• ความรู้ตัวทั่วพร้อมของสติ
ปุจฉา :
1. เวลาขึ้นรถเมล์ เวลาค่ำ เกิดได้กลิ่นอับรุนแรงจากคนยืนข้างๆ ก็รู้สึกไม่ชอบกลิ่นนั้น ไม่ถูกใจเลย สติออกมาเตือนว่า ให้รู้ว่ากลิ่นก็พอ ไม่ต้องปรุงแต่งต่อว่าหอมหรือเหม็น จิตเช่นนี้เรียกว่าวิปัสสนาหรือไม่ หรือแค่มีสติเท่านั้น
2. เวลาอยู่ในรถเมล์ ยืนอยู่ จิตบอกอยากได้ที่นั่ง จิตอีกอันก็บอกว่า กำลังโลภอยากได้ที่นั่ง หากจิตตายลงขณะนี้จะเกิดเป็นเปรต หากโกรธขึ้นมาขณะนั้นตายลงก็ตกนรก จิตถามต่อไปว่า หากตั้งจิตเป็นกลาง ไม่ให้อารมณ์แทรกเช่นเดียวกับขณะปฏิบัติสมาธิได้ หากตายทันทีจิตนั้นจะไปที่ใด
เนื่องจากเพิ่งหัดเจริญสติ แต่ได้เจริญสมาธิมานานหลายปีโดยไม่ได้เจริญสติร่วมด้วย หากไม่ถูกต้องที่ใด โปรดช่วยอธิบาย และช่วยไขข้อข้องใจในจิต จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งเจ้าค่ะ
วิสัชนา :
1. มนุษย์ทุกคนก็มีกลิ่นไม่พึงปรารถนาทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคุณรู้แล้วพิจารณาจนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่หลงยึดติด ไม่ตกเป็นทาสในร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นของตนหรือของใครๆ เป็นอยู่เพื่อจะทำหน้าที่ต่อไป เช่นนี้เรียกว่า วิปัสสนาญาณ
ที่คุณว่ามานั้นยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนาญาณ อยู่ในขั้นของสติเท่านั้น
2. คุณคิดถูกแล้ว วิถีแห่งสติ การรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะ และเป็นการรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างผ่อนคลาย มีชัยชนะ ไม่ตกเป็นทาส นี้คือลักษณะของความรู้ตัวทั่วพร้อมของสติ
• กามกิเลส
ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงปู่ ผมอยากให้หลวงปู่ช่วยให้ความกระจ่างในธรรมดังนี้ครับ
1. การที่คนเราตายที่ใด ย่อมต้องเกิดในที่นั้นๆจริงหรือไม่
2. การที่ลูกเลือกแต่สิ่งที่พึงใจ เมื่อพบสิ่งไม่พึงใจก็เป็นทุกข์ ถือว่าเป็นกามกิเลสหรือไม่ มีกุศโลบายใดชนะมันได้
3. กรรมใดที่ทำให้คนเราต้องเกิดมาร่วมชาติ และมีครูบาอาจารย์คนเดียวกัน
วิสัชนา :
1. ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับผลแห่งกรรมที่สัตว์นั้นๆทำ
2. พอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม ถือได้ว่าเป็นกิเลสทั้งนั้นแหละคุณ กุศโลบายคือ มีสติรู้เท่าทันตามความเป็นจริง และมองให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยปัญญา
3. ถ้าเกิดมา แล้วทำดีต่อกัน ก็ถือว่าเป็นกุศลกรรม แต่ถ้าเกิดมาแล้ว ต่างฝ่ายต่างจ้องจองล้างจองผลาญ ทำให้เกิดความเดือดร้อนซึ่งกันและกัน เช่นนี้ถือได้ว่า เกิดด้วยอกุศลกรรม
• รับรู้การเกิดดับของดวงจิต
ปุจฉา :
กราบองค์หลวงปู่พุทธะอิสระที่เคารพ จะต้องฝึกสติอย่างไร จึงจะรับรู้ถึงการเกิดดับของดวงจิตหลายร้อยหลายพันดวง เพียงแค่ช่วงเสี้ยวกระพริบตาครับ
วิสัชนา :
แรกๆ ก็ให้เริ่มทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทุกขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน หรือในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งก่อนก็ได้ ด้วยการรับรู้อย่างแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอิริยาบถนั้นๆ แล้วค่อยเริ่มรับรู้อิริยาบถย่อย เช่น หันซ้าย หันขวา ก้มหน้า เงยหน้า เหยียดแขน คู้แขน ยกขา ก้าวขา
ลองทำดังกล่าวแล้ว ดูจนคุณสามารถรับรู้ได้ทุกขณะของอิริยาบถนั้นๆ เหล่านี้เป็นที่มาของการรับรู้ที่ละเอียดอ่อน แม้จิตที่เกิดดับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)