Facebook : teelao1979@hotmail.com
“กุญแจที่ไข่สู่ความเป็นนักรบและหลักการเบื้องต้นของญาณทัศนะชัมบาลา ก็คือ การไม่กลัวความจริงในตนเอง ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม”
...................................................
อย่าเพิ่งคิดว่านี่คือคอลัมน์ธรรมะธัมโมอะไรนะครับ ถ้อยคำข้างต้นนั้น ผมหยิบมาจากหนังสือชื่อ “ชัมบาลา หนทางศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ” ซึ่งเป็นงานเขียนของท่าน “เชอเกียม ตรุงปะ” คุรุด้านจิตวิญญาณชาวทิเบตซึ่งเป็นผู้อำนวยการและครูใหญ่ของสถานศึกษาแห่งหนึ่งในแถบอเมริกาเหนืออันเป็นแหล่งค้นคว้าภูมิปัญญาพุทธควบคู่ไปกับภูมิปัญญาของชาวตะวันตก และที่ผมหยิบยกถ้อยคำของท่านมา ก็เพราะว่า หนังสือของท่าน คือหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง “ปัญจพงศ์ คงคาน้อย” เกิดรูปรอยทางความคิดและนำมาสู่การทำหนังอย่าง “ชัมบาลา”
สำหรับคนที่อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวแล้วมาดูหนังเรื่องนี้ จะพบว่า มันมีกลิ่นอายทางความคิดบางอย่างจากหนังสือแฝงฝังอยู่ในหนังด้วย แม้จะไม่ถึงขั้นหนักหน่วงเข้มข้น แต่แง่มุมเกี่ยวกับการยอมรับตัวตนที่เป็นจริงของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวตนในด้านดีหรือด้านที่ผิดพลาด ก็นับเป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติบนเส้นทาง “นักรบ” ตามแบบฉบับที่ท่านเชอเกียม ตรุงปะ ได้กล่าวไว้
“วุฒิ” กับ “ทิน” สองหนุ่มที่ถ้าไม่บอกว่าเป็นพี่น้องก็คงไม่มีใครเชื่อ เพราะทั้งคู่ดูแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การแต่งกายไปจนถึงรูปแบบความคิดและนิสัยใจคอ “วุฒิ” ซึ่งรับบทโดยซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ เป็นคนเงียบๆ หงิมๆ และเก็บงำ ดูไม่ค่อยจะมีพิษสงอะไร ผิดกับพี่ชายซึ่งแสดงโดยอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ที่ทำตัวราวกับเป็นศูนย์รวมแห่งความหยาบทุกอย่างบนโลก มองทุกสิ่งด้วยสายตาแบบขวางๆ ไปซะทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งสิ่งที่คนอื่นๆ นับถือศรัทธา เขาก็เห็นเป็นเรื่องตลกไร้สาระ
“วุฒิ” ต้องเดินทางไปยังทิเบตเพื่อค้นหาดินแดนที่เรียกว่า “ชัมบาลา” เพราะให้สัญญาไว้กับคนรัก เขาพยายามหาเพื่อนร่วมเดินทางที่จะช่วยถ่ายรูปให้ แต่ดูเหมือนทริปนี้จะถูกกำหนดไว้แล้วโดยโชคชะตา เพราะหลังจากที่เพื่อนทุกคนเซย์โนด้วยเหตุผลต่างๆ กัน พี่ชายของเขาอย่าง “ทิน” ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างภาพก็ก้าวเข้ามาเป็นตัวเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ ทั้งคู่เดินทางสู่ทิเบตโดยมีหมุดหมายสำคัญคือ “ชัมบาลา” สถานที่ซึ่งเปรียบได้กับแดนสวรรค์
แน่นอนครับว่า นี่คือหนังซึ่งออกตัวมาตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นหนัง “โร้ดมูฟวี่” (Road Movie) กล่าวอย่างรวบรัด โร้ดมูฟวี่ก็คือหนังแบบหนึ่งซึ่งมีการเดินทางเข้ามาเป็นส่วนประกอบ มันต่างจากสารคดีท่องเที่ยวทั่วไป ตรงที่สุดท้ายของการเดินทางมักจะจบลงด้วยบทเรียนบางอย่างของตัวละคร อาจจะได้ค้นพบตัวเอง อาจจะได้การเติบโตทางความคิด หรืออาจจะได้ “ตัวตน” หรือ “โลกทัศน์” ใหม่ที่ทำให้กลับมาอยู่ร่วมกับโลกกับชีวิตได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนมากมายนัก จะว่าไป มันก็มีความใกล้เคียงกับหนังในแนวคัมมิ่งออฟเอจ (Coming of Age) อยู่บ้างเหมือนกัน เพราะสุดท้ายแล้ว หนังทั้งสองแบบนี้ สิ่งที่จะเกิดกับตัวละครก็คือ “สายตา” แบบใหม่ในการมองโลกมองชีวิต ไม่ใช่เปลี่ยนดวงตาหรือแว่นตา แต่เปลี่ยนความคิดความอ่านที่ใช้จัดการกับทุกสิ่ง
แต่แม้จะเดินทางไกลแค่ไหน ปัญหาของตัวละครในเรื่อง “ชัมบาลา” ก็ดูจะปรากฏมาแล้วก่อนหน้าตั้งแต่ยังไม่ออกสตาร์ทจากจุดเริ่มต้น และตลอดการเดินทาง หนังก็แง้มๆ ให้เราเห็นเงื่อนปมที่ผูกอยู่ในใจของทั้งสองคนออกมาให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ การสู้รบปรบมือกับความรู้สึกข้างใน ดำเนินไปควบคู่กับความขัดแย้งระหว่างคนสองคนที่ค่อยๆ พัฒนาจากน้อยไปหามากจนเข้าขั้นบรรยากาศ “มาคุ”
ผมคิดว่า หนังนั้นตอบโจทย์ได้พอสมควรในเชิงเนื้อหาซึ่งเล่าผ่านมุมมองของโร้ดมูฟวี่ เพราะทั้งซันนี่และอนันดา ต่างก็ได้ค้นพบคำตอบของคำถามต่อความทุกข์ที่ซุกอยู่ในใจของตัวเอง เป็นบทสรุปที่ดีของโร้ดมูฟวี่ และคงต้องยอมรับว่า อนันดากับซันนี่ คือองค์ประกอบที่ดีที่สุดซึ่งทำให้คนดูอยู่กับหนังไปได้ตลอดการเดินทาง
เรื่องของเขาสองคน กระตุ้นให้เราตระหนักถึงคืนวันที่ผ่านพ้น ในชั้นต้น หนังตั้งคำถามได้ดีว่าเราใส่ใจผู้คนในชีวิตของเราดีหรือเพียงพอแล้วหรือยัง และในชั้นที่สูงขึ้นไป คือเราจะทำอย่างไรกับจิตใจที่อยู่ไม่เป็นสุขเหมือนมีสงครามความเศร้าหมองครอบงำอยู่ลึกๆ ตรงนี้ ผมคิดว่าอนันดากับซันนี่ ต่างก็เป็น “กระจกสะท้อน” ของกันและกันอยู่ในที เขาสองคน ไม่ว่าจะต่างกันแค่ไหนที่ “ภายนอก” แต่ต่างก็มีปัญหาทางใจที่ต้องเคลียร์เช่นเดียวกัน อนันดาหลงลืมอะไรบางอย่าง ซันนี่ก็เช่นกัน “ทิน” ก้าวผิดในบางจุด “วุฒิ” ก็ก้าวพลาดในบางเรื่อง
เนื้อหาของหนังนั้น มีอะไรให้เก็บเกี่ยวได้แน่นอนครับ หนังมีไดอะล็อกในบางจุดที่ทำให้เราฉุกคิดได้ แต่ในมุมมองส่วนตัว ผมว่าภาพรวมทั้งหมด ยังต้องการพลังในการเล่าที่มากกว่านี้ หากต้องการที่จะ “ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง” หรือ “แรงสะเทือนใจ” คือยอมรับว่าประเด็นที่ตั้งไว้ ดี เพียงแต่ถ้ามีพลังการในการสื่อสารมากกว่านี้ จะดียิ่งขึ้นได้อีก หนังอาจจะไป “ติด” บรรยากาศและอารมณ์แบบเรื่อง Seven Years in Tibet ซึ่งผู้กำกับอย่างปัญพงศ์ก็บอกกว่าเขาชมชอบอยู่ แต่ก็อย่างที่เราจะเห็นว่า Seven Years in Tibet นั้นเป็นหนังที่หนักไปทางหนืดเนือยเพียงใด (บางคนดูจากแผ่น อาจต้องหยุดดูเป็นพักๆ กว่าจะจบ)
กล่าวในแง่เสน่ห์ของการเป็นโร้ดมูฟวี่ที่มักจะต้องมี “เรื่องราวระหว่างทาง” ให้ได้พบและมีผลกระทบต่อการหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ผมมองว่าหนังเรื่องนี้ยังดึงเสน่ห์หรือจุดดีของโร้ดมูฟวี่มาได้น้อยไปนิด การออกเดินทางคือการไปพบไปเห็นโลกและชีวิตหลากสีสัน ซึ่งเมื่อเทียบกับหนังโร้ดมูฟวี่ที่อยู่ในความทรงจำหลายต่อหลายเรื่อง เช่น Y tu Mama Tambien หรือแม้แต่ Sideways เราจะเห็นว่า หนังสามารถเล่นกับรายละเอียดหรือสีสันชีวิตระหว่างทางได้อย่างมีรสชาติ คือไม่ใช่แค่ทำให้หนังดูสนุก หากแต่รายละเอียดเหล่านั้นยังมีส่วนสำคัญในการพลิกผันเปลี่ยนแปลงวุฒิภาวะของตัวละครด้วยเช่นกัน
พูดไป ก็คงต้องใช้คำอย่างที่พูดๆ กัน ว่าเรื่องราวระหว่างทางนั้น สำคัญไม่แพ้จุดหมายปลายทาง หรือกระทั่งมีความหมายกว่าปลายทางด้วยซ้ำไป ในบางที...
กระนั้นก็ดี ถ้ามองกันอย่างไม่ดิสเครดิต อาจจะเป็นเพราะการไปถ่ายทำถึงทิเบต มีเงื่อนไขข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถ “เล่นหัว” อะไรได้นัก (แต่ก็อีกนั่นแหละ บทของอนันดา มันก็เกินกว่าคำว่า “เล่นหัว” ไปมากโขอยู่แล้วนะครับ)
เช่นเดียวกัน ในหนังก็ดูเหมือนจะมี “ไขมัน” ปรากฏให้เห็นเป็นบางจุด ฉากจบด้วยความตายนั้นก็ดู “จงใจ” เกินไป และมันก็เป็น “ความซ้ำ” ที่เกร่อมาก (โดยเฉพาะในหนังเกาหลี) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมรู้สึกว่ามันเกินความจำเป็นอยู่สักหน่อยที่หนังนำเสนอดินแดน “ชัมบาลา” ออกมาเป็นภาพที่เห็นด้วยสายตา เพราะว่ากันอย่างถึงที่สุด “ชัมบาลา” ที่หนังพยายามปูมาตลอดเรื่อง มันเหมือนจะไม่ใช่เรื่องของดินแดนที่มีอยู่จริงอยู่แล้ว นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า แม้แต่ในหนังสือของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ก็มิได้ระบุว่าชัมบาลา มันคือเขตแดนแคว้นใด ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่รู้กันว่าชัมบาลาคือ “ดินแดนทางใจ” (เป็นนามธรรม) ที่สุดท้ายทุกคนต้องค้นพบด้วยมโนของตนเอง
บางสิ่งบางอย่าง ทิ้งให้มันลอยคว้างไว้อย่างนั้นก็ได้ครับ เพราะพอทำออกมาเป็นภาพแล้ว มันทำให้รู้สึกเหมือนไปชมสารคดีท่องโลกค้นหาสวรรค์ไปซะอย่างนั้น ทั้งที่พูดกันตามความจริง ชัมบาลามันคือการเปลี่ยน “โลกภายใน” อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเสิร์ฟ “ภาพสำเร็จรูป” เป็นรูปธรรมแบบนั้นก็ได้
แต่เอาล่ะ ถึงอย่างไร ผมยังคิดว่า “ปัญจพงศ์” ยังคงสมควรที่จะได้รับกำลังใจจากการทำงานชิ้นนี้ จากเนื้องานที่ปรากฏ มีแววว่า เมื่อวันเวลาผ่านไปและชั่วโมงบินสูงขึ้น เขาจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อีกคนหนึ่งที่ทำหนังซึ้งๆ และลุ่มลึกได้ดีไม่แพ้ใคร
ถ้าทินกับวุฒิจะต้องฝ่าความยากลำบากบนดินแดนทิเบตชนิดที่จะกลับก็กลับไม่ได้ และต้องไปให้ถึงยังชัมบาล่า ปัญจพงศ์ คงคาน้อย ก็คงไม่ต่างกัน “สวรรค์” ของเขามองเห็นอยู่รำไร ผมเชื่อว่าถ้ายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ นี่จะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อีกคนหนึ่งซึ่งผมและคนชอบดูหนังดีทั้งหลาย จะต้อง “นิยม” ในตัวเขาอย่างแน่นอน