xs
xsm
sm
md
lg

สภา มรส.ชี้ อาจารย์มีหน้าที่พัฒนาตน หนุนพัฒนาภาษา-ต่อ ดร.-ทำผลงานวิชาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ฯ ระบุ การพัฒนาตนเป็นหน้าที่หนึ่งของอาจารย์

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) กล่าวระหว่างการประชุมบุคลากรสายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 ณ ห้อง GA 102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มรส.ว่า สภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระบุชัดว่า อาจารย์ไม่เพียงมีหน้าที่ในการพัฒนาผู้อื่น แต่การพัฒนาตนเองก็เป็นหน้าที่หนึ่งของอาจารย์ด้วย ดังนั้น อาจารย์ มรส.ทุกคนต้องพัฒนาตนเองใน 3 มิติต่อไปนี้ 1.พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ 2. ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก และ 3.ทำผลงานวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.), รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) โดยมหาวิทยาลัยยินดีสนับสนุนอาจารย์ในการพัฒนาตนทุกมิติอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ, การจัดหาทุนวิจัยทั้งทุนภายในและทุนภายนอก หากงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ มหาวิทยาลัยจะมีค่าตีพิมพ์ให้, การเปิดสำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นพี่เลี้ยงดูแลและให้ คำแนะนำอาจารย์ในการทำผลงานวิชาการโดยเฉพาะ, การออกค่าใช้จ่ายในการทดสอบภาษาอังกฤษให้ เป็นต้น

อธิการบดี มรส.กล่าวต่อไปว่า การจะบอกว่าต้นไม้พันธุ์ดีหรือไม่ สามารถวัดได้จาก 2 องค์ประกอบ คือ 1.รากหยั่งลึกแข็งแรง และ 2.ผลิดอกออกผลอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ หากต้นไม้นั้นมีรากแข็งแรง แต่ไม่ผลิดอกออกผล ก็เป็นเพียงต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้อย่างเดียว ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ต้นไม้พันธุ์ดีก็ได้ เช่นเดียวกัน หากต้นไม้นั้นผลิดอกออกผลจริง แต่รากไม่แข็งแรง ไม่หยั่งลึก ไม้นั้นก็สามารถล้มได้ทุกเมื่อ ดังนั้นไม้พันธุ์ดีต้องมีครบทั้ง 2 องค์ประกอบ

“ขณะนี้ มรส.เข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาตนเองอย่างเข้มข้น เอาจริงเอาจัง เมื่ออาจารย์พบกัน ไม่เพียงไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ แต่จะถามกันว่า ‘รากงอกหรือยัง’ และ ‘ออกผลหรือยัง’ ซึ่งคำว่า ‘รากงอก’ ในที่นี้หมายถึงการไปศึกษาต่อและการทำผลงานวิชาการ ส่วนคำว่า ‘ผลิผล’ หมายถึงผลงานที่เห็นเป็น รูปธรรม เช่น บทความ งานวิจัย หรือตำราวิชาการ” อธิการบดี กล่าว

ด้าน รศ.สุณีย์ ล่องประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หากอาจารย์มีการพัฒนาตน ก็ไม่ต้องกังวลกับความมั่นคงในการทำงาน เพราะคงไม่มีองค์กรใดไม่ต้องการคนคุณภาพ ดังนั้นขอให้อาจารย์ทุกท่านวิ่งเข้าสู่ลู่การพัฒนาเสียตั้งแต่วันนี้

“อีกนัยหนึ่ง การพัฒนาตนของอาจารย์ย่อมเป็นผลพวงสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยในภาพรวม มิเช่นนั้นอาจารย์จะกลายเป็นจุดอ่อนของมหาวิทยาลัยในการประเมินคุณภาพ” รองอธิการบดี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น