xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.รพ.หนองม่วงไข่ คว้ารางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทปี 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.รพ.หนองม่วงไข่ คว้ารางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทปี 54 เผยโรงพยาบาลเน้นหลักเศรษฐกิจพอเพียง และศาสนา ย้ำเป็นหมอที่ดีได้ไม่จำเป็นต้องอยู่ชนบท

วันนี้ (1 ส.ค.) ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2554 และนพ.มงคล ณ สงขลา แพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี 2518 และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมแถลงข่าว และแสดงความยินดีในการ "ประกาศผลและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2554"

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2516 เพื่อเป็นกำลังใจแก่แพทย์ผู้อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์ และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ โดยเฉพาะบัณฑิตแพทย์ที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในชนบท ให้มีทัศนคติที่ดีและมองเห็นคุณค่าของการทำประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน และสังคมในชนบท สำหรับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2554 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้คัดเลือกให้ นพ.สมศักดิ์ โสฬสลิขิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองม่วงไข่ จ.แพร่ ซึ่งแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คนที่ 38

รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการการคัดเลือกแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทในปีนี้ได้มีการเสนอรายชื่อแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทให้คณะกรรมการพิจารณาทั้งสิ้น 21 คน เมื่อพิจารณาแล้วจึงได้เดินทางไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานครั้งสุดท้ายเหลือ 13 คน และมีการสัมภาษณ์ทั้งผู้ร่วมงาน และผู้มารับบริการ โดยจากการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นควรว่า นพ.สมศักดิ์ โสฬสลิขิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองม่วงไข่ จ.แพร่ สมควรได้รับรางวัลครั้งนี้ ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ เป็นศัลยแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลจังหวัด และเปลี่ยนตัวเองมาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นแบบอย่างเผยแพร่ไปสู่ประชาชน จนได้รับการยกย่องเป็นศูนย์การเรียนรู้บริการสาธารณสุขตามแนววิถีพอเพียง และยังเน้นการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ออกกำลังกายรักษาสุขภาพ เพื่อส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชนด้วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจ ซึ่งจริงๆรางวัลนี้เป็นของทุกคนในองค์กร รวมทั้งเครือข่าย ซึ่งต้องขอขอบคุณคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรรมการที่เดินทางไปหลายร้อยกิโลเมตร เดินทางไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล และขอบคุณทุกคนที่เมตตากรุณาพวกเราเป็นอย่างดี และขอบคุณสมาชิกครอบครัวที่ให้กำลังใจตลอด อย่างไรก็ตาม สำหรับหลักการทำงานนั้น ตนใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะช่วงแรกโรงพยาบาลประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาจากระบบประกันสุขภาพของประเทศมีการเปลี่ยนแปลง จัดสรรงบประมาณแนวใหม่ ทำให้โรงพยาบาลปรับตัวไม่ทัน กล่าวคือ ประชากรมีจำนวนน้อยราวหมื่นกว่าคน การได้รับเหมาจ่ายรายหัวทำให้คิดคำนวณน้อยลงไปด้วย ซึ่งไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังเน้นคำสอนของศาสนาพุทธ คือ การมีสติ สมาธิ โดยให้อยู่กับปัจจุบันอีกด้วย

“ปัญหาที่สำคัญคือ เป็นหนี้ค่ายา แม้แต่สายสวนปัสสาวะเส้นละ 20 บาท ทางบริษัทยังไม่ยอมส่งให้ เพราะโรงพยาบาลไม่มีเครดิต จนผมต้องไปยืมโรงพยาบาลข้างๆ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในการให้บริการ คือ บุคลากรน้อย บางครั้งป่วยก็ยังต้องมาทำงาน บางกรณีคนไข้รอตรวจมาก บางคนรอไม่ไหวมีผลักประตูเข้าไปเพื่อแย่งตรวจก่อนก็มี อีกทั้ง ในชุมชนเองก็มีปัญหา เรื่องการใช้จ่ายเงินที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต และสุขภาพกายตามมา ที่สำคัญชาวบ้านยังทำเกษตรที่เพิ่งพาสารเคมีมากเกินไป ปัญหาต่างๆ ทำให้กลับมาคิดว่าจะต้องพัฒนาโดยเริ่มจากในชุมชน ให้ส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่เน้นการรักษาอย่างเดียว รวมทั้งต้องพัฒนาจิตใจโดยใช้หลักศาสนา เพื่อให้ชาวบ้านมีสุขภาพจิตดีด้วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรจะแก้ปัญหาภาพรวมได้ ทั้งปัญหาทางการเงินของโรงพยาบาล และปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน สุดท้ายมาหยุดที่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยึดหลักคำสอนพระพุทธทาส ให้มีสติ มีสมาธิ เพราะหากมีสติก็จะแก้ปัญหาได้ โดยเริ่มแรกคือ ตนทำตัวเป็นแบบอย่าง ใช้ในสิ่งที่จำเป็น ประหยัดน้ำประหยัดไฟ จากนั้นจึงหาแนวร่วมในโรงพยาบาล โดยเริ่มใช้หลักการต่างๆ ในปี 2550 ซึ่งเริ่มแรกมีบุคลากร 110 คน ได้ชวนทำงานด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทางศาสนา โดยเริ่มพัฒนาจิตตัวเองก่อน คือ ให้สวดมนต์ทำสมาธิ 3 เวลา เริ่มจาก 8.00 น. 15.00 น. และ20.00 น. ซึ่งไม่ได้บังคับ ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ การทำวิธีเหล่านี้จะช่วยให้บุคลากรมีสติ ในการทำงาน และผู้ป่วยที่มารับบริการ เมื่อได้ยิน นานๆเข้าก็เริ่มเข้าร่วม ปัญหาการรอคิว ที่เคยใจร้อนแย่งกันตรวจ ก็มีสติ ปัญหาก็เริ่มลดลง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการบริหารแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลนั้น เน้นการประหยัดงบประมาณ ทั้งค่าน้ำค่าไฟ และมาตรการสำคัญคือ การใช้ยาให้น้อยที่สุด แต่ยังคงคุณภาพที่ดีในการให้บริการคนไข้ ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาได้ใช้วิธีลดการใช้ยาแก้ปวด ซึ่งเดิมเคยอยู่โรงพยาบาลร้องกวาง จ.แพร่ เคยใช้วิธีดังกล่าว และให้ผู้ป่วยยึดหลักศาสนา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีเจ็บมีปวดได้ก็จะหายได้ โดยให้ผู้ป่วยเจริญภาวนา นั่งสมาธิ แทนการใช้ยา ซึ่งไม่ได้ก่อประโยชน์เสมอไป จากวิธีนี้ที่ใช้ในโรงพยาบาลร้องกวาง สามารถลดค่าใช้จ่ายยาแก้ปวดได้เดือนละ 7 แสนบาททีเดียว จึงนำแนวทางดังกล่าวมาใช้กับโรงพยาบาลหนองม่วงไข่ นอกจากการใช้ยา ยังลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งการทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงภายในบริเวณโรงพยาบาล ซึ่งมี 30 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้ ส่วนหนึ่งยังนำมาบริโภคภายในโรงพยาบาล ที่สำคัญผลผลิตเหล่านี้ยังปลอดภัย เพราะเป็นเกษตรปลอดสารพิษ ไม่เพียงทำในโรงพยาบาล ยังกระจายความรู้ไปยังชุมชน ทั้งเรื่องการปรับสภาพดินให้ดีจนสามารถปลูกข้าวได้ ตรงนี้ยังส่งเสริมสุขภาพอย่างหนึ่ง เพราะได้ออกกำลังกาย ได้ทานอาหารที่ปลอดสารพิษ ไม่เน้นแค่การรับบริการจากโรงพยาบาลเท่านั้น

“การที่ผมหันมาใช้แนวคิดเหล่านี้ เพราะว่าที่ผ่านมาใช้มาหลายวิธี ยึดแต่แนวทางฝรั่งก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่หลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้สอนมามากกว่า 30 ปี และมีตัวอย่างเห็นชัด ประกอบกับมีศูนย์การเรียนรู้ทุกภาค และประสบความสำเร็จหมด ผมจึงนำหลักของพระองค์ท่านมาใช้ ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล จากเดิมมีปัญหา ขณะนี้โรงพยาบาลหนองม่วงไข่อยู่ในสภาวะสมดุล ไม่มีปัญหาการเงิน สามารถจ่ายโอทีให้กับบุคลากรสาธารณสุขได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว และว่า ในส่วนนักศึกษาแพทย์ที่กำลังศึกษาอยู่ คงไม่ชี้นำว่าต้องมาทำงานที่ชนบท หรือที่ไหนจึงจะเป็นคนดีได้ เพราะทุกคนสามารถเป็นคนดี ทำประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในเมือง หรือในชนบท ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า จึงไม่อยากให้คิดตามกระแสว่า เป็นแพทย์ชนบทจึงจะทำดีได้เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น