xs
xsm
sm
md
lg

กับดักวาทกรรม “ก้าวหน้า” หรือ “ล้าหลัง” เอาเข้าจริงให้ประโยชน์อะไรกับสังคมไทยบ้าง?

เผยแพร่:   โดย: วัชชิระ จำปาน้อย

วัชชิระ จำปาน้อย

ธรรมชาติของ “นักการเมืองไทย” อย่างหนึ่งคือการมุ่งทำ “สงครามน้ำลาย” เพื่อ “บลัฟ” กันไป-มาระหว่างกัน มากกว่าหาเหตุผลมารองรับถูก-ผิด หาทางออกให้กับสังคม

จนไม่สามารถนำพาสังคมไทยก้าวผ่านความขัดแย้งสู่ทางออกที่ดีงามได้

น่าเศร้าเมื่อปรากฏว่า นักการเมืองผู้มี “ศิลปะการใช้น้ำลาย” มักได้ดิบได้ดีในหน้าที่การงานมากกว่าคนมีฝีมือ-ยืนอยู่บนหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม

ไม่ต่างจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “นักวิชาการ” ซึ่งมักประดิษฐ์วาทกรรมให้แก่ตัวเองได้หยัดยืนอยู่เหนือหัวผู้อื่นที่ไม่เห็นด้วย เพียงเพื่อสร้าง “ราคา” ให้กับตัวเอง

อย่างที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ระหว่างที่กระบวนการพยายาม “ยกเลิก” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำลังเดินหน้าไปอย่าง “ร้อนแรง” และ “แหลมคม”

พร้อมผลักไสฝ่ายคิดต่างว่าเป็นพวก “ล้าหลัง” ไม่สามารถทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ “ประชาธิปไตย” ของ “ฝ่ายก้าวหน้า” อย่างพวกเขาได้

ยิ่งไปกว่านั้นข้อหา “งมงาย” ยังถูกส่งไปแปะไว้บนหน้าผากผู้เห็นต่างอย่างไม่ทันรู้ตัว

เอาเข้าจริงหากมองลงไปในรายละเอียดของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายก้าวหน้า” นำเสนอโมเดลแก้ไขรัฐธรรมนูญ 15 ข้อออกสู่สังคมไทยให้ถี่ถ้วนแล้วนั้น

แท้จริงแล้วพวกเขาคือ “ฝ่ายก้าวหน้า” หรือเป็นเพียงแค่กลุ่มคน “ล้าหลัง” ทางแนวความคิดต่อบริบทสังคมไทยในปัจจุบันกันแน่?

นอกเหนือจากคำถามที่ว่า ที่จริงแล้วกลุ่มคนพวกนี้กำลัง “ต้องการอะไร” และ “นำไปสู่อะไร” (หลายคนคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว) อันเป็นคำถามตัวโตๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องตอบให้ได้

ยังมีคำถามที่น่าสนใจอีกว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พวกเขามีความฝังใจกับอะไรบางอย่างที่ยังไม่ “ลุล่วง” อย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “Unfinished revolution” หรือ “การปฏิวัติที่ยังไม่เสร็จสิ้น”

จากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ. 2475...

อันเป็นรูปแบบการปกครองในบริบทหนึ่งของสังคมไทยเมื่อกว่า 80 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบ้านเมืองไทยเวลานั้นยังไม่ปรากฏขบวนการ “เผด็จการรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์” ให้เห็นอย่างในปัจจุบัน

แต่ในเวลานี้ฝ่ายที่ถูกผลักไสให้เป็นพวก “ล้าหลัง” กำลังมองเห็นอันตรายของขบวนการดังกล่าวที่กำลังกัดกร่อนสังคมไทยอย่างรุนแรง ภายใต้เกาะวาทกรรมคุ้มกันความ “ละโมบ” และ “ความโลภ” ของตัวเองว่าเป็น “นักประชาธิปไตย” ผู้เป็นเจ้าของ “15 ล้านเสียง” ในความหมาย “จะทำอะไรกับประเทศไทยก็ได้”

โดยไม่คำนึงถึงผลได้-ผลเสียที่จะตามมาแก่สาธารณะเลยแม้แต่น้อย

เช่น การพยายามออก พ.ร.ก. เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทที่จะใช้สำหรับการวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำปี 2555 ซึ่งนายสมิทธ ธรรมสโรช กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้ออกมากล่าวกับสื่อว่า

รัฐบาลไม่มีแผนงานอะไรชัดเจนให้เห็นเป็นรูปธรรมเลยแม้แต่น้อย! ทั้งยังใช้เวลาการอนุมัติงบเพียงไม่กี่วินาที!

รวมทั้งความพยายามก่อนหน้านี้และทุกๆ วันในการให้ความช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรให้สามารถกลับประเทศได้โดยไร้ซึ่งความผิด ทั้ง พ.ร.ฎ.นิรโทษกรรม การพยายามรวบรวมรายชื่อประชาชนขอพระราชทานอภัยโทษ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ “กดดันในหลวง” หรือไม่?

รวมถึงการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในข้อเสนอ “ล้มล้างผลพวงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร 2549 ซึ่งกำลังถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงเวลานี้ว่าเป็นตัวการทำลายล้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย

ทั้งนี้หากพูดกันตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นความผิดจากคดีหลีกเลี่ยงภาษีด้วยคำพิพากษาระดับตำนานว่า “บกพร่องโดยสุจริต” ต่างหาก ที่เป็นปฐมบทของการตายแล้วซึ่ง “รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540” ที่วีรชนประชาธิปไตยต้องพลีเลือดเนื้อแลกมาด้วยความยากลำบากอย่างแท้จริง

ก่อนที่นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.ซึ่งสังกัด “กองกำลังเสื้อแดง” ในปัจจุบันจะออกมาตอกย้ำด้วยหนังสือ “รัฐธรรมนูญตายแล้ว?” เมื่อปลายปี 2547

อันถือเป็นการ “พูดด้านเดียว” แล้วเหมาเอาว่าทั้งหมดทั้งปวงเกิดจากระบอบ “เผด็จการทหาร” อันทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่า

กลุ่มคนเหล่านั้นกำลังต้องการปกป้องระบอบ “เผด็จการรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์” อันมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อเสนอของพวกเขาที่ว่า ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า

กลุ่มคนเหล่านี้กำลังต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับฝ่ายนักเลือกตั้งมีอำนาจเหนือองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่ “ตรวจสอบ” และ “ถ่วงดุลอำนาจ” กันและกัน

อันเป็นไปตามหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง!

หากเป็นเช่นนั้นจริง ลองจินตนาการถึง “ผู้พิพากษา” ซึ่งถูกเสนอชื่อและแต่งตั้งโดย “คณะรัฐมนตรี” แล้ววันหนึ่งจะต้องมาตัดสินคดีความที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่แต่งตั้งตัวเองเข้ามาทำหน้าที่ ผลจะออกมาเป็นเช่นไร?

แต่ก็เอาเถอะ เกมการเมืองประเทศไทยที่ดำเนินเข้าใกล้ปลายทางเต็มทีแล้วนั้น ในที่สุดแล้วผมพบว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิด “ก้าวหน้า” หรือ “ล้าหลัง” ก็ไม่สามารถนำพาบ้านเมืองสู่ความดีงามทางคุณธรรม จริยธรรมได้

หากไม่เท่าทันต่อองคาพยพในสังคมไทย ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนเกินกว่าที่จะหยิบยกเอาโมเดลการปกครองของต่างชาติมาใช้ทั้งหมด

หรือไม่หยิบยกบางส่วนที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงมาใช้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น