พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ทั้งคนร่ำรวย ทั้งคนจน ทั้งผู้ใหญ่ และก็ทั้งเด็ก ตลอดทั้งเดียรัจฉานทั้งหมดด้วย ซึ่งเกิดมาในสกลโลกอันนี้ ไม่มีอะไรจะยั่งยืนอยู่ในโลกนี้ จะต้องผลัดไปเปลี่ยนไปตามสภาวะของมัน อันนี้เป็นสภาวะความจริง
พระพุทธองค์ท่านให้พิจารณาสังขารร่างกายนี้จิตใจนี้ ว่ามันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา เป็นของสมมุติ เช่นว่า บ้านของคุณยายก็เป็นของสมมุติว่า เป็นบ้านของคุณยายเท่านั้น จะเอาติดตามไปที่ไหนก็ไม่ได้ สมบัตพัสถานซึ่งเรียกว่าสมมุติเป็นของคุณยายนี้ ก็เป็นเรื่องสมมุติเท่านั้น มันก็ตั้งอยู่อย่างนั้น จะเอาไปที่ไหนก็ไม่ได้
ลูกหลานบุตรธิดาทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเขาสมมุติว่าเป็นลูกเป็นหลานของคุณยายนั้น มันก็เรื่องสมมุติทั้งนั้น มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ ไมใช่ว่าเป็นเราคนเดียว เป็นกันทั้งโลก ถึงแม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็เป็นอย่างนี้
พระอรหันตสาวกทั้งหลายทั้งปวงท่านก็เป็นอย่างนี้ แต่ท่านแปลกกว่าพวกเราทั้งหลาย คือ ท่านยอมรับ ยอมรับว่าสกลร่างกายสังขารนี้มันเป็นอย่างนั้นเองของมัน จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้พิจารณาดูสกลร่างกาย ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาหาบนศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะลงไปหาปลายเท้า อันนี้เรียกว่าส่วนอวัยวะร่างกายของเรา
ดูสิว่ามันมีอะไรบ้าง อะไรเป็นของสะอาดไหม อะไรเป็นของเป็นแก่นเป็นสารไหม นับวันที่มันทรุดมาเรื่อยๆอย่างนี้ อันนี้พระพุทธเจ้าจึงให้เห็นสังขาร ว่าไมใช่ของเรา ของที่ไม่ไช่เรา มันก็เป็นอย่างนี้
ถ้าโยมมีความทุกข์ โยมก็คิดผิดเท่านั้นแหละมันก็ขวางใจเช่นนั้น เหมือนน้ำในแม่น้ำที่มันไหลลงไปในทางที่ลุ่ม มันก็ไหลไปตามสภาพอย่างนั้น อย่างแม่น้ำอยุธยา แม่น้ำมูล แม่น้ำที่ไหนก็ตามเถอะ มันก็ต้องมีการไหลวนไปทางใต้ทั้งนั้นแหละ มันไม่ไหลขึ้นไปทางเหนือหรอก ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น
สมมุติว่าบุรุษคนหนึ่งซึ่งไปยืนอยู่บนฝั่งของแม่น้ำ แล้วก็ไปมองดูกระแสของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวไปทางใต้ แต่บุรุษคนนั้นมีความคิดผิด อยากจะให้น้ำนั้นมันไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ อย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ บุรุษคนนั้นจะไม่มีความสงบเลย ถึงแม้จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ไม่มีความสงบ
เพราะอะไร เพราะบุรุษคนนั้นคิดผิด คิดทวนกระแสน้ำ คิดอยากจะให้น้ำไหลขึ้นไปทางเหนือ ความเป็นจริงนั้นน้ำจะไหลขึ้นไปทางเหนือนั้นไม่ได้ มันต้องไหลไปตามกระแสของน้ำ เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น
เมื่อมันเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นก็ไม่สบายใจ ทำไมถึงไม่สบายใจ เพราะบุรุษนั้นคิดไม่ถูก พิจารณาไม่ถูก ดำริไม่ถูก พิจารณาไม่ถูก เพราะว่าความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วก็ต้องเห็นว่าน้ำมันก็ต้องไหลไปตามกระแสของน้ำ จะให้น้ำไหลไปทางเหนือนั้นมีความเห็นผิด มันก็กระทบกระทั่งตะขิดตะขวงในใจอยู่อย่างนั้น จนกว่าบุรุษคนนั้นจะมาพิจารณาคิดกลับแล้วเห็นว่า ธรรมดาน้ำก็ต้องไหลไปอย่างนั้น เป็นเรื่องของมันอยู่อย่างนี้
อันนี้เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง ซึ่งเราจะเอามาพิจารณาว่า เออ...อันนี้ก็เป็นความจริงอย่างนั้น เมื่อหากว่าเห็นความจริงอย่างนั้น บรุษคนนั้นก็ปล่อย บุรุษคนนั้นก็วาง วางน้ำให้มันเชี่ยวให้มันไหลไปตามกระแสของมัน
ปัญหาที่ตะขิดตะขวงใจของบุรุษคนนั้นก็หายไป เมื่อปัญหาหายไป ก็ไม่มีปัญหา เมื่อไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องเป็นทุกข์
อันนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม่น้ำที่มันไหลไปทิศใต้ มันก็เหมือนชีวิตร่างกายของยายเดี๋ยวนี้แหละ เมื่อมันหนุ่มแล้วมันก็แก่ เมื่อมันแก่แล้วก็วนไปตามเรื่องมัน อันนี้เป็นสัจธรรม อย่าไปคิดว่าไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น เรื่องอันนี้ไม่ใช่เราจะมีอำนาจไปแก้ไขมัน
พระพุทธเจ้าให้มองตามรูปมัน มองตามเรื่องของมัน เห็นตามสภาพของมันเสียว่า มันเป็นอย่างนั้นเท่านั้น เราก็ปล่อยมันเสีย เราก็วางมันเสีย เอาความรู้สึกนี้เองเป็นที่พึ่ง
ให้ภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถึงแม้ว่าจะเหน็ดจะเหนื่อยก็จริงเถอะ ให้โยมทำจิตให้อยู่กับลมหายใจ หายใจออกยาวๆ สูดลมเข้ามายาวๆ หายใจออกไปยาวๆ แล้วก็ตั้งจิตขึ้นใหม่ แล้วก็กำหนดลม พุทโธ.. พุทโธ..
โดยปกติถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยมากเท่าไร ก็ยิ่งกำหนดจิตกำหนดอารมณ์ของเราให้ละเอียดเข้าไปเท่านั้นทุกครั้ง เพื่อจะต่อสู้กับเวทนา เมื่อมันกำลังเหน็ดเหนื่อย ให้โยมหยุดคิดอะไรทั้งปวงเสีย ให้เอาจิตมารวมอยู่ที่จิต แล้วเอาจิตกับลม ภาวนา พุทโธ พุทโธ ปล่อยวางข้างนอกให้หมด
อย่าไปเกาะกับลูก อย่าไปเกาะกับหลาน อย่าไปเกาะกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งนั้น ให้ปล่อยให้เป็นอันเดียว รวมจิตลงที่อันเดียว ดูลม ให้กำหนดลม เอาจิตนั่นแหละไปรวมอยู่ที่ลม คือให้รู้ที่ลมในเวลานั้น ไม่ต้องให้รู้อะไรมากมาย กำหนดให้จิตมันน้อยไปๆ ละเอียดไปๆ เรื่อยๆไป จนกว่าจะมีความรู้สึกน้อยๆ แต่มีความตื่นอยู่ในใจมากที่สุด เป็นต้น
อันนี้เวทนาที่มันเกิดขึ้น มันจะค่อยๆระงับไปๆ ผลที่สุดเราก็ดูลมเหมือนกับญาติมาเยี่ยมบ้าน เราจะตามไปส่งญูาติขึ้นรถลงเรือ เราก็ตามไปถึงท่าเรือ ตามไปถึงรถ เราก็ส่งญาติเราขึ้นบนรถเราก็ส่งญาติเราลงเรือ เขาก็ติดเครื่องเรือ เครื่องรถไปลิ่ว เท่านั้นแหละ เราก็มองไปเถอะ ญาติเราไปแล้ว เราก็กลับบ้านเรา เราดูลมก็เหมือนกันฉันนั้น
เมื่อลมมันหยาบเราก็รู้จัก เมื่อลมมันละเอียดเราก็รู้จัก เมื่อมันละเอียดไปเรื่อยๆ เราก็มองไปๆ ตามไป ลมน้อยไปๆ ทำจิตให้มันตื่นขึ้น ทำลมให้มันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ผลที่สุดแล้ว ลมหายใจมันน้อยลงๆ จนกว่าลมหายใจไม่มี มีแต่ความรู้ลึกเท่านั้นตี่นอยู่ นั้นก็เรียกว่า เราพบพระพุทธเจ้าแล้ว
เรามีความรู้ตัวอยู่ ที่เรียกว่า พุทโธ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าเป็นเช่นนั้น เราได้อยู่กับพระพุทธเจ้าแล้ว เราพบพระพุทธเจ้าแล้ว เราพบความรู้แล้ว เราพบความสว่างแล้ว ไม่ส่งจิตไปทางอื่น มันรวมอยู่ที่นั่น นั้นเรียกว่าเข้าถึงพระพุทธเจ้าของเรา
ฉะนั้น ให้วางทั้งหมด เหลือแต่ความรู้อันเดียว แต่อย่าให้หลงนะ อย่าให้ลืม ถ้าเกิดเป็นนิมิตเป็นรูปเป็นเสียงอะไรมา ก็ให้ปล่อยวางทั้งหมด ไม่ต้องเอาอะไรทั้งนั้นแหละ เอาความรู้อันเดียว ให้มันรู้สึกกับความรู้อันเดียวเท่านั้น ไม่ห่วงข้างหน้า ไม่ห่วงข้างหลัง ผลที่สุดจนกว่าว่าข้างหน้าก็ไม่ไป เดินไปก็ไม่ใช่ ถอยกลับก็ไม่ใช่ หยุดอยู่ก็ไม่ไช่ ไม่มีที่ยึด ไม่มีที่หมาย
เพราะอะไร เพราะว่าไม่มีตัวเพราะไม่มีตน ไม่มีเราและไม่มีของของเราทั้งหมด นี่คือคำสอนพระพุทธเจ้า สอนให้เรา "หมด" ไม่ให้เราคว้าเอาอะไรไป ให้เรารู้อย่างนี้รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็วาง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย พระโพธิญาณเถร(ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)