ใครจะเชื่อว่านักวิ่งที่กวาดรางวัลในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติมามากมายอย่างชายหนุ่มคนนี้ จะเป็นผู้ที่มีดวงตามืดมิดทั้งสองข้าง แต่เขาไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา
นอกจากจะสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ในสนาม เอาชนะอุปสรรคนานัปการที่ถาโถมเข้ามา เอาชนะร่างกายที่ไม่ได้มีครบ 32 แล้ว ที่สำคัญที่สุดเขายังสามารถ เอาชนะใจตัวเองได้อีกด้วย
• วันที่โลกมืดมิด
‘กฤษณะ จอฉุย’ คือเจ้าลมกรดประเภทนักวิ่งตาบอดสนิท และเป็นหนึ่งในฮีโร่ของนักกีฬาไทยในเอเชี่ยนพาราเกมส์ครั้งที่ผ่านมา เขาไม่ได้ตาบอดมาแต่กำเนิด หากแต่โชคร้ายต้องสูญเสีย ดวงตาเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ในวัย 25 ปี ขณะที่กำลังขับรถจักรยานยนต์ ไปส่งลูกน้องที่ชุมแพ จ.ขอนแก่น
หลังจากสลบไปและมาฟื้นอีกทีที่ โรงพยาบาลขอนแก่น เขาก็พบว่า ตัวเองไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ความที่เป็นคนมองโลกในแง่ดีและมีจิตใจเข้มแข็ง เขาจึงสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายมาได้ และลุกยืนได้อีกครั้ง แม้ครั้งนี้เขาจะมองไม่เห็นทางเพราะต้องสูญเสียดวงตา แต่ทว่าเขายังมี ‘หัวใจ’ ที่ใช้นำทาง
“คือผมเกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 2542 ช่วงกลางคืน ผมขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งลูกน้อง แถวชุมแพ ไปชนกับท้ายรถส่งอ้อย จากนั้นก็ไม่รู้เรื่องอีกเลย มารู้ตัวอีกทีก็นอนอยู่ที่โรงพยาบาลขอนแก่นแล้ว ไม่รู้ว่ามาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง
ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่าจะมองไม่เห็น ก็เริ่มคิดว่า ถ้ามองไม่เห็นแล้วเราจะดำเนินชีวิตต่อไปยังไง ก็ต้องหาวิธีว่าจะทำยังไงให้เราอยู่ได้ แต่ก่อนเราทำงานได้ ถ้าตาบอดแล้วทำงานไม่ได้ จะทำยังไงต่อไป ผมก็นอนคิดอยู่ พอดีมีญาติที่เขาเคยประสบอุบัติเหตุแล้วตาบอดเหมือนกัน แม่เขาก็มาแนะนำให้ไปเรียนใช้ไม้เท้าและเรียนนวดแผนไทยที่ศูนย์คนพิการปากเกร็ด จ.นนทบุรี โชคดีที่เราได้ไปเรียนตรงนั้น
คือผมไม่ได้มานั่งเศร้าโศกเสียใจท้อแท้กับชะตาชีวิต คิดฆ่าตัวตายอะไร ผมมองไปข้างหน้าอย่างเดียว เรามีพ่อแม่ แล้วก็มีครอบครัว มีลูกชาย ตอนนั้นเพิ่งอายุ 4 ขวบเอง ทำไงได้ ก็ต้องสู้ต่อไป ผมก็มีพวกเขานี่แหละที่เป็นกำลังใจทำให้ผมยืนหยัดมาได้ถึงทุกวันนี้” กฤษณะเล่าถึงช่วงชีวิตที่เขาประสบเคราะห์กรรมจนต้องสูญเสียดวงตา
หลังจากเรียนการใช้ไม้เท้าเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตและไปไหนมาไหนได้ไม่ต่างจากคนปกติ และหาช่องทางทำมาหากินด้วยการเรียนนวดแผนไทยจนจบหลักสูตรแล้ว กฤษณะก็ได้ไปทำงานเป็นหมอนวดแผนไทยที่ร้านของเพื่อนคนหนึ่ง และรับจ้างนวดทั่วไป ทำให้พอมีรายได้เลี้ยงตัว และยังมีเงินส่งไปให้แม่ที่ต่างจังหวัดด้วย เพื่อเป็นค่าจ่ายในการเลี้ยงดูลูกชาย ซึ่งเขาฝากให้ช่วยเลี้ยงหลังจากที่ภรรยาทอดทิ้งไป
แม้รายได้จากการนวดเดือนละ 8,000 -9,000 บาท จะถือว่าไม่มากมายนักหากเทียบกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบันและภาระที่ต้องรับผิดชอบ แต่เขาสามารถเลี้ยงดูและส่งเสียลูกชายให้ได้เรียนหนังสือมาจนทุกวันนี้
• เข้าสู่แวดวงกีฬา
คว้ารางวัลมากมาย
กฤษณะเริ่มเข้าสู่แวดวงกีฬาตั้งแต่เขายังเรียนนวดแผนไทยอยู่ที่ศูนย์คนพิการปากเกร็ด เนื่องจากเวลามีการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ ทางศูนย์ฯก็จะได้โควต้าในการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันด้วย และด้วยความที่ชอบเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ยังไม่ประสบอุบัติเหตุ และมีฝีไม้ฝีมือถึงขั้นเป็นนักฟุตบอลในทีมตัวแทนอำเภอ
กฤษณะจึงสมัครและเข้าคัดตัวเป็นนักกีฬาโกลบอล เพื่อร่วมแข่งขันในกีฬาระดับประเทศ ซึ่งเขาก็ผ่านคัดเลือกได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้นยังได้เป็นตัวแทนในการแข่งขันยูโดด้วย ต่อมาโค้ชเห็นแววในการเป็นนักวิ่ง จึงชักชวนให้เขามาเป็นหนึ่งในทีมนักกีฬาเจ้าลมกรด
“ผมว่าผมโชคดีที่เคยมองเห็นมาก่อน เมื่อตาบอด เราก็ยังจำได้ว่าอาบน้ำแปรงฟันยังไง จับช้อนกินข้าวยังไง ก็เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่ช่วงกลางคืน มาเล่นกีฬาก็คล้ายๆกัน แต่เราต้องอาศัยฟังเสียงและจำทิศทางด้วย ต้องรู้ว่าทิศเหนือ-ใต้-ออก-ตก อยู่ทางไหน
อย่างยูโดนี่จะให้จับเสื้อคู่ต่อสู้ไว้ตลอดเวลา เราก็จะกะได้ว่าขาคู่ต่อสู้อยู่ตรงไหน จะจับทุ่มยังไง ตอนแข่งครั้งแรกผมได้เหรียญทองจากแข่งขันยูโดนะ แต่โกลบอล ไม่ได้เหรียญ (หัวเราะ) จากนั้นผมก็ลงแข่ง ประเภทอื่นๆด้วย ทั้งพุ่งแหลน ทุ่มน้ำหนัก ขว้างจักร ก็ได้เหรียญมาเยอะ ทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง
ส่วนที่ได้เข้ามาอยู่ในทีมชาติ เพราะตอนที่ไปแข่งกีฬาระดับประเทศที่ราชบุรี บังเอิญไปชนะทีมชาติในกีฬาพุ่งแหลน โค้ชเขาก็เลยชวนให้ผมเข้าร่วมเป็นตัวทีมชาติ พอไปคัดตัวก็ผ่าน ครั้งแรกได้ไปแข่ง อาเชียนพาราเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2548 แต่ว่าครั้งนั้นผมไม่ได้เหรียญ และในทีมมีผมคนเดียวที่ไม่ได้เหรียญ ซึ่งโค้ช เขาเห็นว่ายังเหลือการแข่งขันวิ่งผลัด 4 คูณ 4 อยู่ เลยจับผมลงแข่งด้วย ผมก็เลยได้เหรียญเงินกลับมา ทำให้เรามีกำลังใจว่าแข่งทีมชาติครั้งแรกเราก็ยังมีผลงาน
แต่ผมเพิ่งมาลงแข่งวิ่งอย่างจริงจังในการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 9 ที่ประเทศมาเลเซีย ในปี 2549 ได้มา 3 เหรียญทองแดง จากวิ่ง 200 เมตร 400 เมตร และวิ่งผลัด 4 คูณ 400 เมตร คือโชคดีที่ได้พี่วิษณุ โสภานิช อดีตนักวิ่งทีมชาติซึ่งเป็นคนปกติ มาเป็นไกด์รันเนอร์ หรือคนพาวิ่ง ซึ่งเขาจะวิ่งคู่ไปกับเรา พี่เขาก็ช่วยสอนเทคนิคต่างๆให้
ซึ่งไกด์รันเนอร์นี่สำคัญนะครับ เพราะต้องเป็นคนที่สามารถสื่อถึงกันได้แบบมี หัวใจดวงเดียวกันเลย คือเรามองไม่เห็น แต่เราต้องวิ่งอยู่ในลู่ของเรา ไม่งั้นโดนปรับฟาล์ว ทีนี้ถ้าเราออกไปทางขวามากไป ไกด์ฯก็จะกระตุกเราเข้ามา บอกว่าขวามากไปแล้ว ชิดซ้าย..ชิดซ้าย..ไกด์รันเนอร์คนปัจจุบันก็คือคุณปัจจัย ศรีคำพันธ์ เป็นนักวิ่งทีมชาติเหมือนกัน ก็ต้องขอบคุณพี่ๆ เขาด้วยครับ” กฤษณะเล่าถึงเส้นทางที่ทำ ให้เขาก้าวเข้าสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ
กฤษณะกวาดเหรียญรางวัลจากการแข่งขันมามากมาย อาทิในการแข่งขันกีฬา อาเชียนพาราเกมส์ เมื่อปี 2551 ซึ่งประเทศ ไทยเป็นเจ้าภาพ เขาก็สามารถคว้ารางวัลจากแข่งขันวิ่งในประเภทต่างๆ มาได้ถึง 5 เหรียญ คือ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง หรือการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2554 เขาก็กวาดมาได้ถึง 5 รางวัล คือได้ 3 เหรียญทอง จากการ วิ่ง 100 เมตร วิ่งผลัด 4 คูณ 100 เมตร และวิ่งผลัด 4 คูณ 400 เมตร และได้ 2 เหรียญเงิน จากการวิ่ง 200 เมตร และ 400 เมตร
แต่ที่เขาประทับใจที่สุดคือการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนพาราเกมส์ ครั้งที่ 10 ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน เมื่อปี 2553 กฤษณะได้มาถึง 4 เหรียญทอง จากการ วิ่ง 100 เมตร 200 เมตร 400 เมตร และวิ่งผลัด 4 คูณ 100 เมตร ที่สำคัญในการวิ่ง 200 เมตร เขายังสามารถทำลายสถิติเอเชียที่นักวิ่งจีนเคยทำไว้ที่ 24.11 วินาที ด้วยเวลาเพียง 24.08 วินาทีอีกด้วย
• แรงบันดาลใจคือในหลวง
กฤษณะบอกว่าที่เขาประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬาคนพิการทีมชาติได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเขามีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เขามีความพยายาม อดทน และมุมานะ ด้วยตั้งใจที่จะคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันในระดับนานชาติ เพื่อประกาศศักดิ์ศรีของประเทศไทย ซึ่งเขาถือว่าเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่พิการอย่างเขาจะสามารถทำเพื่อถวายแค่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ผมอยากจะเดินตามรอยพระบาทของในหลวง พ่อของพวกเราคนไทยครับ พระองค์ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเสียสละและทรงทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้คนไทยทั้งประเทศ
การแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 8 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ พระองค์ทรงมุ่งมั่น ทรงชนะเลิศเหรียญทอง เพราะพระองค์เห็นว่า นี่คือศักดิ์ศรีของคนไทย
ผมเองถึงจะเป็นแค่คนตาบอดคนหนึ่ง แต่ถ้าสามารถทำตรงนี้ถวายพระองค์ได้ ก็ถือว่า เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตแล้วครับ
เป้าหมายต่อไปของผมก็คือการได้มีโอกาสเข้าแข่งขันในพาราลิมปิคเกมส์ ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคสำหรับคนพิการ ตอนนี้เราก็ฝึกซ้อมหนักมาก เพื่อเตรียมตัวไปแข่งวิ่งเพื่อคัดตัวในต่างประเทศ เราต้องติด 1 ใน 8 ของโลกให้ได้ถึงจะไปแข่งในพาราลิมปิคเกม ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ” กฤษณะพูดถึงเป้าหมายและแรงบันดาลใจ
• มุ่งมั่นเรียนต่อ เพราะการ
ศึกษาคือหนทางแห่งปัญญา
นอกจากจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักกีฬาทีมชาติแล้ว การศึกษาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กฤษณะให้ความสำคัญ เพราะเขามองว่าการศึกษาคือหนทางแห่งปัญญา ดังนั้น แม้เขาจะพิการทางสายตา ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาตามปกติ แต่กฤษณะก็ไม่ย่อท้อ เขาหันมาเรียนอักษรเบรลล์ แทนการเรียน กศน.ที่กำลังเรียนอยู่ในช่วงก่อนเกิดอุบัติเหตุ หลังจากที่ใช้เวลาเรียนอักษรเบรลล์อยู่ 1 ปี ก็สมัครเข้าเรียน กศน.ของคนตาบอดในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และขณะนี้เขากำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ราชภัฏวิทยาเขตสุโขทัย
“ก่อนเกิดอุบัติเหตุผมกำลังเรียนกศน. ในระดับมัธยมต้น พอตาบอดผมก็ไปเรียนอักษรเบรลล์ ซึ่งก็ยากกว่าคนที่เขาตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด เพราะทักษะในการคลำเราสู้เขาไม่ได้ ก็ปวดหัวเหมือนกัน พอเรียนอักษเบรลล์จบแล้วก็มาต่อกศน. ระดับมัธยมปลาย แล้วตอนนี้ก็กำลังเรียน ต่อปริญญาตรี ที่ราชภัฏสุโขทัย”
เจ้าลมกรด วัย 35 ปีคนนี้ยังเผยถึงเคล็ดลับในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขว่า เขาเป็นคนชอบออกกำลังกาย เป็นคนไม่เครียด ไม่หมกมุ่นกับปัญหา แต่มองว่าปัญหาต่างๆเป็นเพียงบททดสอบใหม่ๆในชีวิต ที่สำคัญคือมองไปยังเป้าหมายที่อยู่ข้างหน้าเพียงอย่างเดียว
“ผมเป็นคนไม่เครียด มองไปข้างหน้าอย่างเดียว คือเรามีกำลังใจจากคนรอบข้าง เราอย่าไปท้อถอย พอเรามีกำลังใจมันก็มี พลังขึ้นมาเองนะครับ ก็เลี้ยงลูกชายมา จนตอนนี้เขาอายุ 16 เรียนอยู่มัธยมแล้ว ผมก็ทำงานหาเงินส่งไปให้แม่ช่วยเลี้ยง เวลากลับไปบ้าน ผมกับลูกชายก็จะคุยกัน นอนด้วยกัน กอดกันอยู่ เขาก็ภูมิใจในตัว พ่อเขานะ การเป็นนักกีฬาก็เป็นหนึ่งในความฝันของผม เป็นสิ่งที่ผมทำแล้วมีความสุข ก็จะพยายามทำเวลาให้ดี ถ้ายังมีแรงอยู่ก็ต้องสู้ต่อไป” กฤษณะบอกยิ้มๆ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย กฤตสอร สิ่งคงสิน)