การฝึกหัดทางด้านจิตใจ เบื้องต้นก็ต้องมีการล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา ไม่ว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวก ย่อมผ่านการฝึกหัดมาก่อน เช่นเดียวกับพวกเรา และมีผิดๆถูกๆอันเป็นลักษณะล้มลุกคลุกคลานเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเราผู้มุ่งศึกษาและปฏิบัติ ซึ่งไม่เคยผ่านและรู้เห็นมาก่อน ก็ย่อมมีการผิดพลาดเป็นธรรมดา ซึ่งจะหลีกเว้นไม่ได้ แต่อาศัยความพยายามเป็นหลักสำคัญ ซึ่งไม่ควรมองข้ามไปโดยเห็นว่าไม่จำเป็น
การทำจิตใจให้สงบด้วยอุบาย “สมาธิอบรมปัญญา” หรือด้วยอุบาย “ปัญญาอบรมสมาธิ” ทั้งสองนี้เป็นอุบายวิธีที่ถูกต้องเสมอกัน เพราะเป็นอุบายเครื่องกระตุ้นเตือนสติ ให้ตามรู้ความเคลื่อนไหวของจิตทุกระยะในขณะทำการอบรม
แต่วิธีทำใจให้สงบด้วยวิธีทั้งสองนั้น โปรดทราบไว้เสมอว่า สติเป็นของสำคัญ ทุกๆครั้งและทุกๆขั้นของจิตขึ้นอยู่กับสติ อย่าให้ขาดไปในขณะอบรม จิตจะขาดธรรมเครื่องบำรุง การภาวนาจะกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่เรียกว่า “อานาปานสติ” เป็นต้นก็ตาม จงทำความพยายามให้สติอยู่กับลมจริงๆ ทั้งลมเข้าและลมออก ตลอดความหยาบความละเอียดของลมทุกระยะไป จนปรากฏผลคือความสงบสุขขึ้นมา วิธีนี้เรียกว่า “สมาธิอบรมปัญญา”
ก่อนอื่น อยากจะเรียนให้บรรดาผู้ใคร่ต่อธรรมทราบ เพื่อความสงบสุขอย่างจริงใจ พอเป็นสักขีพยานแห่งการบำเพ็ญ จิตได้รับความสงบมีลักษณะอย่างนี้คือมีอารมณ์อันเดียว เฉพาะความรู้เด่นดวงอยู่ในขณะนั้น ปล่อยวางจากอารมณ์ แม้บทบริกรรมภาวนาจำต้องละ ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น ดำรงตนอยู่ด้วยความสงบสุข ไม่คิดปรุงอารมณ์เครื่องก่อกวน
การพักสงบจิตในลักษณะเช่นนี้จะนานหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามฐานะของจิต ซึ่งควรจะทรงตัวอยู่ได้ บางเวลาก็พักอยู่ได้นาน บางเวลาก็ไม่นาน แล้วถอนขึ้นมา จากนั้นก็ทำหน้าที่ต่อไปอีก ตามแต่จะเห็นควรของผู้บำเพ็ญ เมื่อทราบผลเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็พอมีทางทราบอุบายวิธีต่างๆ เพื่อให้จิตมีความสงบยิ่งๆขึ้นไป และพักอยู่ได้นาน
ต่อไปนี้เป็น “ปัญญาอบรมสมาธิ” ปัญญาอบรมสมาธิ นั้นเป็นธรรมที่ควรนำมาใช้ในเวลาที่จิตมีความฟุ้งซ่านรำคาญจนเกินควร เช่น จิตประสบเหตุการณ์ต่างๆจนเกิดความเสียอกเสียใจอย่างรุนแรง หรือเกิดความเพลิดเพลินจนเกินตัว ปัญญาทำการพิจารณาหักห้ามกีดกันจิตที่กำลังฟุ้งซ่านกับอารมณ์ในเวลานั้น ให้จิตรู้สึกตัวด้วยเหตุผลโดยวิธีต่างๆ จนจิตยอมรับหลักเหตุผลและยอมจำนนต่อปัญญาผู้พร่ำสอนแล้วกลับตัว แล้วย้อนเข้าสู่ความสงบได้เช่นเดียวกับสมาธิอบรมปัญญา
ยกตัวอย่างเช่น เรานั่งภาวนามานานๆ เกิดทุกขเวทนา อย่างหนักขึ้นมา มีการเจ็บปวดตามแข้งขาและอวัยวะส่วนต่างๆแทบทนไม่ไหว ประหนึ่งร่างกายจะแตกไปในเวลานั้นให้ได้ เพราะทุกขเวทนาครอบงำมาก ตามธรรมดาของใจที่มีกิเลส และถือขันธ์ห้าเป็นตัวตนอยู่แล้ว ขณะที่ทุกขเวทนาครอบงำร่างกายมากๆ ใจจำต้องเป็นทุกข์ไปด้วย แสดงอาการระส่ำระสาย กระวนกระวาย อยากจะออกจากการนั่งสมาธิมาอยู่ตามลำพังบ้าง ตั้งความปรารถนาอยากให้ทุกข์ดับไปบ้าง ซึ่งความคิดทั้งนี้เป็นการส่งเสริม “สมุทัย” เพื่อผลิตทุกข์เพิ่มขึ้นที่ใจโดยไม่รู้สึกตัว
แต่ผู้ต้องการฝึกทรมานใจตามหลักธรรม เพื่อยังผลให้ประจักษ์ขึ้นกับใจโดยทางปัญญา จำต้องพิจารณาทุกขเวทนาที่เกี่ยวกับกาย และอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในกายและเวทนา ซึ่งเป็นเหตุให้เสริมทุกข์ขึ้นมาอย่างมากมาย โดยแยกเวทนากับกายออกพิจารณาด้วยปัญญา ตามหลักเหตุผลว่า กาย เวทนา และจิต เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่
ขณะทำการพิจารณาต้องทำความรู้สึกอยู่กับกายและเวทนา ไม่ยอมให้จิตเล็ดลอดส่งไปที่อื่น ทำการแยกกายและเวทนาออกดูให้เห็นชัดด้วยปัญญาว่า ทั้งกาย ทั้งเวทนาเป็นส่วนหนึ่งจากจิต แม้กายกับเวทนาก็เป็นส่วนหนึ่งจากกัน มิได้เป็นอันเดียวกันตามความสำคัญของจิต จนสามารถแยกกาย เวทนา และจิตออกจากกันได้โดยทางปัญญา ต่างก็เป็นความจริงอยู่ตามสภาพของตน จิตก็หยั่งลงสู่ความสงบ ดำรงตนอยู่เป็นเอกเทศหนึ่งจากขันธ์ ตั้งมั่นเป็นองค์สมาธิอย่างเต็มที่ในเวลานั้น กายกับทุกขเวทนาไม่ปรากฏในความรู้สึกว่ามี ปรากฏเห็นจิต เป็นของที่แปลกและอัศจรรย์อย่างยิ่งในขณะนั้น ซึ่งควรจะยึดเอาเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญด้วยวิธีนี้ต่อไป วิธีหนึ่ง
การฝึกทรมานจิตให้สงบเป็นสมาธิลงได้ด้วยทั้งจิตกำลังฟุ้งซ่านและระส่ำระสายด้วยอุบายที่กล่าวมา เรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” เพราะทำการหักห้ามจิตลงได้ด้วยความฉลาดรอบคอบของปัญญา ผู้ปฏิบัติโปรดนำไปใช้ฝึกจิตดวงพยศตามกาลอันควร จะได้รับประโยชน์เท่ากันกับวิธีปลอบโยน ที่เรียกว่า “สมาธิอบรมปัญญา”
ปัญญาอบรมสมาธินี้ ผู้บำเพ็ญมักจะเห็นผลประจักษ์ใจในเวลาไม่นานนัก เพราะความกล้าหาญต่อความเพียร เพื่อการพิจารณาทุกขเวทนา ไม่ยอมถอยหลัง ในขณะที่มีทุกขเวทนากล้าครอบงำ แต่ถ้ามีความท้อแท้และระอาต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็อาจจะไม่ปรากฏผล มิหนำทุกข์ที่เกิดขึ้นยังจะกลายเป็นข้าศึกต่อผู้นั้นอีกด้วย เพราะไม่อาจจะหาทางออกได้ด้วยอุบายของปัญญาอันแหลมคมพอๆ กัน
จะอย่างไรก็ตาม การพยายามพร่ำสอนใจโดยอุบายต่างๆนั้น ย่อมเป็นผลดีเสมอ แม้จะไม่ได้ผลอย่างสมใจเสียทีเดียว แต่ก็พอมีทางทำให้ใจคล้อยไปตามธรรมวันละเล็กละน้อย จนกลายเป็นจิตที่มีเหตุผลประจำตัวขึ้นเป็นลำดับ และกลายเป็นผู้มีธรรมในใจ ทั้งปกครองง่ายในกาลต่อไป เพราะตามธรรมดาของใจไม่มีธรรมตามรักษาย่อมมีความคะนองประจำตัว นอกจากจะไม่สังเกตเท่านั้น จึงไม่ทราบว่าจิตของตนเป็นอย่างไร
คำว่า “จิต” ได้แก่ธรรมชาติที่รู้ๆ และรับผิดชอบอยู่ในตัวของคนและสัตว์ทุกประเภท ทั้งเป็นสิ่งสำคัญมากภายในร่างกาย จึงควรรัก สงวน และอบรมให้ดี แต่ใจจะดีได้ต้องมีธรรมที่เหนือกว่า คือ สติและปัญญา
สติปัญญาในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้นำไปใช้ในกิจที่ชอบ จะไป จะอยู่ จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ควรนำสติปัญญาเข้ามาวินิจฉัยไตร่ตรองดูให้รอบคอบก่อนจะลงมือ จึงจะไม่ค่อยมีความผิดพลาดและเสียหายเกิดขึ้น
(ส่วนหนึ่งจากการแสดงพระธรรมเทศนา
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี)
การทำจิตใจให้สงบด้วยอุบาย “สมาธิอบรมปัญญา” หรือด้วยอุบาย “ปัญญาอบรมสมาธิ” ทั้งสองนี้เป็นอุบายวิธีที่ถูกต้องเสมอกัน เพราะเป็นอุบายเครื่องกระตุ้นเตือนสติ ให้ตามรู้ความเคลื่อนไหวของจิตทุกระยะในขณะทำการอบรม
แต่วิธีทำใจให้สงบด้วยวิธีทั้งสองนั้น โปรดทราบไว้เสมอว่า สติเป็นของสำคัญ ทุกๆครั้งและทุกๆขั้นของจิตขึ้นอยู่กับสติ อย่าให้ขาดไปในขณะอบรม จิตจะขาดธรรมเครื่องบำรุง การภาวนาจะกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่เรียกว่า “อานาปานสติ” เป็นต้นก็ตาม จงทำความพยายามให้สติอยู่กับลมจริงๆ ทั้งลมเข้าและลมออก ตลอดความหยาบความละเอียดของลมทุกระยะไป จนปรากฏผลคือความสงบสุขขึ้นมา วิธีนี้เรียกว่า “สมาธิอบรมปัญญา”
ก่อนอื่น อยากจะเรียนให้บรรดาผู้ใคร่ต่อธรรมทราบ เพื่อความสงบสุขอย่างจริงใจ พอเป็นสักขีพยานแห่งการบำเพ็ญ จิตได้รับความสงบมีลักษณะอย่างนี้คือมีอารมณ์อันเดียว เฉพาะความรู้เด่นดวงอยู่ในขณะนั้น ปล่อยวางจากอารมณ์ แม้บทบริกรรมภาวนาจำต้องละ ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น ดำรงตนอยู่ด้วยความสงบสุข ไม่คิดปรุงอารมณ์เครื่องก่อกวน
การพักสงบจิตในลักษณะเช่นนี้จะนานหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามฐานะของจิต ซึ่งควรจะทรงตัวอยู่ได้ บางเวลาก็พักอยู่ได้นาน บางเวลาก็ไม่นาน แล้วถอนขึ้นมา จากนั้นก็ทำหน้าที่ต่อไปอีก ตามแต่จะเห็นควรของผู้บำเพ็ญ เมื่อทราบผลเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็พอมีทางทราบอุบายวิธีต่างๆ เพื่อให้จิตมีความสงบยิ่งๆขึ้นไป และพักอยู่ได้นาน
ต่อไปนี้เป็น “ปัญญาอบรมสมาธิ” ปัญญาอบรมสมาธิ นั้นเป็นธรรมที่ควรนำมาใช้ในเวลาที่จิตมีความฟุ้งซ่านรำคาญจนเกินควร เช่น จิตประสบเหตุการณ์ต่างๆจนเกิดความเสียอกเสียใจอย่างรุนแรง หรือเกิดความเพลิดเพลินจนเกินตัว ปัญญาทำการพิจารณาหักห้ามกีดกันจิตที่กำลังฟุ้งซ่านกับอารมณ์ในเวลานั้น ให้จิตรู้สึกตัวด้วยเหตุผลโดยวิธีต่างๆ จนจิตยอมรับหลักเหตุผลและยอมจำนนต่อปัญญาผู้พร่ำสอนแล้วกลับตัว แล้วย้อนเข้าสู่ความสงบได้เช่นเดียวกับสมาธิอบรมปัญญา
ยกตัวอย่างเช่น เรานั่งภาวนามานานๆ เกิดทุกขเวทนา อย่างหนักขึ้นมา มีการเจ็บปวดตามแข้งขาและอวัยวะส่วนต่างๆแทบทนไม่ไหว ประหนึ่งร่างกายจะแตกไปในเวลานั้นให้ได้ เพราะทุกขเวทนาครอบงำมาก ตามธรรมดาของใจที่มีกิเลส และถือขันธ์ห้าเป็นตัวตนอยู่แล้ว ขณะที่ทุกขเวทนาครอบงำร่างกายมากๆ ใจจำต้องเป็นทุกข์ไปด้วย แสดงอาการระส่ำระสาย กระวนกระวาย อยากจะออกจากการนั่งสมาธิมาอยู่ตามลำพังบ้าง ตั้งความปรารถนาอยากให้ทุกข์ดับไปบ้าง ซึ่งความคิดทั้งนี้เป็นการส่งเสริม “สมุทัย” เพื่อผลิตทุกข์เพิ่มขึ้นที่ใจโดยไม่รู้สึกตัว
แต่ผู้ต้องการฝึกทรมานใจตามหลักธรรม เพื่อยังผลให้ประจักษ์ขึ้นกับใจโดยทางปัญญา จำต้องพิจารณาทุกขเวทนาที่เกี่ยวกับกาย และอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในกายและเวทนา ซึ่งเป็นเหตุให้เสริมทุกข์ขึ้นมาอย่างมากมาย โดยแยกเวทนากับกายออกพิจารณาด้วยปัญญา ตามหลักเหตุผลว่า กาย เวทนา และจิต เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่
ขณะทำการพิจารณาต้องทำความรู้สึกอยู่กับกายและเวทนา ไม่ยอมให้จิตเล็ดลอดส่งไปที่อื่น ทำการแยกกายและเวทนาออกดูให้เห็นชัดด้วยปัญญาว่า ทั้งกาย ทั้งเวทนาเป็นส่วนหนึ่งจากจิต แม้กายกับเวทนาก็เป็นส่วนหนึ่งจากกัน มิได้เป็นอันเดียวกันตามความสำคัญของจิต จนสามารถแยกกาย เวทนา และจิตออกจากกันได้โดยทางปัญญา ต่างก็เป็นความจริงอยู่ตามสภาพของตน จิตก็หยั่งลงสู่ความสงบ ดำรงตนอยู่เป็นเอกเทศหนึ่งจากขันธ์ ตั้งมั่นเป็นองค์สมาธิอย่างเต็มที่ในเวลานั้น กายกับทุกขเวทนาไม่ปรากฏในความรู้สึกว่ามี ปรากฏเห็นจิต เป็นของที่แปลกและอัศจรรย์อย่างยิ่งในขณะนั้น ซึ่งควรจะยึดเอาเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญด้วยวิธีนี้ต่อไป วิธีหนึ่ง
การฝึกทรมานจิตให้สงบเป็นสมาธิลงได้ด้วยทั้งจิตกำลังฟุ้งซ่านและระส่ำระสายด้วยอุบายที่กล่าวมา เรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” เพราะทำการหักห้ามจิตลงได้ด้วยความฉลาดรอบคอบของปัญญา ผู้ปฏิบัติโปรดนำไปใช้ฝึกจิตดวงพยศตามกาลอันควร จะได้รับประโยชน์เท่ากันกับวิธีปลอบโยน ที่เรียกว่า “สมาธิอบรมปัญญา”
ปัญญาอบรมสมาธินี้ ผู้บำเพ็ญมักจะเห็นผลประจักษ์ใจในเวลาไม่นานนัก เพราะความกล้าหาญต่อความเพียร เพื่อการพิจารณาทุกขเวทนา ไม่ยอมถอยหลัง ในขณะที่มีทุกขเวทนากล้าครอบงำ แต่ถ้ามีความท้อแท้และระอาต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็อาจจะไม่ปรากฏผล มิหนำทุกข์ที่เกิดขึ้นยังจะกลายเป็นข้าศึกต่อผู้นั้นอีกด้วย เพราะไม่อาจจะหาทางออกได้ด้วยอุบายของปัญญาอันแหลมคมพอๆ กัน
จะอย่างไรก็ตาม การพยายามพร่ำสอนใจโดยอุบายต่างๆนั้น ย่อมเป็นผลดีเสมอ แม้จะไม่ได้ผลอย่างสมใจเสียทีเดียว แต่ก็พอมีทางทำให้ใจคล้อยไปตามธรรมวันละเล็กละน้อย จนกลายเป็นจิตที่มีเหตุผลประจำตัวขึ้นเป็นลำดับ และกลายเป็นผู้มีธรรมในใจ ทั้งปกครองง่ายในกาลต่อไป เพราะตามธรรมดาของใจไม่มีธรรมตามรักษาย่อมมีความคะนองประจำตัว นอกจากจะไม่สังเกตเท่านั้น จึงไม่ทราบว่าจิตของตนเป็นอย่างไร
คำว่า “จิต” ได้แก่ธรรมชาติที่รู้ๆ และรับผิดชอบอยู่ในตัวของคนและสัตว์ทุกประเภท ทั้งเป็นสิ่งสำคัญมากภายในร่างกาย จึงควรรัก สงวน และอบรมให้ดี แต่ใจจะดีได้ต้องมีธรรมที่เหนือกว่า คือ สติและปัญญา
สติปัญญาในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้นำไปใช้ในกิจที่ชอบ จะไป จะอยู่ จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ควรนำสติปัญญาเข้ามาวินิจฉัยไตร่ตรองดูให้รอบคอบก่อนจะลงมือ จึงจะไม่ค่อยมีความผิดพลาดและเสียหายเกิดขึ้น
(ส่วนหนึ่งจากการแสดงพระธรรมเทศนา
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี)