความเป็นธรรม อาทิ   ขอให้ยกเลิกการเก็บเงินสมทบ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะถือเป็นการถอยหลัง และก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ที่สำคัญ เงินที่ได้รับมาก็ไม่ได้มากมาย     ขอให้ดำเนินการให้ระบบสุขภาพของประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพฯ ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ    และขอให้รัฐบาลผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วย ลดการฟ้องร้อง  และดีกว่าการขยายมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ  เนื่องจากมาตรานี้ให้ความช่วยเหลือเพียงผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพฯเท่านั้น
 
วันเดียวกัน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ตนได้เดินเข้ายื่นหนังสือถึง นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ให้ปลดคณะกรรมการ สปสช.จำนวน 5 คน ได้แก่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน  ตัวแทนด้านผู้สูงอายุ  น.ส.บุญยืน ศิริธรรมตัวแทนด้านเกษตรกร  นางสุนทรี เซ.กี่ ตัวแทนด้านผู้ใช้แรงงาน  นายนิมิตร เทียนอุดม ตัวแทนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี  และ นายชูศักดิ์ จันทยานนท์  ตัวแทนด้านคนพิการ ฐานบกพร่องในหน้าที่โดยไม่เข้าร่วมการประชุมถึง 3 ครั้ง
 
กำลังโหลดความคิดเห็น