แอนิเมชั่นว่าด้วยเรื่องราวในดินแดนสก็อตแลนด์ยุคโบราณ เมื่อ “เมริด้า” เจ้าหญิงองค์โตของ “กษัตริย์เฟอร์กัส” ถูกเลี้ยงแบบตามใจ โดยของขวัญที่กษัตริย์มอบให้เจ้าหญิงองค์น้อย ไม่ใช่ของน่ารักๆแบบเด็กผู้หญิง แต่กลับเป็นคันธนู จึงทำให้เมริด้าเติบโตเป็นเจ้าหญิงที่ห้าวหาญ เก่งกาจ ตามลักษณะของนักรบเชื้อสายสก็อต ซึ่งไม่เป็นดั่งที่ “ราชินีเอลินอร์” ผู้เป็นพระมารดาคาดหวัง เพราะอยากให้ธิดาองค์โตเป็นกุลสตรีผู้งามสง่า
พระราชินีเอลินอร์พยายามพร่ำสอนกิริยามารยาทตามแบบฉบับชาววังทุกอย่าง ซึ่งแม้ว่าองค์หญิงจะยินยอมปฏิบัติตาม แต่ทว่าวันดีคืนดีองค์หญิงจอมแก่นก็ควบ “อังกัส” ม้าคู่ใจเข้าป่า เพื่อขัดเกลาฝีมือยิงธนู แถมยังไปปีนป่ายหน้าผาบนน้ำตกอันสูงชัน
แล้ววันหนึ่งก็มาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อท่านลอร์ดผู้ครองดินแดน 3 แห่ง ได้แก่ ลอร์ด แมคกัฟฟิน ลอร์ดแมคอินทอช และลอร์ดดิงวอลล์ ได้เดินทางมาพร้อมบุตรชาย เพื่อคัดเลือกว่าใครเป็นผู้เหมาะสมกับการเป็นพระสวามีของเจ้าหญิง ตามราชประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านาน
วันนั้นเจ้าหญิงถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่องจนกลายเป็นสาวสวย แต่การนั่งฟังบรรดาท่านลอร์ดสาธยายคุณสมบัติเด่นของลูกชาย ก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับเจ้าหญิง มิหนำซ้ำชายหนุ่มแต่ละคนก็ดูไม่น่าสนใจแม้แต่คนเดียว จนสุดท้ายก็เป็นการประลองยิงธนู ใครชนะก็จะได้เป็นคู่ครองของเจ้าหญิง
งานประลองยิงธนูถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ ฝีมือยิงธนูของชายหนุ่มแต่ละคนแย่มาก เพียงแต่ลูกชายของลอร์ดดิงวอลล์ ซึ่งแทบจะยิงธนูไม่เป็นด้วยซ้ำ กลับโชคช่วยให้ยิงเข้าเป้า
องค์หญิงผู้ไม่ชอบใจประเพณีนี้ ดูด้วยความหงุดหงิด เธอจึงลุกขึ้นคว้าธนูคู่กายเล็งไปที่เป้า ลูกศรวิ่งตรงเข้าเป้าทั้งสามอย่างแม่นยำ การกระทำของเมริด้าเป็นการหักหน้าผู้เข้าแข่งขัน และยังเป็นการทำลายธรรมเนียมการแข่งขันกีฬาประเพณีที่มีมาช้านาน
ราชินีเอลินอร์ไม่พอใจการกระทำของลูกสาว จึงต่อว่าอย่างรุนแรง เมริด้าเผลอระเบิดอารมณ์ด้วยการใช้ดาบฟันผ้าม่านรูปปักของครอบครัวจนขาด ราชินีจึงลงโทษด้วยการโยนคันธนูของเจ้าหญิงเข้าเตาผิง
ด้วยอารมณ์โมโหบวกกับความไม่พอใจที่ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ องค์หญิงจึงควบเจ้าอังกัสหลบหนีออกจากวัง กระทั่งไปพบ “ดวงไฟแห่งโชคชะตา” ซึ่งตามความเชื่อของชาวสก็อตนั้น ว่ากันว่าไฟจะปรากฏเพื่อนำทางให้ผู้พบเห็นเดินทางไปสู่โชคชะตาที่ถูกลิขิตไว้ เมริด้าก็ตามไปเรื่อยๆ จนไปพบกระท่อมหลังหนึ่ง
เจ้าหญิงจอมแก่นพบว่า กระท่อมหลังนั้นเป็นร้านขายงานไม้แกะสลักของหญิงชราคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อดูแล้ว นางคงไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาแน่ๆ และก็เป็นอย่างที่เจ้าหญิงเข้าใจ เพราะหญิงชราก็คือ “แม่มด” นั่นเอง เมริด้าจึงยื่นข้อเสนอว่า ยินดีจะมอบสร้อยคอล้ำค่าให้ หากนางให้เวทมนตร์ที่จะเปลี่ยนใจพระราชินี ไม่ให้มาบังคับเธอเรื่องแต่งงาน
แม่มดรีบตะครุบสร้อยคอล้ำค่า ก่อนกุลีกุจอปรุงยาลงในหม้อใบใหญ่ แล้วได้มาเป็น “เค้ก 1 ชิ้น” โดยบอกว่า ให้เจ้าหญิงนำไปให้พระราชินีเสวย แล้วความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นตามพระประสงค์
เจ้าหญิงเมริด้ากลับมายังปราสาท และเข้าไปหาราชินีเอลินอร์ เพื่อขอโทษ แล้วจึงถวายขนมเค้ก เมื่อพระราชินีเสวยแล้ว เจ้าหญิงก็ทูลถามว่า ยังต้องการให้เธอเลือกคู่ตามประเพณีต่อไปหรือไม่ เพราะหวังว่าเค้กคงมีมนต์วิเศษเปลี่ยนใจได้
แต่สถานการณ์ไม่เป็นดังที่แม่มดบอก เพราะเค้กก้อนนั้นทำให้ราชินีกลายเป็นหมีร่างยักษ์!! ความโกลาหลวุ่นวายจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะเมริด้าจะต้องหาทางให้มารดากลับมาเป็นเหมือนเดิม
เจ้าหญิงพาหมียักษ์หลบหลีกทุกคน กลับไปยังกระท่อมแม่มดได้อย่างทุลักทุเล แต่คำตอบที่ได้รับ คือ การคืนคำสาปจะสำเร็จก็ต่อเมื่อสายใยถูกสานเป็นดังเดิม ก่อนพระอาทิตย์วันที่สองจะขึ้นขอบฟ้า ซึ่งเจ้าหญิงตีความว่า นั่นหมายถึงการเย็บผ้าม่านรูปครอบครัวที่เธอทำฉีกขาด ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ดังนั้น เธอจึงหาทางกลับไปยังปราสาทพร้อมหมียักษ์ เพื่อแก้คำสาป
ข้อคิดจาก Brave เห็นได้ชัดในเรื่องความขัดแย้งระหว่างสองแม่ลูก ซึ่งต่างไม่ยอมอ่อนข้อให้กัน จนลูกสาวหาทางออกด้วยการไปพึ่งพาไสยศาสตร์เวทมนตร์ แทนที่จะใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา แต่ยังนับว่าเจ้าหญิงองค์นี้ มีความรับผิดชอบต่อปัญหาที่ตนก่อไว้ ซึ่งโจทย์ที่เธอต้องทำให้สำเร็จ คือ การใช้สติปัญญาที่มีทั้งหมด และความกล้าหาญของตน ในการพาหมีร่างยักษ์กลับเข้าปราสาท โดยไม่โดนทหารทำร้ายเสียก่อน
ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยให้คนเราเกิดความกล้าหาญ มั่นใจต่อการผ่านอุปสรรคไปได้นั้น ในทางพุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอน ซึ่งเริ่มจาก “ความมีศรัทธา” เข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรมและบาปบุญคุณโทษ กล่าวคือ เมื่อเรามีความศรัทธาที่จะทำความดี ย่อมปราศจากความกังวลหรือข้อข้องใจว่า ทำแล้วจะได้อะไร หรือทำแล้วจะเป็นผลดีหรือเปล่า
ความกล้าหาญยังสามารถเพิ่มพูนได้ด้วย “ศีล” เพราะหากคนเรามีศีลประจำตน ไม่หลุดออกนอกกรอบแห่งศีลธรรมความดี ย่อมเสมือนเป็นเกราะป้องกัน มิให้สิ่งร้ายต่างๆเข้ามาได้โดยง่าย ดังนั้น ผู้ที่รักษาตนอยู่ในศีล ย่อมมีความกล้าต่อการกระทำในสิ่งที่มั่นใจว่าถูกต้อง
ต่อมาคือ “พาหุสัจจะ” หรือการเป็นผู้มีความรู้ ก็เป็นอีกหลักธรรมเพื่อสร้างความกล้า เมื่อเรารู้มาก รู้ลึก รู้จริง ย่อมเป็นคนที่มีความคิดกว้าง คิดรอบคอบ มั่นใจ และสามารถประมวลความรู้นั้นมาสู่การแก้ปัญหา หรือดำเนินชีวิตต่างๆได้อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยความรู้ก็ควรมีทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไปด้วย
“วิริยารัมภะ” หรือความพากเพียร ก็นับเป็นสิ่งสำคัญ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับจิตใจ เพราะไม่ว่าจะเจอกับปัญหาใดๆก็ตาม เราย่อมไม่ท้อถอยที่จะฟันฝ่า แต่จะทุ่มเทสุดกำลังจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ
ข้อสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ คือ “ปัญญา” ซึ่งเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ ที่จะหล่อเลี้ยงความคิด การกระทำ ให้เกิดสติ และสมาธิ อันจะช่วยให้เกิดความมั่นใจ หาญกล้า กระทั่งแก้ไขปัญหาได้อย่างลุล่วง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)