xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : สุญญตา (ตอนที่ ๑)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พวกเราคงเคยได้ยินคำว่า “สุญญตา” หรือ “มหาสุญญตา” กันบ่อยๆ และอาจเคยพบเพื่อนชาวพุทธบางท่านโดยเฉพาะปัญญาชนที่สนใจศึกษาเรื่องสุญญตา ด้วยการอ่าน การฟัง การคิด และการถกแถลงธรรม ท่านเหล่านี้ได้รับความอิ่มอกอิ่มใจ ว่ามีความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาลึกซึ้งเพียงพอแล้ว จนไม่สนใจการเจริญสติ ซึ่งเราคงเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรด้วยไม่ได้

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เพื่อนผู้สนใจการปฏิบัติบางท่าน กลับพยายามเจริญสติด้วยการใช้สุญญตาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดพลาดมาก เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้ขันธ์หรือรูปนามเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ได้ทรงสอนให้ใช้สุญญตาหรือความว่างเป็นอารมณ์แต่อย่างใด

บางท่านถึงกับนำพระไตรปิฎกมาอ้างว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ใช้สุญญตาเป็นอารมณ์กรรมฐานเหมือนกัน เนื้อหาของพระไตรปิฎก ส่วนนี้มีอยู่ว่า

โมฆราชมาณพ พร้อมด้วยเพื่อนร่วมสำนักผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีรวม ๑๖ ท่าน ได้ไปเฝ้าทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า ท่านเหล่านี้ภายหลังได้อุปสมบทและบรรลุเป็นพระอรหันต์ชั้นแนวหน้าทั้งสิ้น เฉพาะท่านโมฆราชนั้นได้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้งว่า

“บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น”

พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายว่า เหตุที่ท่านโมฆราชต้องถามถึง ๓ ครั้ง ก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงรอให้โมฆราชมาณพ มีอินทรีย์แก่กล้าเสียก่อน จึงยังมิได้ทรงตอบเมื่อทูลถามปัญหา ๒ ครั้งแรกต่อจากท่านอชิตะและท่านติสสเมตเตยยะ

เมื่อท่านโมฆราชทูลถามเป็นครั้งที่ ๓ โดยได้ถามเป็นบุคคลลำดับที่ ๑๕ แทนที่จะได้ถามเป็นท่านที่ ๒ หรือ ๓ จึงทรงตอบว่า

“ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น”

เมื่ออ่านคำตอบตรงนี้แล้ว ท่านที่ชอบเรื่องสุญญตาก็มักจะสรุปเอาเลยว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติด้วยการคิดพิจารณาให้เห็นว่า โลกเป็นของว่างเปล่าหรือเป็นสุญญตา

ความจริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงสอนเช่นนั้น แต่ระบุชัดเจนว่า จงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ แสดงว่าท่านสอนให้เจริญสติ

ถ้าถามต่อไปว่า ท่านให้เจริญสติโดยใช้สิ่งใดเป็นอารมณ์กรรมฐาน ก็ตอบได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้โลกเป็นอารมณ์กรรมฐาน และคำว่าโลกก็หมายความถึงรูปนามนั่นเอง

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ใช้สุญญตาหรือความว่างเปล่าเป็นอารมณ์กรรมฐาน เพียงแต่ทรงแนะนำให้ตามรู้รูปนามในแง่มุมของความว่างเปล่าจากตัวตนหรืออนัตตาเท่านั้นเอง เพราะท่านโมฆราชเป็นผู้มีปัญญามาก จึงเหมาะที่จะบรรลุธรรมด้วยสุญญตวิโมกข์ คือการเห็นรูปนามเป็นอนัตตา

ทั้งนี้ในบรรดาคณะศิษย์ของพราหมณ์พาวรีทั้ง ๑๖ ท่านนั้น พระไตรปิฎกกล่าวถึงฉายาต่อท้ายชื่อไว้ ๒ ท่าน คือท่านโมฆราช ผู้มีปัญญากับท่านปิงคิยะ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ แสดงว่าท่านโมฆราชน่าจะมีจุดเด่นในด้านมีปัญญามากจริงๆ เพียงแต่ไม่ถึงระดับท่านพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญาเท่านั้น

มีคำอธิบายเพิ่มเติมในพระไตรปิฎก (โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ ขุททกนิกายจูฬนิทเทส) ว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

(๑) ด้วยสามารถความกำหนดว่าไม่เป็นไปในอำนาจ หมายความว่า ใครๆย่อมไม่ได้อำนาจในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ

(๒) ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า หมายความว่า ใครๆย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ที่ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

มีคำที่อาจก่อความสับสนได้อีกคำหนึ่งคือคำว่า “พิจารณา” บางท่านตีความว่า การพิจารณาคือการคิด แท้จริงคำว่า พิจารณา หมายถึง การเจริญสติตามรู้รูปนามนั่นเอง ไม่ใช่การคิดเรื่องรูปนาม

เพราะการคิดเรื่องรูปนามว่าเป็นความว่างนั้น ไม่สามารถจะทำให้เห็นรูปนามเป็นความว่างได้ แต่ถ้าเจริญสติโดยมีรูปนามเป็นอารมณ์ จึงจะเห็นอนัตตลักษณะของรูปนามได้

สรุปแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ใช้ความว่างเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน และไม่ได้ให้คิดเรื่องความว่าง แต่ทรงสอนให้มีสติตามรู้รูปนาม จนเห็นรูปนามว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนหรือไร้แก่นสารทั้งปวง

ดังนั้น พวกเราจึงควรลงมือเจริญสติตามรู้รูปนามไปเลย ดีกว่าจะเที่ยวคิดหรือเที่ยวแสวงหาสุญญตาจนลืมการเจริญสติ แล้ววันหนึ่งพวกเราจะได้เห็นโลกคือ รูปนามอันประกอบขึ้นเป็นสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น แม้มีอยู่แต่ก็ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนและหาแก่นสารใดๆ ไม่ได้เลย

อันที่จริงคำสอนโดยตรงเรื่องสุญญตาในฝ่ายเถรวาทมีไม่มากนัก กลับไปมีมากในคำสอนของเซน แต่สุญญตาที่เซนกล่าวถึง ก็อาจมีนัยแตกต่างไปจากคำสอนที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ท่านโมฆราช ซึ่งหมายถึงความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนและความไร้แก่นสารของรูปนาม

ในขณะที่สุญญตาตามคำสอนของเซนน่าจะมีนัยใกล้เคียงกับคำว่านิพพาน ซึ่งรูปนามกับนิพพานนั้นเป็นสภาวธรรมต่างชนิดกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายเถรวาทจะไม่ค่อยได้เอ่ยถึงคำว่าสุญญตาโดยตรง แต่ก็กล่าวถึงสุญญตาไว้ทั้งสองนัย คือนัยแรกสอนว่ารูปนามว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน และนัยที่ ๒ สอนว่านิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าจะกล่าวอย่างรวบย่อก็กล่าวได้ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือทั้งรูปนามและนิพพาน ต่างก็ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนด้วยกันทั้งสิ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น