xs
xsm
sm
md
lg

“อ้วนลงพุง” ศัตรูความงาม...ถามหาโรคเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคอ้วน...ไม่ได้เป็นปัญหาเพียงเฉพาะเรื่องของความสวยความงามเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ร้ายแรง และสำคัญอย่างหนึ่งด้วย เพราะนอกจากจะทำให้มีรูปร่างไม่สมส่วนแล้ว ยังเป็นการเปิดประตูต้อนรับบรรดาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายให้เข้ามาเยี่ยมเยือนถึงร่างกายเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวาน ที่มีข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า!!!

แล้วแบบไหนถึงจะเรียกว่า “อ้วน” และถือว่ามีอันตรายจากภาวะน้ำหนักเกิน คำตอบนี้ ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายง่ายๆ ว่า ก็คือ คนที่มีไขมันสะสมบริเวณช่องท้องหรือที่เราเรียกกันว่า...ลงพุง ยิ่งพุงใหญ่ก็เท่ากับมีไขมันสะสมมาก และไขมันนี้เองที่จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ไม่ดี เกิดเป็น “โรคอ้วนลงพุง” และต้นเหตุการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

ที่สำคัญ โรคอ้วนลงพุงไม่ได้เกิดแค่เฉพาะผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ยังลามไปถึงเด็กเล็กๆด้วย เพราะคนส่วนใหญ่มักมองว่าเด็กอ้วนหรือตุ้ยนุ้ยนั้นน่ารักสุดๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ค่านิยมเหล่านี้กำลังจะย้อนกลับมาทำลายเด็กเสียเอง ซึ่ง ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เล่าว่า ปัจจุบันพบเด็กอ้วนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครองชอบให้เด็กกินเยอะๆ โดยไม่สนใจประโยชน์ทางด้านโภชนาการ ยิ่งเด็กกินได้เยอะ ยิ่งหมายถึงมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะนอกจากให้เด็กกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ขนมขบเคี้ยว แล้ว ยังทำกิจกรรมกลางแจ้งน้อยลง แต่ดูโทรทัศน์ เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ไม่ได้ใช้พลังงานที่กินเข้าไป จึงเกิดการสะสมไขมัน และปัญหาที่ตามมา คือ เด็กป่วยง่าย

“การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนต้องมองไปที่วัยเด็กมากขึ้น เพราะเซลล์ไขมันที่สะสมในร่างกายของเด็กอ้วนนั้น จะยุบเมื่อผอมลง แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะอ้วนง่ายกว่า นอกจากนั้น โรคต่างๆ ยังตามมาได้ง่าย สิ่งที่องค์กรฯ พยายามดูแลเป็นอันดับต้นๆ คือ เรื่องของสื่อ กล่าวคือ ควบคุมให้เด็กอยู่กับสื่อน้อยลง อย่างน้อยวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ปกครองไม่ควรมีทีวีหรือคอมพิวเตอร์อยู่ในห้องนอนเด็ก เพราะนอกจากจะใช้เกินเวลาแล้ว อาจจะนำไปสู่การเข้าไปเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมด้วย”

นอกจากเด็กแล้ว ยังมีอีกกลุ่มคนหนึ่งที่ได้รับปัญหาจากโรคอ้วนมากเช่นกัน ก็คือ หญิงตั้งครรภ์ โดย ศ.นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าคนอ้วนมีบุตรยาก มีภาวะการตกไข่ที่ผิดปกติ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอัตราการแท้งสูงกว่า รวมไปถึงคลอดก่อนกำหนด มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ และความดันโลหิต ที่สำคัญถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะน้ำหนักเกิน เด็กในครรภ์ก็จะอ้วนด้วยเช่นกัน ทำให้ตอนคลอดอาจส่งผลให้เด็กบาดเจ็บได้

“ปัจจุบันสูตินรีแพทย์มีคดีความฟ้องร้องมากขึ้น เนื่องจากเด็กในครรภ์อ้วน ทำให้การคลอดตามวิธีธรรมชาติเป็นไปอย่างยากลำบาก เด็กเสี่ยงบาดเจ็บ และหากใช้วิธีผ่าตัดคลอด ก็เสี่ยงที่จะมีการตกเลือดสูง แผลผ่าตัดติดเชื้อ รวมไปถึงภาวะอ้วนหลังคลอดด้วย ซึ่งลดลงยากมาก อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้คุณแม่น้ำหนักปกติควบคุมน้ำหนักระหว่างการตั้งครรภ์ให้อยู่ที่ 10-12 กิโลกรัม ส่วนคุณแม่ที่มีภาวะน้ำหนักเกินควรควบคุมให้อยู่ที่ 5-9 กิโลกรัม”

จะเห็นได้ว่า สาเหตุการอ้วนของคนไทยเกิดจากความไม่รู้ และความเข้าใจผิด จึงต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่มากขึ้น ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางองค์กรฯ พยายามทำหน้าที่ในการประสานให้ความรู้ โดยอิงหลักวิชาการที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดโรคอ้วนลงพุงในสังคมไทย ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือในการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์และพยาบาลแล้ว เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะ น้ำหนักเกิน โรคอ้วน และอ้วนลงพุง เพราะปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ภาระหน้าที่ของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่บุคลากรทางสาธารณสุขต้องช่วยแนะนำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนด้วย

“เครือข่ายคนไทยไร้พุง โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับ 5 สถาบันทางการแพทย์ ได้แก่ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา และนำไปวิเคราะห์องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการปัญหาต่อไป”

ด้าน รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส.กล่าวว่า สถานการณ์ภาวะน้ำหนักเกินของคนไทยยังถือเป็นสถานการณ์ที่คุกคามสุขภาพ และนำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย รวมถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากค่ารักษาพยาบาล โดยผลสำรวจสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของไทย 2555 จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ภายใน 24 ชั่วโมง คนไทยมีพฤติกรรมเฉื่อยถึง 13.4 ชั่วโมง นอนหลับ 8.2 ชั่วโมง และมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอแค่ 2 ชั่วโมง ซึ่งเหตุผลเหล่านั้นล้วนเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วนตามมา

“สสส.จึงวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน คือ 1.เพิ่มสัดส่วนผู้มีกิจกรรมทางกาย 2.เพิ่มพื้นที่สุขภาวะเอื้อต่อกิจกรรมทางกาย ให้คนไทยได้มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม โดยสำรวจเส้นทางและขยายเครือข่ายที่เอื้อต่อการเดิน/ปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน โดยตั้งเป้าปี 2557 เพิ่มสัดส่วนผู้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้นอีก 10% เป็น 76% เพื่อลดอัตราโรคอ้วนและโรคติดต่อไม่เรื้อรังในคนไทย ซึ่งรัฐบาลเองจะทำหน้าที่ประสานระบบการวางผังเมืองที่สอดรับการเพิ่มที่สุขภาวะร่วมกับท้องถิ่นเพื่อเอื้อให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น