xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : เครียดก่อโรค การเจริญสติแก้ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่านผู้อ่านครับ การฝึกการเจริญสติในพุทธศาสนา ทำให้จิตสงบนิ่งและวางเฉยต่อสิ่งต่างๆทั้งที่ดีและไม่ดี ช่วยให้เรามีสมาธิและควบคุมอารมณ์ได้ดี และส่งผลให้การทำงานในร่างกายสมดุล

มีแพทย์แผนปัจจุบันท่านหนึ่งใช้การเจริญสติแบบพองหนอยุบหนอ ในการรักษาโรคต่างๆ ท่านคือ ศจ.จอน คาบัท-ซินน์(Jon Kabat-Zinn) ท่านเป็นอายุรแพทย์ อยู่ที่แผนกเวชศาสตร์ป้องกันและพฤติกรรมบำบัด ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

ศจ. จอน ได้ศึกษาวิธีการเจริญสติแบบพองหนอยุบหนอ พบว่าการเจริญสติเป็นวิธีที่ง่าย แต่ลึกซึ้ง และช่วยแก้ความทุกข์ทุกชนิดของมนุษย์ได้ รวมทั้งปัญหาเรื่องสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ครั้งแรกท่านได้เปิดคลินิกคลายเครียดขึ้นที่โรงพยาบาล ให้บริการผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิตใจ ความกังวล ความเครียด อาการซึมเศร้า พบว่าได้ผลดี แก้ปัญหาความเครียด ความซึมเศร้าได้ โปรแกรมของท่านคือ โปรแกรมบำบัดความเครียดด้วยการเจริญสติ (Mindfulness-based stress reduction program หรือMBSR program) หลักสูตรนี้ใช้เวลาฝึก 8 สัปดาห์

ต่อมา ท่านได้นำมาฝึกให้นักเรียนแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และอาจารย์แพทย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านพบว่า ช่วยแก้ปัญหาความเครียดในการทำงานได้ดี ทำให้บรรดาแพทย์มีจิตใจโอบอ้อมอารีมากขึ้น รับฟังปัญหาของคนไข้ได้ดีขึ้น และเข้าใจจิตใจของผู้อื่นมากขึ้น

ปัจจุบัน ท่านได้พัฒนาหน่วยงานของท่าน โดยจัดตั้งเป็นศูนย์การเจริญสติทางการแพทย์ (Center of Mindfulness in Medicine) ท่านได้สอนให้ผู้ป่วยโรคต่างๆ เจริญสติในชีวิตประจำวัน ด้วยการดูส่วนต่างๆของร่างกาย ฝึกตามรู้ลมหายใจเข้าออก ฝึกการเจริญสติดูการเคลื่อนไหวของเท้าในการเดิน และอิริยาบถในชีวิตประจำวัน รวมทั้งบริหารร่างกายแบบโยคะ พร้อมทั้งเจริญสติไปด้วย

ผลการฝึกการเจริญสติ ทำให้โรคต่างๆ มีอาการดีขึ้นมาก มีผู้ป่วยผ่านการอบรมหลักสูตรนี้แล้ว 18,000 คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ออกมามากมาย ในเวลา 30 ปี ของสถาบันแห่งนี้ ยกตัวอย่างเช่น

การศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ต้องใช้ยาแก้ปวดตลอด เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดเส้นประสาทใบหน้า ปวดหลังเรื้อรัง ปวดต้นคอเรื้อรัง เมื่อฝึกเจริญสติเป็นเวลา 10 สัปดาห์ พบว่า อาการปวดลดลงร้อยละ 50-65 และช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้นอนหลับดีขึ้น ช่วยให้ใช้ยาแก้ปวดน้อยลงด้วย

การศึกษาในนักศึกษาแพทย์ที่มีอาการเครียด พบว่า ช่วยลดความเครียด ความกังวล และอาการซึมเศร้าลงได้ นักศึกษามีจิตใจโอบอ้อมอารี และเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น

การศึกษาในผู้ป่วยโรคเรื้อนกวาง จำนวน 37 ราย พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการฝึกการเจริญสติร่วมกับการฉายแสง จะมีรอยโรคที่ผิวหนังหายเร็วขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทั่วไป ถึง 4 เท่า

การศึกษาในผู้สูงอายุ ในสถานบริบาลผู้สูงอายุพบว่า การเจริญสติช่วยแก้ปัญหาความเครียด อาการซึมเศร้า ช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น นอนหลับได้ดี และอัตราตายลดลง

ปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้ได้ฝึกบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพออกไปทั่วโลก เมื่อ ศจ.จอน คาบัท-ซินน์ เกษียณอายุ ผู้ที่มาเป็นผู้อำนวยการแทนคือ ดร.ซากิ ซานโตเรลลี่ (Saki Santorelli)

ท่านผู้อ่านอาจจะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากwww.umassmed.edu/cfm หรืออาจจะเข้าไปฟังคำบรรยายเกี่ยวกับงานการเจริญสติทางการแพทย์ได้โดย เข้าไปที่ youtube.com แล้วพิมพ์คำว่า jon kabat-zinn ก็จะมีหัวข้อให้ฟังมากมาย

ผู้เขียนขอแนะนำหัวข้อที่น่าสนใจ คือ Mindfulness with Jon Kabat- Zinn และ Mindfulness Stress Reduction And Healing

นอกจากนั้น ท่านยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสติไว้มากมาย ลองเข้าไปดูได้ใน www.amazon.com (ซึ่งนอกจากจะเป็นเว็บขายหนังสือแล้ว ยังสามารถคลิกอ่านหนังสือที่ต้องการก่อนที่จะตัดสินซื้อได้ด้วย) แล้วพิมพ์ชื่อ jon kabat-zinn เล่มที่ผู้เขียนขอแนะนำคือ Full catastrophe Living และ Wherever You Go, There You Are (เป็นหนังสือขายดีที่สุดของประเทศ) หนังสือทั้งสองเล่มนี้ จะทำให้เราเข้าใจถึงแนวความคิดและวิธีการที่ท่านใช้โดยละเอียด

ศจ.จอน คาบัท-ซินน์
“บิดาแห่งการเจริญสติทางการแพทย์”

ศจ.จอน คาบัท-ซินน์
เป็นคนแรกที่นำการเจริญสติมาใช้ในทางการแพทย์ และได้วางรากฐานการศึกษาทางด้านนี้ไว้ในอเมริกา รวมทั้งได้สร้างศูนย์การเจริญสติทางการแพทย์ และบุกเบิกงานด้านนี้มาไม่ต่ำกว่า 40 ปี มีงานวิจัยออกมามากมายจนเป็นที่แพร่หลายในอเมริกา

ศจ.จอน เป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง เขาจึงได้รับการยกย่องว่า เป็น “บิดาแห่งการเจริญสติทางการแพทย์” ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา และกล่าวถึงอย่างมาก

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
บรรยากาศการเรียนการสอน การฝึกเจริญสติ
บรรยากาศการเรียนการสอน การฝึกเจริญสติ


ศจ.จอน คาบัท-ซินน์
ศจ.จอน คาบัท-ซินน์
กำลังโหลดความคิดเห็น