xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : ชัมบาลา เส้นทางแห่งการตระหนักรู้ในตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดินแดนทิเบตที่ได้รับการเปรียบเปรยให้เป็นหลังคาโลกนั้น ไม่เพียงมีแค่ทัศนียภาพของหุบเขาตระหง่านสูง สภาพอากาศ ทุ่งหญ้า ที่ราบ ทะเลสาบ อันน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ทิเบตยังเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา ที่เหมาะจะเรียกว่า “เมืองพุทธ” ของจริง

จุดหมายปลายทางของ “วุฒิ” ชายหนุ่มสุดเซอร์ ผู้ยึดมั่นในความรักมากกว่าสิ่งใด เขามีคนรักที่กำลังป่วยหนัก ชื่อ “น้ำ” ซึ่งครั้งหนึ่งในชีวิตเธอคิดจะเดินทางไปชัมบาลา ดินแดนที่ผู้คนเชื่อกันว่า เป็นประตูของโลกที่อยู่ในจุดที่ใกล้กับสวรรค์มากที่สุด แต่เมื่อร่างกายที่ไม่อำนวย เธอจึงยกความฝันนั้นให้แก่วุฒิ ไปเยือนชัมบาลาแทนเธอ แล้วถ่ายรูปสวยๆมาให้ดูด้วย วุฒิจึงแบกความหวังของน้ำ เดินทางสู่ชัมบาลาโดยหวังที่จะเติมเต็มความฝันครั้งสุดท้ายก่อนที่เธอจะจากโลกนี้ไป

แม้วุฒิชักชวนเพื่อนๆ เพื่อร่วมทางไปด้วยกัน แต่ถูกปฏิเสธ เพราะทิเบตไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับพวกเขา แต่แล้ววันหนึ่ง “ทิน” พี่ชายสุดแสบ ที่มีนิสัยเกรี้ยวกราด เอะอะโวยวาย ขี้โมโห ที่หายหน้าหายตาไปนาน ก็แวะกลับมาหาวุฒิ พร้อมเสนอตัวเองเป็นเพื่อนร่วมทางเพื่อถ่ายรูปให้น้องชาย (ก่อนจะเฉลยด้วยเหตุผลสุดกวนในภายหลังว่า แค่อยากเปลี่ยนที่กินเหล้า)

ในที่สุดสองพี่น้องก็ร่วมเดินทางไปทิเบต ทั้งคู่ได้พบกับ “ตาว่า” ไกด์หนุ่มชาวทิเบต ที่เป็นผู้นำทางไปท่องเที่ยวในดินแดนแห่งลามะ …. แล้วการเดินทางสู่ทิเบตก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆกับกลิ่นอายวัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธาทางพุทธศาสนาของชาวทิเบตไปตลอดเรื่อง

ระหว่างการเดินทาง “ทิน” ทำตัวกวนประสาท ไร้มารยาท หยาบคาย และน่ารังเกียจ ครบทุกรูปแบบ เขาประพฤติตัวอย่างที่บอกกับน้องชายในตอนแรกว่า แค่อยากเปลี่ยนสถานที่ดื่มเหล้า เพราะนอกจากจะถ่ายรูปไม่ได้เรื่องได้ราวแล้ว ทินยังไม่ให้ความสำคัญกับประเพณี วัฒนธรรมชาวทิเบต ที่มีพุทธศาสนาแทรกซึมอยู่แทบทุกอณู

เมื่อทินเห็นชาวทิเบตกำลังเดินสวดมนต์ ก้มกราบให้ร่างกายแนบไปกับผืนดิน ตัวเปื้อนฝุ่น เขากลับมองเป็นเรื่องแปลกประหลาดด้วยอารมณ์ขัน ขณะเดียวกันยังย้ำกับผู้ร่วมทางตลอดว่า อย่าลืมแวะซื้อเบียร์ด้วย แต่ไกด์หนุ่มอธิบายว่า ทิเบตไม่ค่อยมีร้านจำหน่ายเหล้าเบียร์มากนัก เพราะเชื่อว่า ยิ่งมีบาร์มากเท่าไหร่ คนก็ยิ่งใช้เวลากับครอบครัวและการสวดมนต์น้อยลง

ขณะที่วุฒิเป็นคนสุภาพ จิตใจดี เก็บความรู้สึก แต่ที่สุดแล้วเขาก็ได้เผยความรู้สึกบางอย่างออกมาว่า เคยทำผิด ทำไม่ดี ด้วยการ “นอกใจคนรัก” และเขาเชื่อตามหลักพุทธแบบชาวทิเบตว่า การเดินทางมากราบไหว้ สวดมนต์ อธิษฐาน จะทำให้ความผิดนั้นเบาบางลงไปได้ อย่างน้อยก็ภายในจิตใจ

เหมือนกับคำกล่าวที่ไกด์หนุ่มบอกว่า “ชาวทิเบตเชื่อกันว่า จะผิดมากหรือผิดน้อยไม่สำคัญ เท่ากับว่าเราสำนึกต่อความผิดนั้นหรือเปล่า”

แต่เมื่อมองในเรื่องความผิด หนังก็ค่อยๆเฉลยไปทีละนิดว่า การที่ทินทำตัวน่ารังเกียจ เป็นเพราะปมในอดีตที่ต้องแยกทางกับคนรัก ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการใช้ชีวิตคู่ที่ขาดความรับผิดชอบ การเดินทางมายังดินแดนอันห่างไกล จากประเทศบ้านเกิด ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่เขาจะหลบหนีจากความรู้สึกแย่ๆ ที่เคยทำไว้ในเมืองไทย

แม้ว่าการเดินทางที่ยาวนาน บุกบั่นฝ่าสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ แต่จุดหมายปลายทางสุดท้าย ที่สองหนุ่มอยากให้ไกด์นำไป คือ สถานที่ซึ่งเรียกว่า “ชัมบาลา”

คำว่า "ชัมบาลา" ในความหมายของชาวทิเบตนั้น เปรียบเหมือนดินแดนแห่งอุดมคติ สรวงสรรค์ สถานที่อันสงบสุข แต่ไกด์ทิเบตผู้ซึ่งเคยบวชเป็นลามะหลายปี อธิบายให้สองหนุ่มไทยเข้าใจว่า ดินแดนแห่งชัมบาลานั้นไม่มีจุดหมายที่แน่นอน มันขึ้นอยู่ที่จิตใจของคุณ ว่าศรัทธา เชื่อมั่น แค่ไหน … หากมีมากพอ คุณก็ไปถึงชัมบาลาได้

บรรดาคุรุทิเบตหลายท่านถือว่าอาณาจักรชัมบาลามิใช่สถานที่ซึ่งดำรงอยู่ภายนอก หากเป็นรากฐานของสภาวะการหยั่งรู้และการประจักษ์แจ้ง อันเป็นศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคน

ช่วงท้ายเรื่อง หลังจากต้องเดินขึ้นเขาตามเส้นทางสูงชัน สภาพอากาศเต็มไปด้วยสายลมหนาวกับหิมะ ก็เกิดเรื่องราวบางอย่างที่ทำให้สองหนุ่มต้องทะเลาะกันอย่างหนัก แต่นาทีนั้นมันก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทินระลึกถึงความผิดที่ตัวเองเคยทำไว้ ขณะเดียวกันภาพของบรรยากาศที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ซึ่งเป็นทิวทัศน์อันยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับความรู้สึก “สำนึก” ในจิตใจ นั่นจึงอาจหมายถึงการที่พวกเขาไปถึงชัมบาลาตามที่ตั้งใจไว้แล้ว

บทสรุปของหนังบางอย่าง คงไม่เหมาะที่จะกล่าวถึงก่อนชม เพื่อคงอรรถรสเอาไว้ แต่มีบทสรุปในช่วงท้าย สอนให้ผู้ชมตระหนักว่า การทำผิดหรือการกระทำกรรมชั่วนั้น ไม่มีทางที่จะลบล้างให้หายไปจากจิตใจได้ และมันก็ไม่ได้มากหรือน้อยไปกว่าเดิม เพียงแต่ “การสำนึกผิด” มันจะทำให้ตัวเราลดละทิ้งอัตตาออกไป เพราะหลักการเบื้องต้นในทัศนะของชัมบาลาก็คือ การไม่กลัวความจริงในตนเอง

หลักพุทธศาสนากับการให้อภัยนั้นเป็นสิ่งที่คู่กัน “ชัมบาลา” อาจทำให้ผู้ชมเกลียดชังพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของทินมาค่อนเรื่อง ขณะที่การกระทำของวุฒิ ก็ทำให้หลายคนคิดไม่ถึง แต่ทว่าการให้อภัยต่อผู้สำนึกผิด ถือเป็นสิ่งสำคัญกว่า

ในตอนจบ “วุฒิ” สำนึกต่อความผิดที่เขาได้ทำไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตของเขาจะมีความสุขได้เต็มร้อย เพราะกรรมที่เคยทำไว้ ยังส่งผลถึงจิตใจอยู่ตลอด

ส่วนการสำนึกผิดของ “ทิน” ทำให้เขาตรึกตรอง เปลี่ยนแปลงตัวเอง และเดินตามแนวทางของพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนทางของการดับทุกข์ได้

“ชัมบาลา” อาจเป็นภาพยนตร์ที่มีบทสนทนาหยาบคาย มีฉากที่มีความประพฤติบางอย่างไม่เหมาะสม… แต่โดยแก่นแท้ที่ผู้กำกับ "ปัญจพงศ์ คงคาน้อย" ต้องการนำเสนอ ก็เป็นเรื่องพุทธศาสนาที่แฝงเอาไว้อย่างแนบเนียน เพราะเขาเคยเดินทางไปทิเบตมาก่อน และประทับใจในความศรัทธาของชาวทิเบตที่มีต่อพุทธศาสนา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่จะเข้าใจในสารได้อย่างแจ่มแจ้งมากที่สุดก็คือพุทธศาสนิกชนนั่นเอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)





กำลังโหลดความคิดเห็น