xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ :10 ผลดี ที่ได้จากการทำสมาธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในอดีต..เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรมทำสมาธิเจริญภาวนา ก็เห็นจะมีแต่คนแก่เท่านั้นที่ปฏิบัติ

แต่ยุคนี้... การปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ได้กลายเป็นเทรนด์สุดฮิตของผู้คนในสังคม ซึ่งมีทั้งเด็ก วัยรุ่น คนหนุ่มสาว พากันมาเรียนรู้วิธีการปฏิบัติสมาธิ

มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เล็งเห็นผลดีและประโยชน์หลายอย่างของการปฏิบัติสมาธิ ทั้งคนในแวดวงการศึกษา กีฬา บุคคลมีชื่อเสียง นักธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ที่หันมาทำสมาธิ หรือนำมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

มาดูกันให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าการทำสมาธิดีต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร

1. ลดความเครียด

ความเครียดได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ที่ชีวิตมีแต่เร่งรีบ ส่งผลให้ยาคลายเครียดขายดี แต่กินยาคลายเครียดมากไปก็จะส่งผลร้ายต่อร่างกาย

จึงมีคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่า ให้ใช้การทำสมาธิต่อสู้กับความเครียดและวิตกกังวล เพราะบรรดานักวิจัยค้นพบว่า การทำสมาธิเป็นวิธีที่ให้ผลดี ช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินในร่างกาย ซึ่งช่วยลดอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ และปวดศีรษะ ส่งผลให้คนที่ปฏิบัติสมาธิมีพฤติกรรมและอารมณ์ดีขึ้น

2. ทำให้สุขภาพดี

การทำสมาธิช่วยให้ผู้ปฏิบัติเป็นประจำมีสุขภาพองค์รวมดี เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเครียดส่งผลร้ายต่อร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ อาการผิดปกติทางการกิน (ไม่อยากอาหาร และอดอาหาร เพราะกลัวอ้วน กับการอยากอาหารมากผิดปกติและล้วงคออาเจียน เพราะคลั่งผอมเหมือนนางแบบ) ฯลฯ

เมื่อการทำสมาธิช่วยคลายเครียดได้ ก็จะป้องกันโรคต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะวิตกกังวลไม่ให้ก่อตัว อาทิ อาการปวดก่อนมีประจำเดือน โรคหัวใจ รวมถึงช่วยแก้ไขการผิดปกติทางการกินที่เป็นอาการของโรคจิตชนิดหนึ่งด้วย

3. ใจเป็นสุข


คนส่วนใหญ่มักแสวงหาวัตถุนอกกาย เพราะคิดว่ามันจะนำความสุขมาให้ ซึ่งอาจเป็นแค่ความสุขชั่วครู่ หลังจากนั้นก็ต้องแสวงหาสิ่งใหม่ วนเวียนเช่นนี้ไม่รู้จบ

แต่การทำสมาธิทำให้เราเข้าถึงความสุขแท้จริงอันเป็นนิรันดร์ ช่วยให้เราใช้ชีวิตสอดคล้องกับตัวตนภายใน ในทุกสภาพแวดล้อมได้อย่างมีความสุข

4. รักษาสมดุลกาย-ใจ

มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า การทำสมาธิเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยในการรักษาสมดุลด้านจิตใจ อารมณ์ และร่างกายอย่างได้ผล ทำให้เราถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกน้อยลง

การทำสมาธิแบบกำหนดลมหายใจ หรือที่เรียกว่า อาณาปานสติ จะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายอย่างลึกซึ้ง เมื่อปฏิบัติเป็นประจำ จะทำให้สุขภาพแข็งแรง

5. ชีวิตเป็นธรรมชาติ

ชีวิตในปัจจุบันมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม แต่การปฏิบัติสมาธิเป็นประจำสามารถช่วยให้เราดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายได้ สามารถเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าสรรพสิ่งธรรมดาที่อยู่รอบตัว และถอยห่างจากความสัมพันธ์และสถานการณ์ที่อาจทำให้ชีวิตของเราสับสนวุ่นวาย

ปัญหาและความกังวลต่างๆในชีวิตประจำวัน จะส่งผลกระทบต่อตัวเราน้อยลงเรื่อยๆ ชีวิตก็จะเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

6. ใจสงบและมีเหตุผล

การทำสมาธิช่วยให้ใจสงบและมีเหตุผลมากขึ้น ปกติความคิดของเรามักวนเวียนอยู่กับเรื่องในอดีตและอนาคต ซึ่งขัดขวางไม่ให้เรามีความสุขอยู่กับปัจจุบันได้อย่างเต็มที่

ขณะทำสมาธิ จิตจะโฟกัสเรื่องปัจจุบันขณะ ไม่วอกแวก ส่งผลให้เกิดความคิดอ่านอย่างมีเหตุผล

7. สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น

หากคิดปรับปรุงความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ดีขึ้น ควรฝึกทำสมาธิ เพราะจะทำให้เราเรียนรู้ที่จะมองข้ามข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆของคนอื่น และยอมรับในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่แบบที่เขาควรจะเป็น

อีกทั้งยังสนับสนุนความมีเอกลักษณ์โดยไม่ต้องแบ่งแยก เพราะเราตระหนักรู้ถึงความเป็นตัวตนของตัวเรา เราจึงเคารพ และยอมรับความเป็นตัวตนของบุคคลอื่นด้วย และเมื่อเราให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องดีๆของเขา เรื่องด้อยในตัวเขาก็จะกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปโดยปริยาย

8. ระบบในร่างกายทำงานดีขึ้น

ขณะปฏิบัติสมาธิ ระบบไหลเวียนโลหิตและการเผาผลาญอาหารในร่างกายจะทำงานดีขึ้น สร้างพลังงานได้เต็มที่ ทำให้เกิดเรี่ยวแรงที่จะทำงาน หรือทำกิจกรรมต่างๆอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย มีอารมณ์แจ่มใส อันจะส่งผลดีต่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน

9. สร้างความมั่นใจในตัวเอง

การทำสมาธิช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเอง ชื่นชมสิ่งดีๆที่เรามีอยู่ในตัวเอง และเริ่มนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์

เมื่อปฏิบัติสมาธิเป็นประจำ จะช่วยให้ความจำ สมาธิและสติปัญญาดีขึ้น ผลที่ตามมาคือ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เพราะฉะนั้น การพัฒนาตนเองคือผลลัพธ์ โดยธรรมชาติของการทำสมาธินั่นเอง

10. ค้นพบตัวเอง

การทำสมาธิช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะค้นหาตัวเอง เพิ่มความตระหนักด้านจิตวิญญาณ ช่วยให้เราควบคุมความคิด และทำจิตให้สงบ อีกทั้งยังช่วยให้เราดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ จนบรรลุผลสำเร็จ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย เบญญา)

กำลังโหลดความคิดเห็น