xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : เคล็ดปฏิบัติสมาธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นั่งสมาธิพึงพากันตั้งสติให้แน่วแน่อยู่ภายใน พยายามควบคุมจิตอย่าให้มันหลงคิดนึกไปในอารมณ์ที่มันเคยคิด เคยนึก เคยเกาะ เคยข้องมาแต่ก่อน ให้กำหนดลงเอาปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งเลยทีเดียว

ชีวิตนี้จะอยู่เฉพาะลมหายใจเข้า หายใจออก อยู่ที่ปัจจุบันนี้เท่านั้น ให้กำหนดจำกัดลงเลย เพราะว่าที่ล่วงมาแล้ว มันก็ล่วงมาแล้วนะชีวิต แล้วอนาคตก็ยังไม่ได้ไปถึง มันก็ยังไปไม่ถึง ไม่ต้องไปคำนึงหามัน การงานอะไรที่ทำล่วงมาแล้วผิดหรือถูกมันก็ได้ล่วงมาแล้ว ไม่ต้องไปคำนึงหามัน

เวลานี้เป็นเวลาพักผ่อนของจิตใจ ขอให้เตือนตนอย่างนี้ เวลานี้เป็นเวลาพักผ่อนของจิตใจในขณะนี้ เบื้องต้นนี้ก็อยากคิด อยากรู้นั้นรู้นี่ เห็นนั่นเห็นนี่ก่อน คือพยายามตั้งสติ กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก อธิษฐานจิตถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตนแล้ว ก็พยายามประกอบจิตนี้ให้หยุดคิด หยุดนึก ให้กำหนดรู้เฉพาะแต่ลมหายใจเข้าหายใจออกเท่านี้ก่อน

เพราะเวลานี้ให้เข้าใจว่า เราพักผ่อนจิตใจ คำว่าพักผ่อนคือหยุดคิด หยุดนึกในการงานต่างๆเลย วางจิตลงให้สบายๆไม่ต้องกังวลข้างหน้าข้างหลังอะไรเลย กำหนดรู้อยู่แต่ปัจจุบันนี้เท่านั้น เอา ปัจจุบันนี้เป็นหลักเลย ชีวิตนี้ก็ให้กำหนดว่ามีอยู่แค่ปัจจุบันๆ นี้ เท่านั้นแหละ

ในเบื้องต้นเราก็รู้ไม่ได้ว่าจะไปถึงไหน เบื้องหลังมันก็ล่วงมาแล้ว ดังนั้น เราต้องกำหนดรู้เฉพาะปัจจุบันเท่านั้นเอง การทำสมาธินี่ สำคัญอยู่ที่สตินั้นแหละ ขอให้ได้พากันจำเอาไว้ให้ดี

สติแปลว่าความระลึกได้
คือระลึกเข้าไปในจิตเลยทีเดียว ระลึกให้หยั่งเข้าไปให้มันถึงจิต อย่าให้มันระลึกเฉไปทางอื่น จิตนี้ที่มันตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ก็เพราะมันขาดสติ สติไม่ได้เข้าไปควบคุมอยู่ใกล้ชิด สตินั้นจะระลึกออกไปทางอื่นห่างออกไปจาก จิต เมื่อจิตนี้ปราศจากสติแล้ว มันก็ว้าเหว่เร่ร่อนหาอารมณ์อย่างอื่นคิดส่ายไปตามความชอบใจ แต่จิตนี้น่ะ ถ้าสติเป็นเครื่องสอนอยู่แล้ว ไม่ไปไหนเลย ไม่ไปไหนแล้ว ที่มันอยากคิดอะไรมา แต่ก่อนนั้น สติห้ามไว้แล้วทันก็หยุด

ขอให้สติมันเข้มแข็งเสียอย่างเดียว หายใจเข้าก็กำหนดรู้ หายใจออกก็กำหนดรู้อยู่ในปัจจุบันนั้นเลย ไม่ได้รู้สิ่งอื่นๆใดทั้งหมด

ถ้าหากใครสามารถที่จะเพ่งเข้าไปภายในให้เกิดแสงสว่าง เหมือนอย่างเราฉายไฟเข้าไปในถ้ำมืดๆอย่างนี้ แสงไฟฉายนั้น มันจะเป็นลำสว่างเข้าไปภายใน จะมีอะไรอยู่ในนั้นก็มองเห็นได้เลย อันนี้ก็เหมือนกันแหละ ถ้าสามารถที่จะกำหนดตั้งสติ แล้วเพ่งตามลมหายใจเข้าออก เข้าไปภายในให้มันสว่างเข้าไปถึงจิตใจ และก็มองเห็นอัตภาพร่างกาย อวัยวะน้อยใหญ่ภายในร่างกายได้ยิ่งดีเลย

ถ้าหากว่าไม่สามารถจะทำได้อย่างนี้ ก็ตั้งสติเพ่งเข้าไปหาความรู้อย่างเดียวเท่านั้น รู้อยู่ตรงไหน สติก็ให้หยั่งเข้าไปถึงนั่น ก็ใช้ได้เหมือนกัน

เมื่อจิตมันสงบ มันคลายจากอารมณ์ต่างๆ ออกไปแล้ว มันปลอดโปร่ง ถึงแม้ว่าจะไม่สว่างไสวเต็มที่ แต่มันก็มีเงาแห่ง ความสว่างปรากฏอยู่ในจิตนั้นเองแหละ จิตไม่เศร้าหมอง หมายความว่าอย่างนั้นแหละเบิกบาน

ถ้าหากมันคลายอารมณ์ต่างๆ ออกไปแล้วนะ ลักษณะอาการของจิตนี้จะเบิกบานผ่องแผ้ว ไม่มีกังวลใดๆ อิ่มอยู่ภายใน ไม่ปรารถนาอยากจะคิดไปไหนมาไหนแล้ว ทีนี้ถ้าจิตมันคลายอารมณ์เก่าออกไปได้ ก็ต้องอาศัยสตินั่นแหละเข้าไปควบคุมจิตไม่ให้คิดไปในอารมณ์ต่างๆ

เมื่อจิตนี้ไม่มีโอกาสจะได้คิดไปในอารมณ์ต่างๆแล้ว มันก็คลายทิ้งหมด อารมณ์ที่เราเก็บเอาไว้มันเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันไม่มีที่ต่อมันก็คลายออกไปเท่านั้นเอง

ดังนั้น อย่าไปเข้าใจวิธีอื่นเลย พระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออกนี่ เพ่งกำหนดรู้แต่ลมหายใจเข้าออกนี่แหละ ความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ มันจะค่อยเบาไปๆ หมดไปโดยลำดับ เพราะว่าจิตเราไม่ส่งเสริมมัน จิตเรามาจ้องอยู่เฉพาะแต่ลมนี้ จิตนี้ไม่ส่งเสริมความคิดเสียแล้ว ทีนี้จะคิดดีคิดชั่วอย่างไรไม่เอาในขณะนี้ ปล่อยทิ้ง ไม่ใช่เวลาคิด เวลานี้ เวลาสงบ เวลาเพ่ง เวลากำหนดรู้ ไม่ใช่เวลาคิด ให้มีสติเตือนจิตอย่างนี้เสมอไป

จิตนี้เมื่อถูกสติเตือนเข้าบ่อยๆ มันก็รู้ตัว รู้ตัวแล้วมันก็คลาย มันก็ปล่อยวางอารมณ์ ไม่ส่งเสริม ไม่คิดไม่ปรุงไปอีก เรื่องสมาธินี่สำคัญมากทีเดียว เรื่องปัญญานั้นมันเกิดจากสมาธิ

ดังนั้น เมื่อเราไม่สามารถจะทำสมาธิให้บังเกิดได้ ปัญญามันก็เกิดไม่ได้

ปัญญาในที่นี้หมายถึงปัญญาที่เกิดจากสมาธิ ปัญญาที่เกิดจากสมาธินี้เป็นปัญญาที่รู้แจ้งในธาตุสี่ ขันธ์ห้า ในนามในรูป ไม่ปรารถนารู้อย่างอื่น

ในการปฏิบัติสมาธิแรกๆ อย่าไปสงสัย คลางแคลงใจว่า

เอ๊ะ.. ทำไมเราจึงปฏิบัติไปไม่ได้ ทำไมใจจึงไม่สงบ?

กำหนดลมหายใจก็กำหนดแล้ว มันก็ยังไม่สงบ อย่างนี้...

อย่าไปสงสัย...ให้นึกว่า

เราทำยังไม่พอก็แล้วกัน เราทำยังไม่มากพอ คือว่าเรายังกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกนี้ ยังไม่พอ เราจะต้องทำอีก

(ส่วนหนึ่งจากหนังสือเคล็ดปฏิบัติสมาธิ)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น