รมว.ศธ.มอบ สกอ.ไปทบทวนแก้ไขหลักเกณฑ์รับรองสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ หวังเปิดช่องให้ ผู้จบ ป.เอก ที่จบมาเทียบโอนวุฒิเพื่อทำงานได้ “สุชาติ” เผย ไฟเขียว มหา’ลัยอยากออกนอกระบบเสนอเข้ามาได้
ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปทบทวนว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแก้ไขกฎระเบียบของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ สกอ.ต้องจัดทำให้ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากพบว่ามีสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้การรับรองแต่ สกอ.ไม่ให้การรับรองทำให้ผู้ที่จบการศึกษาไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งตนคาดว่าน่าจะเป็นจากเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในอดีต ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน จึงได้ให้ลองไปทบทวนปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ตนไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ว่ามีสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศจำนวนกี่แห่งที่ สกอ.ไม่รับรอง แต่ทราบว่าที่ผ่านมามีผู้จบจากสถาบันอุดมศึกษาของประเทศอินเดีย และฟิลิปปินส์ ที่ประสบปัญหาลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ได้ให้แนวคิดกับทาง สกอ.ไปว่าหากมีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แห่งใดที่ต้องการพัฒนาตนเองเพิ่มแต่ติดขัดด้านงบประมาณต้องการสนับสนุนขอให้จัดทำรายละเอียดเข้ามาเสนอเข้ามา เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่ต้องการออกนอกระบบตนไม่คัดค้านก็ให้ยื่นเรื่องเข้ามาได้ ทั้งนี้ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยใดอยากจะออกนอกระบบหรืออยากจะอยู่ในระบบตนก็ให้อิสระ
ด้าน นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า รมว.ศึกษาธิการ ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ ได้มีโอกาสเทียบโอนวุฒิการศึกษาเพื่อมาเป็นอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาได้ จึงได้ให้ สกอ.ไปทบทวนหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาเทียบโอนวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก เนื่องจากที่ผ่านมานั้นสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งขาดอาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาเอก ทำให้เมื่อต้องการเปิดสอนสาขาใดเพิ่มหรือเปิดนอกที่ตั้งไม่สามารถเปิดได้ เพราะไม่มีอาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาเอกครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด