xs
xsm
sm
md
lg

กสร.ส่ง จนท.เคลียร์ค่าจ้าง 300 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิบดี กสร.ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เน้น 7 จังหวัดขยับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ-ลูกจ้างให้ตรงกัน หวั่นนำสวัสดิการมารวม เฝ้าระวังแรงงานเดิมที่ค่าจ้างสูงกว่า 300 บาท ขัดแย้งกับนายจ้าง เหตุเรียกร้องขยับค่าจ้าง

วานนี้ (26 มี.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเตรียมความพร้อมรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ใน 7 จังหวัด ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ว่า ตนจะเดินทางไปมอบนโยบายและซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติงานของหัวหน้าส่วนราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศในวันที่ 27-28 มีนาคม นี้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ จะเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดมีแนวคิดและทิศทางในการทำงานที่ตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องการให้คำแนะนำการปรับเพิ่มค่าจ้างอีกร้อยละ 40 ใน 77 จังหวัด ซึ่งทำให้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และภูเก็ตค่าจ้างปรับเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท

“ผมเชื่อว่า นายจ้างยอมปรับค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ให้แรงงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้แน่นอน แต่ฝ่ายแรงงานเอง ก็ต้องมีการพัฒนาตนเองให้เหมาะสมกับค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจและรู้สึกว่าการปรับค่าจ้างเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น” อธิบดี กสร.กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของ กสร.ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการ และลูกจ้าง เพื่อให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเน้นพื้นที่โรงงานหนาแน่นโดยเฉพาะจังหวัดปริมณฑล เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาการนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง เพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท จึงอยากให้นายจ้างและลูกจ้างเกิดความเข้าใจและปฏิบัติตรงกัน

อธิบดี กสร.กล่าวด้วยว่า ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เชื่อว่าจะไม่รุนแรง เนื่องจากมีแรงงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท จำนวนไม่มาก แต่สิ่งที่น่ากังวล และต้องเฝ้าจับตามมองเป็นพิเศษ คือ การขยับค่าจ้างให้แก่แรงงานที่มีค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าวันละ 300 บาท เพราะกลุ่มแรงงานที่ทำงานมานานย่อมต้องการค่าจ้างที่สูงกว่าแรงงานเข้าใหม่แน่นอน อีกทั้งมองว่าขณะนี้นายจ้างยังคงไม่รีบตัดสินใจปลดแรงงาน เพราะยังมีความต้องการแรงงานอยู่ ขณะเดียวกันเชื่อว่านายจ้างต้องมีความคาดหวังกับการจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นโดยอยากให้แรงงานทำงานได้ปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตผู้ประกอบการจะมีการทดสอบความสามารถในการทำงานของพนักงานว่ามีศักยภาพเพียงพอ และคุ้มค่าต่อการจ่ายค่าจ้างหรือไม่ หากประเมินไม่ผ่านอาจจะมีการปลดแรงงานงาน และเชื่อว่า ผู้ประกอบการต้องมีแนวคิดที่จะนำเครื่องจักรมาทำงานแทนคน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและลดต้นทุนการผลิตอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น