ไหนๆก็กล่าวถึงสุญญตาไปแล้ว วันนี้จะเล่าให้พวกเราฟังถึงการปฏิบัติธรรมจนเห็นสุญญตาทั้ง ๒ นัย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผู้เขียนเคยได้ยินครูบาอาจารย์วัดป่าบางรูปท่านเล่าให้ฟังมาอีกต่อหนึ่ง
แท้จริงธรรมชาติทั้งมวลเป็นสิ่งเดียวรวด คือเป็นเพียงรูปธรรมและนามธรรม ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น แต่เพราะความหลงผิดหรืออวิชชา โดยเฉพาะความไม่รู้ทุกข์ อันได้แก่ความไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับรูปนาม ซึ่งประกอบขึ้นเป็นธรรมชาตินั้นเอง จึงทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกบางส่วนของธรรมชาตินั้นออกมาเป็นตัวเรา
แล้วสร้างกำแพงที่มองไม่เห็นขึ้นมาคนละวง เพื่อแบ่งกั้นตนเองออกจากธรรมชาติภายนอกที่แวดล้อมอยู่ และขังตนเองอยู่ในขอบเขตของกำแพงนั้น จึงเกิดมีเรามีเขา มีสัตว์มีบุคคล มีภายในและมีภายนอก ฯลฯ แล้วเกิดความเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่นั้น เกิดการต่อสู้และการดิ้นรนที่จะพาตนเองหลีกหนีจากความทุกข์ และแสวงหาความสุขมาให้ตนเอง
โดยไม่ทราบว่า ทางพ้นทุกข์อันแท้จริงอยู่ที่การทำความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามที่เรียกว่าตนเอง จนหมดความหลงผิด สามารถคลายความยึดถือและสลัดคืนรูปนามให้กับธรรมชาติไปได้ ไม่ใช่พ้นทุกข์ด้วยการช่วงชิงบางสิ่งและผลักไสบางสิ่งในธรรมชาติ เมื่อสลัดรูปนามที่เรียกว่าตนเองคืนให้ธรรมชาติได้แล้ว ธรรมชาติก็จะเหลือแต่รูปนามอันเป็นกองทุกข์ แต่ไม่มีผู้เข้าไปแบกรับความทุกข์นั้นให้เป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจอีกต่อไป
การเรียนรู้รูปนาม โดยค่อยๆสังเกตความเป็นจริงของรูปนาม เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ส่วนการอ่าน การฟัง และการคิดพิจารณาธรรมะ แม้กระทั่งเรื่องรูปนาม ก็ยังไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่เบื้องต้นก็จำเป็นต้องอ่าน ต้องฟัง และต้องคิด ให้เข้าใจวิธีการเจริญวิปัสสนาได้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เสียก่อน เมื่อเข้าใจแล้วจึงค่อยๆสังเกตความเป็นจริงของรูปนามอย่างสบายๆ ต่อไป
หน้าที่ของผู้เจริญวิปัสสนา ไม่ได้อยู่ที่การพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อให้ “จิตของเรา” บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน หรือเพื่อทำลายอัตตาตัวตนซึ่งไม่ได้มีอยู่จริง ตัวอย่างของความพยายามดังกล่าวก็เช่น
(๑) การน้อมจิตไปหาความว่างและความสงบนิ่ง อันเป็นการมุ่งสู่อาเนญชาสมาบัติทั้งหลาย
(๒) การดับความรับรู้ อันเป็นการเข้าไปสู่อสัญญสัตตาภูมิหรือพรหมลูกฟัก เพราะคิดว่าจะสัมผัสนิพพานได้เมื่อไม่มีจิต โดยลืมคิดไปว่า นิพพานเป็นอารมณ์คือเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
(๓) การพยายามสลัดคืนรูปนามให้กับธรรมชาติ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การคิดอบรมสั่งสอนจิตด้วยการคิดพิจารณากาย ใจ และการทรมานกายใจเพื่อดับตัณหาอันเป็นวิธีการที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
(๔) การพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงรูปนามจากสิ่งที่ไม่เที่ยงให้เที่ยง จากสิ่งที่เป็นทุกข์ให้เป็นสุข และจากสิ่งที่บังคับไม่ได้ให้บังคับได้ เป็นต้น
หน้าที่ของผู้เจริญวิปัสสนา ไม่มีสิ่งใดให้ทำมากกว่าการค่อยๆ สังเกตจนเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามที่ประกอบกันขึ้นเป็น “ตัวเรา” ได้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
หมั่นรู้รูปนามเนืองๆ จนจิตใจเกิดความเห็นแจ้งว่า “ตัวเราไม่มี มีแต่รูปกับนาม” เพียงเท่านี้ก็พ้นจากความหลงผิดเบื้องต้นได้แล้ว
และเมื่อเจริญวิปัสสนาต่อไป ก็จะเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า รูปนามภายในที่เรียกว่า “ตัวเรา” นี้ไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา และเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งซึ่งไม่มีความสำคัญใดๆ เป็นพิเศษของธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ซึ่งก็เป็นรูปนามด้วยกันทั้งสิ้น
แต่เพราะความหลงผิดแท้ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์เป็นคน เป็นภายในและเป็นภายนอก และเป็นธรรมคู่อื่นๆ ขึ้นมา
การเห็นว่ารูปนามว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนและหาแก่นสารใดๆไม่ได้เลย เพราะรูปนามทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาดังที่กล่าวมานี้เอง คือการเห็นว่ารูปนามทั้งปวงเป็นของสูญหรือสุญญตา
ในขณะที่เห็นรูปนามเป็นของว่างเปล่านั้น หากปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม บางท่านจิตจะปล่อยวางรูปนามแล้วตัดกระแสเข้าถึงธรรมเลยทีเดียว
แต่บางท่านที่กำลังยังไม่พอจะปล่อยวางรูปนาม ก็จะพบธรรมอย่างหนึ่ง เป็นความว่างๆ สงบสันติ ปรากฏอยู่ท่ามกลางความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปนาม แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหลายกระทบเข้าไม่ถึงธรรมนี้ เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงูโดยไม่มีอันตราย
ต่อมาเมื่อจิตรู้แจ้งในความเป็นของสูญของรูปนามแล้ว จิตซึ่งเคยหยิบฉวยรูปนามบางส่วนไว้เป็นตัวเรา จนมีภาระหนักที่จะต้องแบกหามรูปนามไว้เป็นนิจ ก็จะปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามนั้น สลัดคืนรูปนามนั้นให้กับธรรมชาติไปตามเดิม แม้แต่จิตที่ถูกถือมั่นมาเนิ่นนานก็ถูกสลัดทิ้งไปด้วย แล้วประจักษ์หรือเข้าถึงธรรมที่ว่างจากความเป็นตัวตนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่านิพพาน และเซน เรียกว่ามหาสุญญตา
ความพ้นทุกข์ทางใจอย่างสิ้นเชิงอยู่ที่ตรงนี้เอง คงเหลือแต่ความทุกข์ของธาตุขันธ์หรือรูปนามที่ยังคงหมุนเวียนสืบต่ออยู่เท่านั้น แต่จิตไม่หยิบฉวยรูปนามขึ้นมาให้เป็นภาระอีก ความทุกข์ทางใจจึงมีขึ้นไม่ได้เลย
ดังนั้น พระอรหันต์จึงไม่ใช่ผู้ที่ทำจิตที่ไม่เที่ยงให้เที่ยงได้ หรือทำจิตที่เป็นทุกข์ให้กลายเป็นสุขได้ หรือทำจิตที่บังคับไม่ได้ให้บังคับได้
แต่คือท่านผู้ปล่อยวางความถือมั่นในจิตและขันธ์ทั้งปวงลงได้อย่างสนิทแล้ว ความพ้นจากขันธ์นี้เองคือความพ้นจากทุกข์
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
แท้จริงธรรมชาติทั้งมวลเป็นสิ่งเดียวรวด คือเป็นเพียงรูปธรรมและนามธรรม ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น แต่เพราะความหลงผิดหรืออวิชชา โดยเฉพาะความไม่รู้ทุกข์ อันได้แก่ความไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับรูปนาม ซึ่งประกอบขึ้นเป็นธรรมชาตินั้นเอง จึงทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกบางส่วนของธรรมชาตินั้นออกมาเป็นตัวเรา
แล้วสร้างกำแพงที่มองไม่เห็นขึ้นมาคนละวง เพื่อแบ่งกั้นตนเองออกจากธรรมชาติภายนอกที่แวดล้อมอยู่ และขังตนเองอยู่ในขอบเขตของกำแพงนั้น จึงเกิดมีเรามีเขา มีสัตว์มีบุคคล มีภายในและมีภายนอก ฯลฯ แล้วเกิดความเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่นั้น เกิดการต่อสู้และการดิ้นรนที่จะพาตนเองหลีกหนีจากความทุกข์ และแสวงหาความสุขมาให้ตนเอง
โดยไม่ทราบว่า ทางพ้นทุกข์อันแท้จริงอยู่ที่การทำความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามที่เรียกว่าตนเอง จนหมดความหลงผิด สามารถคลายความยึดถือและสลัดคืนรูปนามให้กับธรรมชาติไปได้ ไม่ใช่พ้นทุกข์ด้วยการช่วงชิงบางสิ่งและผลักไสบางสิ่งในธรรมชาติ เมื่อสลัดรูปนามที่เรียกว่าตนเองคืนให้ธรรมชาติได้แล้ว ธรรมชาติก็จะเหลือแต่รูปนามอันเป็นกองทุกข์ แต่ไม่มีผู้เข้าไปแบกรับความทุกข์นั้นให้เป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจอีกต่อไป
การเรียนรู้รูปนาม โดยค่อยๆสังเกตความเป็นจริงของรูปนาม เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ส่วนการอ่าน การฟัง และการคิดพิจารณาธรรมะ แม้กระทั่งเรื่องรูปนาม ก็ยังไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่เบื้องต้นก็จำเป็นต้องอ่าน ต้องฟัง และต้องคิด ให้เข้าใจวิธีการเจริญวิปัสสนาได้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เสียก่อน เมื่อเข้าใจแล้วจึงค่อยๆสังเกตความเป็นจริงของรูปนามอย่างสบายๆ ต่อไป
หน้าที่ของผู้เจริญวิปัสสนา ไม่ได้อยู่ที่การพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อให้ “จิตของเรา” บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน หรือเพื่อทำลายอัตตาตัวตนซึ่งไม่ได้มีอยู่จริง ตัวอย่างของความพยายามดังกล่าวก็เช่น
(๑) การน้อมจิตไปหาความว่างและความสงบนิ่ง อันเป็นการมุ่งสู่อาเนญชาสมาบัติทั้งหลาย
(๒) การดับความรับรู้ อันเป็นการเข้าไปสู่อสัญญสัตตาภูมิหรือพรหมลูกฟัก เพราะคิดว่าจะสัมผัสนิพพานได้เมื่อไม่มีจิต โดยลืมคิดไปว่า นิพพานเป็นอารมณ์คือเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
(๓) การพยายามสลัดคืนรูปนามให้กับธรรมชาติ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การคิดอบรมสั่งสอนจิตด้วยการคิดพิจารณากาย ใจ และการทรมานกายใจเพื่อดับตัณหาอันเป็นวิธีการที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
(๔) การพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงรูปนามจากสิ่งที่ไม่เที่ยงให้เที่ยง จากสิ่งที่เป็นทุกข์ให้เป็นสุข และจากสิ่งที่บังคับไม่ได้ให้บังคับได้ เป็นต้น
หน้าที่ของผู้เจริญวิปัสสนา ไม่มีสิ่งใดให้ทำมากกว่าการค่อยๆ สังเกตจนเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามที่ประกอบกันขึ้นเป็น “ตัวเรา” ได้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
หมั่นรู้รูปนามเนืองๆ จนจิตใจเกิดความเห็นแจ้งว่า “ตัวเราไม่มี มีแต่รูปกับนาม” เพียงเท่านี้ก็พ้นจากความหลงผิดเบื้องต้นได้แล้ว
และเมื่อเจริญวิปัสสนาต่อไป ก็จะเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า รูปนามภายในที่เรียกว่า “ตัวเรา” นี้ไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา และเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งซึ่งไม่มีความสำคัญใดๆ เป็นพิเศษของธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ซึ่งก็เป็นรูปนามด้วยกันทั้งสิ้น
แต่เพราะความหลงผิดแท้ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์เป็นคน เป็นภายในและเป็นภายนอก และเป็นธรรมคู่อื่นๆ ขึ้นมา
การเห็นว่ารูปนามว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนและหาแก่นสารใดๆไม่ได้เลย เพราะรูปนามทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาดังที่กล่าวมานี้เอง คือการเห็นว่ารูปนามทั้งปวงเป็นของสูญหรือสุญญตา
ในขณะที่เห็นรูปนามเป็นของว่างเปล่านั้น หากปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม บางท่านจิตจะปล่อยวางรูปนามแล้วตัดกระแสเข้าถึงธรรมเลยทีเดียว
แต่บางท่านที่กำลังยังไม่พอจะปล่อยวางรูปนาม ก็จะพบธรรมอย่างหนึ่ง เป็นความว่างๆ สงบสันติ ปรากฏอยู่ท่ามกลางความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปนาม แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหลายกระทบเข้าไม่ถึงธรรมนี้ เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงูโดยไม่มีอันตราย
ต่อมาเมื่อจิตรู้แจ้งในความเป็นของสูญของรูปนามแล้ว จิตซึ่งเคยหยิบฉวยรูปนามบางส่วนไว้เป็นตัวเรา จนมีภาระหนักที่จะต้องแบกหามรูปนามไว้เป็นนิจ ก็จะปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามนั้น สลัดคืนรูปนามนั้นให้กับธรรมชาติไปตามเดิม แม้แต่จิตที่ถูกถือมั่นมาเนิ่นนานก็ถูกสลัดทิ้งไปด้วย แล้วประจักษ์หรือเข้าถึงธรรมที่ว่างจากความเป็นตัวตนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่านิพพาน และเซน เรียกว่ามหาสุญญตา
ความพ้นทุกข์ทางใจอย่างสิ้นเชิงอยู่ที่ตรงนี้เอง คงเหลือแต่ความทุกข์ของธาตุขันธ์หรือรูปนามที่ยังคงหมุนเวียนสืบต่ออยู่เท่านั้น แต่จิตไม่หยิบฉวยรูปนามขึ้นมาให้เป็นภาระอีก ความทุกข์ทางใจจึงมีขึ้นไม่ได้เลย
ดังนั้น พระอรหันต์จึงไม่ใช่ผู้ที่ทำจิตที่ไม่เที่ยงให้เที่ยงได้ หรือทำจิตที่เป็นทุกข์ให้กลายเป็นสุขได้ หรือทำจิตที่บังคับไม่ได้ให้บังคับได้
แต่คือท่านผู้ปล่อยวางความถือมั่นในจิตและขันธ์ทั้งปวงลงได้อย่างสนิทแล้ว ความพ้นจากขันธ์นี้เองคือความพ้นจากทุกข์
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)