ในขณะที่ “รัก 7 ปี ดี 7 หน” กำลังจะไล่เก็บเงินจากคนดูหนังโรง ข่าวคราวของดาราหนุ่มซึ่งถือเป็นจุดขายอันหนึ่งของหนังอย่างนิชคุณ หรเวชกุล ก็เป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน แน่นอนว่า ถ้านี่ถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการโปรโมทภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ดูจะเป็นการลงทุนที่ไม่น่าจะสู้ดีเท่าไรนัก
เพราะนอกจากนักแสดงหนุ่มจะได้รับผลกระทบในด้านการงานที่ประเทศเกาหลีแล้ว แว่วๆ มาว่า รายได้เปิดตัวของงานชิ้นใหม่ภายใต้ชายคาจีทีเอชเรื่องนี้ก็ไม่สู้ดีเท่าไหร่เช่นกัน เมื่อเทียบกับความน่าจะเป็นของหน้าหนังที่พยายามโปรโมทว่าเป็นผลงานฉลองครบรอบเจ็ดปีการก่อตั้งค่าย ซึ่งน่าจะ “บูม” และมีความน่าตื่นตาตื่นใจในแง่กระแสตอบรับมากกว่าที่เป็นอยู่
อันที่จริง จีทีเอชนั้นมีอายุครบ 7 ปีไปตั้งแต่ พ.ศ.2554 แล้วล่ะครับ แต่ก็อย่างที่คนทั้งประเทศรู้ว่าเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลปูนั้น “เอาน้ำไม่อยู่” ก็เลยเกิดอุทกภัยลามไปหลายแห่ง โปรเจคต์ของจีทีเอชอย่าง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ก็จำต้องถอยร่นหนีน้ำตามไปด้วย และกว่าจะได้สร้างได้ฉาย ก็ปาเข้าไปเมื่อจีทีเอชอายุ 8 ปีใน พ.ศ.นี้แล้ว
“รัก 7 ปี ดี 7 หน” เป็นหนังที่ประกอบไปด้วยเรื่องสั้น 3 เรื่อง โดยแต่ละเรื่องจะบอกเล่าผ่านตัวละครในแต่ละช่วงวัย เพื่อที่จะบอกกล่าวความเชื่อรวบยอดที่ว่า ในช่วงเวลาทุกๆ 7 ปี ความรักมักจะมีการเปลี่ยนแปลง
เรื่องแรก “14” นำแสดงโดยเก้า-จิรายุ ละอองมณี กับปันปัน-สุทัตตา ผมคิดว่าหนังตอนนี้ทำได้ดีในแง่ที่ดึงความมีชีวิตชีวาของวัยรุ่นออกมา ควบคู่ไปกับการสะท้อนให้เห็นวุฒิภาวะแบบเด็กๆ ที่ยังปราศจากความยั้งคิดอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกัน หนังก็ผูกพ่วงเรื่องราวเข้ากับค่านิยมของยุคสมัยได้แบบเห็นภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกับเฟซบุ๊กหรือยูทูบที่คุณค่าของมัน วัดกันด้วยจำนวนการกด Like ยิ่งได้ Like มากเท่าไหร่ ความรู้สึกภาคภูมิใจในชีวิตก็เหมือนจะมากเท่านั้น จนกระทั่งทำให้ผู้คนละเลยอะไรบางอย่างไป เหมือนตัวละครในเรื่องอย่าง “ป่วน” (เก้า-จิรายุ) ที่พลัดหลงเข้าไปในโลกแห่งการกด Like จนหลงลืมที่จะใส่ใจคนใกล้ชิด
สรุปสั้นๆ หนังก็พูดเรื่องการให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของคนที่เรารักนั่นล่ะครับ อย่าปล่อยให้จำนวนไลค์ในโลกเสมือนมามีอิทธิพลกับคุณจนส่งผลสะเทือนต่อชีวิตในโลกความเป็นจริง โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างชอบหนังสั้นตอนนี้ เพราะดูเพลินๆ ดีและนักแสดงรุ่นเยาว์ทั้งสองคนก็แสดงได้สมบทบาทและวัยของตัวเอง
เรื่องที่สอง “21/28” เป็นความรักในช่วงอายุ 21-28 เป็นช่วง 7 ปีที่ 3 ย่างเข้า 7 ปีที่สี่ หนังแสดงนำโดยซันนี่กับคริส หอวัง ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ค่อยมีอะไรนักในเชิงเนื้อหา และถ้าจะพูดกันตรงๆ ก็คงต้องบอกว่าเป็นตอนที่เบาโหวงที่สุด หนังพูดถึงอดีตดาราคู่ขวัญชายหญิงซึ่งเคยโด่งดังมากจากหนังเรื่องหนึ่ง และทั้งคู่ก็เลิกรากันไปหลายปี ชื่อเสียงที่เคยมีก็โรยราตามไปด้วย และแล้วพอมีข่าวว่าจะมีการทำภาคสองของหนังเรื่องนั้น ขณะที่ฝ่ายชายดูเหมือนจะพอใจกับชีวิตปกติแบบไร้ชื่อเสียง แต่ฝ่ายหญิงกลับพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะได้กลับไปเล่นหนังเรื่องดังกล่าว ถึงขั้นไปงอนง้อขอร้องอดีตแฟนให้ไปแคสติ้งหนังด้วยกัน
ในบางมุม ผมรู้สึกว่าประเด็นของหนังตอนนี้ เหมือนกับตอนที่แล้วอยู่กลายๆ ในแง่ที่ว่า ขณะที่ฝ่ายหนึ่งไม่ปลื้มในการมีชื่อเสียง ไม่ต้องมีคนรู้จักมาก ไม่ต้องได้จำนวน Like เยอะๆ แต่อีกคนกลับต้องการสิ่งนั้น และมันก็กลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมา เพียงแต่ว่าหนังในตอนของเก้า-จิรายุ พยายามบอกถึงการใส่ใจ แต่หนังในตอนที่ซันนี่และคริส หอวัง แสดง กลับดูไม่ค่อยมีอะไรมากไปกว่าคนที่อยากกลับมาดัง
แน่นอนล่ะ หนังอาจจะพูดเรื่อง “ถ่านไฟเก่า” หรือความรู้สึกถวิลหาที่ไม่เคยจางหาย แม้จะจากกันไป แต่ใจยังคิดถึง อะไรทำนองนั้น แต่พูดกันอย่างถึงที่สุด ด้วยรายละเอียดและเหตุผลที่หนังหยิบยกมาซัพพอร์ต ยังไม่หนักแน่นเพียงพอ ดูแล้วก็เฉยๆ ไม่อินครับ อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ที่เอาตัวรอดไปได้จริงๆ อยู่ที่บริบทด้านการแสดงทั้งของซันนี่และคริส หอวัง ซึ่งทำให้เราพอจะเกิดความอยากในการติดตามหนังต่อไปได้ เช่นเดียวกับแก๊กที่ใส่เข้ามาเป็นพักๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าหนังมันไม่หนืดจนเกินไป แต่ไม่รู้ว่าใครจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่านะครับว่า ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ไม่รู้จะชอบมันตรงไหนดี?
เรื่องสุดท้าย “42.195” เรื่องนี้ขาใหญ่มาเอง เพราะคุณเก้ง-จิระ มะลิกุล ลงทุนกำกับด้วยตัวเอง หนังนำแสดงโดยซูเปอร์สตาร์สองสาย ทั้งสายข่าวอย่างคุณสู่ขวัญ บูลกุล และสายเพลงป๊อปวัยรุ่นอย่างนิชคุณ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้โชว์ชั้นเชิงการเล่าเรื่องได้ดี โดยเฉพาะการสอดแทรกบทบรรยาย (Narrative) เข้ามา ผ่านน้ำเสียงและลีลาภาษาที่มีทั้งอำและล้อได้น่าขบขันและก็น่าเอาใจช่วยไปด้วยในขณะเดียวกัน มันฟังดูเหมือนนิทานอยู่ในที แต่เป็นนิทานอันว่าด้วยเรื่องของสตรีวัยกลางคนผู้หนึ่งซึ่งเหตุการณ์บางอย่างนำพาให้ได้พบกับเด็กหนุ่มผู้หลงรักการวิ่งมาราธอน และเขาก็ชวนเธอออกไปวิ่ง ท่ามกลางความรู้สึกวิ้งๆ ในหัวใจว่าสเต็ปต่อไปจะเป็นอย่างไรในความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขา
แม้หน้าหนังจะทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเรื่องของโคแก่กินหญ้าอ่อน แต่จริงๆ หนังมีดีกว่านั้นครับ หนังเน้นน้ำหนักไปที่ตัวละครของคุณสู่ขวัญ บูลกุล ซึ่งผ่านพ้นชีวิตมาหลายหลักกิโล ร้อนหนาวอย่างไรก็ได้รู้มาพอสมควรแล้ว จุดที่เธออยู่ บางทีก็ไม่ต่างอะไรกับกิโลเมตรที่ 35 บนลู่วิ่งมาราธอน กิโลเมตรที่ 35 ก็คือช่วงระยะที่เหนื่อยล้าจนอยากจะล้มลง คำถามก็คือ จะไปต่อให้ถึงปลายทางที่กิโลเมตร 42 หรือนอนราบลงกับพื้นให้แพทย์สนามมาหามออกไป ช่วงวัยแห่งชีวิตของตัวละครที่คุณสู่ขวัญเล่นก็ดูจะเป็นเช่นนี้
มันมีความเจ็บปวดบางอย่างในชีวิต เหมือนเป็นบททดสอบความฟิตของหัวจิตหัวใจ ไม่ต่างไปจากระยะทางบนลู่วิ่งมาราธอนที่จะพิสูจน์ความแกร่งของแข้งขาและร่างกาย
ผมชอบตอนนี้มากกว่าตอนที่หนึ่ง รู้สึกว่าในความพร่าเบลอไม่ชัดเจนของเรื่อง มีแง่มุมบางอย่างให้ได้คิดอยู่ ส่วนที่เซอร์ไพรส์ก็คือการแสดงของคุณสู่ขวัญ เทียบชั้นกับดาราอาชีพได้เลย ซีนอารมณ์ สีหน้าท่าทางอะไรต่างๆ ถือว่าตอบโจทย์ต่อบทที่เธอรับได้เป็นอย่างดี ส่วนที่ไม่เซอร์ไพรส์ เพราะคาดหมายว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วก็คือการแสดงของนิชคุณซึ่งในความคิดของผม เขาเหมือนกองหลังตัวเติมเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับความแข็งแรงทางเนื้อหาในส่วนของคุณสู่ขวัญมากกว่า และโชคดีมากที่หนังก็ไม่ได้มอบฉากที่ต้องเค้นพลังการแสดงหรือใช้อารมณ์เชิงลึกอะไรให้กับเขา
กล่าวในเชิงภาพรวมทั้งหมด ผมรู้สึกว่า งานชิ้นนี้ก็ถือเป็นงานระดับมาตรฐานของจีทีเอชทั่วไป ไม่ถึงขั้นว่าจะเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์อะไร หรือถ้าจะพูดให้เข้ากับวาระเฉลิมฉลอง 7 ปี (ที่จริง 8 ปี) ก็คงต้องบอกว่า นี่คืออีกหนึ่งผลงานที่ตอกย้ำความเป็นจีทีเอชที่ยังคงวิ่งอยู่ในลู่วิ่งเดิมๆ เป็นคอมฟอร์ท โซน หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งจีทีเอชรักษาไว้เป็นฐานอย่างมั่นคง
ผมคงไม่ไปเรียกร้องให้จีทีเอชลองทำหนังแบบอื่นๆ บ้างหรอกนะครับ เพราะเข้าใจว่าธุรกิจก็ต้องอยู่ได้ด้วยอะไรแบบนี้แหละ ทำหนังก็ต้องคำนึงถึงตลาดอยู่ตลอด คนดูชอบแบบไหนก็ต้องป้อนให้แบบนั้น แต่ผลลัพธ์ที่เกิดกับผมก็คือ ช่วงหลังๆ ผมรู้สึกว่า ดูหนังของจีทีเอชแล้วเหมือนไม่ได้ดู เพราะดูกี่เรื่องต่อกี่เรื่องก็ยังรู้สึกคล้ายๆ เดิม พลังของหนังในยุคหลังๆ หรืออย่างหนังเรื่องนี้ จึงดูน้อยเกินกว่าจะถูกเก็บจำเป็นภาพความประทับใจหรือติดอยู่ในความทรงจำเหมือนกับงานยุคแรกๆ
อะไรก็ตามที่พอทำเยอะๆ แล้วมันยังเหมือนเดิม ผลลัพธ์ก็ย่อมจะเป็นเช่นนี้แหละครับผมว่า อันนี้มองในเชิงคุณค่าทางความรู้สึกนะครับ ไม่ใช่ตัวเงิน เพราะหนังส่วนใหญ่ของจีทีเอชก็ทำเงินทั้งนั้น
ผมได้ยินได้ฟังจากปากของคุณเก้ง-จิระ มะลิกุล มาว่า คำว่า “ฟีลกู๊ด” หรือหนังฟีลกู๊ดนั้น ไม่ใช่เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์โลโก้ที่จีทีเอชคิดมาตั้งแต่ต้น หากแต่เกิดขึ้นจากการเรียกขานของแฟนคลับตลอดจนสื่อต่างๆ ที่ขนานนามให้กับหนังค่ายนี้ แน่นอนว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่ายิ่งเป็นการดีเลยครับสำหรับจีทีเอชที่จะทำให้มี “ช่อง” ในการลองทำหนังแบบอื่นๆ ดูบ้าง เพราะอย่างน้อยๆ นี่ก็ไม่ถือว่าเป็นการ “กลืนน้ำลายตัวเอง” หรือละเมิดอะไร เนื่องจากตัวเองก็ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ให้กับตัวเองมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะต้องทำแต่หนังฟีลกู๊ด
แน่นอนครับ จีทีเอชทำได้แน่ๆ ศักยภาพของคนทำงานเต็มเปี่ยม ยกเว้นเสียแต่ว่า ถึงแม้จะไม่มีกรงขังในแง่ของ “แนวทาง” แล้ว จีทีเอชพร้อมที่จะทลายอีกกรงขังหนึ่งหรือเปล่า กรงขังดังกล่าว ก็คือเสียงของคนดูผู้ชมที่โหมประโคมว่า จีทีเอชคือค่ายหนังฟีลกู๊ด นั่นล่ะครับ!!