xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนสุขภาพ ต.เหมืองใหม่ อีกก้าวความสำเร็จ อวดสายตาต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนสุขภาพ ต.เหมืองใหม่
อีกก้าวความสำเร็จ อวดสายตาต่างชาติ

โดย...จารยา บุญมาก

แม้ว่า “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ ที่เรียกติดปากว่า “บัตรทอง” จะถูกตำหนิ ติ ติง เนื่องจากการบริหารงานที่มีจุดบกพร่อง จากทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนในประเทศอยู่นั้น นานาประเทศกลับให้การชื่นชมยกย่อง และถือเป็นแบบอย่างที่ควรนำไปใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพ เพื่อรองรับวิกฤติทางการเงินในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งล้วนเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง

ในการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2012 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ” ซึ่งมีตัวแทนแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข และนักวิชาการจาก 40 กว่าประเทศเข้าร่วม ถือเป็นอีกความร่วมมือพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเข้มแข็ง ระดับโลก ซึ่งไทยมีการนำเสนอทั้งแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสุขภาพเชิงวิชาการและการเรียนรู้เชิงพื้นที่

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนจากประเทศต่างๆ อาทิ อูกันดา เบลเยียม ออสเตรเลีย ไนจีเรีย กัมพูชา อินเดีย อังกฤษ เคนยา ญี่ปุ่น ติมอร์ ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฯลฯ ได้ลงเยี่ยมชม กองทุนสุขภาพตำบลเหมืองใหม่ ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

นพ.วิบูลย์ สุพุทธิธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 อธิบายถึงสาเหตุที่ ต.เหมืองใหม่ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวอย่างกองทุนสุขภาพ เพราะ สปสช.ประเมินแล้วว่า เป็นกองทุนที่มีศักยภาพ มีความเข้มแข็งในการสร้างเสริมสุขภาพเกือบ 100% โดย เน้นการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน เริ่มตั้งแต่ รพ.สต.ภาคประชาสังคม การศึกษา โดยส่งเสริมให้มีการดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์งดอาหารขยะ รณรงค์งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอ และกระจายบุคลากรทางสาธารณสุขเพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยก็จะส่งต่อเพื่อรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) ขณะที่ รพ.สต.จะเป็นสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิที่รักษาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไปจนถึงการให้คำปรึกษาสุขภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสฟื้นฟูสุขภาพ ลดภาระค่ายาและสร้างภูมิคุ้มกันแก่คนปกติ

“อัมพวา มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ประมาณ 5-7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และหลังจากดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 ก็พบว่า ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น อาทิ คนที่เคยป่วยความดัน เบาหวานมีน้ำหนักตัวมาก เมื่อได้รับคำแนะนำที่ดีและใช้ยาอย่างเหมาะสมก็สามารถลดน้ำหนักมากถึง 10 กิโลกรัม ภายในเวลา 6 เดือน ซึ่งหากไม่มีการจัดการสุขภาพดังกล่าว หากป่วยโรคเรื้อรัง ทั้ง ไต เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดและหัวใจ อาจเสี่ยงต่อการแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ตำกว่า 2 แสนบาทต่อปี” นพ.วิบูลย์ กล่าว

จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้กลุ่มประเทศต่างๆแวะมาศึกษางานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ซึ่งหลายประเทศต่างยกย่องในความสำเร็จที่มี โดย ดร.โรเบิร์ท บาซาซา นักวางแผนสุขภาพประเทศอูกันดา กล่าวว่า ไทยยังไม่ทิ้งวัฒนธรรมความสามัคคีที่เน้นการทำงานเป็นทีม และให้ความสำคัญกับท้องถิ่นในการรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งดูแล้วสร้างความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างบุคลากรสาธารณสุข และประชาชนอย่างมาก คิดว่า น่าจะนำตัวอย่างการสร้างเครือข่ายความร่วมมือนี้กลับไปพัฒนาประเทศด้วย

ขณะที่ น.ส.แอน แอพเพลเมนส์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายการแพทย์และสาธารณสุข ประเทศเบลเยียม ในฐานะตัวอย่างการพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นตัวอย่างให้ประเทศไทย เสริมว่า ไทยมีพัฒนาการด้านดังกล่าวที่ดีเยี่ยม ถือว่าเป็นการก้าวเข้ามาอย่างถูกทาง และประสบความสำเร็จอย่างมากในการเน้นบริการระดับปฐมภูมิ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนกินอยู่อย่างถูกสุขลักษณะ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการปูทางสู่สุขภาพที่มั่นคง และลดโรค ซึ่งเบลเยียมเองไม่ได้เน้นส่วนนี้ แต่จะเน้นที่การรักษาเท่านั้น เนื่องจากประชาชนต้องเสียภาษีด้านสาธารณสุขมากถึง 13% แต่ประเทศไทยกลับมองเห็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพและหันมาให้ความสำคัญกับบริการเชิงผสมผสานระหว่างภาครัฐและชุมชน ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจแผนสุขภาพที่ชัดเจน เชื่อว่า หากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้องภาระค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และบริการสาธารณสุขได้ดี

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.เสริมว่า การที่ สปสช.สนับสนุนงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจำนวน 40 บาทต่อประชากร ในพื้นที่ร่วมกับการสมทบงบจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 20-50% เพื่อพัฒนากองทุนสุขภาพตำบล นั้น เป็นการเริ่มต้นสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยบริการสุขภาพ กับท้องถิ่น นำมาสู่ความสะดวกในการติดตามสถานการณ์ป่วยและวางแผนการรักษาที่ง่าย อย่างไรก็ตาม แม้ระบบหลักประกันจะเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่ไทยยังไม่ควรหยุดนิ่งต่อการพัฒนา ซึ่งจำเป็นต้องร่วมมือกับต่างประเทศในหลายด้าน โดยในการประชุมที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การณ์ที่สำคัญหลายด้าน และหนึ่งในประเด็นที่ไทยต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไป ก็คือ การผลักดันให้เกิดมาตรฐานบริการสาธารณสุขและสุขภาพที่มีความเท่าเทียม เพื่อให้มีเอกภาพโดยที่แพทย์และโรงพยาบาลไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งหลายประเทศมีการเปิดเป็นกองทุนเดียวกันแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหมอใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งหากทำสำเร็จประชาชนก็จะมีที่ปรึกษาด้านสุขภาพที่สามารถให้บริการได้สะดวกด้วย เชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือคงจะสำเร็จได้ไม่นาน

นส.แอน
โรเบิร์ท
นพ.วิบูลย์
กำลังโหลดความคิดเห็น