xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


• ขับถ่ายวันละ 3 ครั้ง
ลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่


ดร.ทอม อู๋ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติจากสหรัฐอเมริกา บอกว่า การถ่ายอุจจาระวันละครั้งไม่เพียงพอ เพราะของเสียยังค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่อีก 3 วัน เนื่องจากโครงสร้างของลำไส้ใหญ่ มีทั้งลำไส้ใหญ่ส่วนขึ้น ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง ลำไส้ใหญ่ส่วนลง และลำไส้ตรง รวม 4 ขยัก ถ้าถ่ายอุจจาระเพียงวันละครั้งจะทำให้อุจจาระในลำไส้ใหญ่ที่เหลือ 3 ขยักสะสมอยู่ในร่างกาย สารพิษจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย ทำให้มีอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น และเซลล์ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นเสมือนทหารประจำการ 2 ใน 3 ของระบบย่อยอาหาร ก็มีโอกาสเป็นพิษ ทำให้สมรรถภาพภูมิคุ้มกันลดลง

ทางที่ดีควรถ่ายอุจจาระวันละ 3 ครั้ง และดื่มน้ำผักผลไม้วันละ 4-6 แก้ว และอาจเพิ่มสลัดผักสด 2 มื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์เต็มที่ และช่วยให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวดี เพื่อขับถ่ายวันละ 3 ครั้งอย่างสะดวก แต่ก็มีข้อพึงระวังสำหรับผู้ที่เพิ่งผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะ ลำไส้ ควรปรึกษานักโภชนาการ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนวธรรมชาติบำบัดก่อน

• วางมือถือบนหัวเตียง
เสี่ยงต่อสุขภาพ!!


IARC หรือ International Agency for Research on Cancer ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ได้ตีพิมพ์ข้อมูลทางวิชาการที่ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นปัจจัยก่อมะเร็งประเภท 2B หรือเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง ซึ่งยืนยันว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง แต่การใช้อุปกรณ์แฮนด์ฟรีแบบบลูทูธจะทำให้ผู้ใช้ได้รับพลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่ำกว่าการใช้ผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือโดยตรงถึง 100 เท่า และการใช้อุปกรณ์แฮนด์ฟรีแบบมีสายจะช่วยลดการได้รับพลังงานที่สมองลงประมาณร้อยละ 10

แต่การใช้ทั้งสองประเภทไม่ควรเกี่ยวไว้ที่หูตลอดเวลาเมื่อไม่ได้ใช้งาน และผลการรายงานยังพบว่า โทรศัพท์ 3G ปล่อยพลังงานน้อยกว่าโทรศัพท์ GSM เฉลี่ยประมาณ 100 เท่า

จากรายงานกับผลสำรวจของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอัญสัมชัญหรือเอแบคโพล พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับคลื่นสัญญาณ ที่นอกเหนือจากการใช้งาน คือ ร้อยละ 64.5 นิยมวางโทรศัพท์ไว้บนหัวเตียงและเปิดเครื่องในเวลานอน ดังนั้น หากไม่ใช้ก็ควรไว้ให้ห่างตัวโดยเฉพาะศีรษะ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น

• การนอนหลับช่วยป้องกัน
แผลในกระเพาะอาหาร


ผู้ที่ทำงานหนักจนทำให้ต้องอดนอนบ่อย จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นแผลในกระเพาะอาหารสูงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ จากการศึกษาของคณะแพทย์มหาวิทยาลัย Newcastle upon Tyne ในประเทศอังกฤษพบว่า

ขณะที่นอนหลับร่างกายจะหลั่งโปรตีนชื่อTFF2ซึ่งมีหน้าที่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะต่างๆ ในช่องท้องออกมามากถึง 340 เท่าของเวลาปกติ เพื่อคอยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของทางเดินอาหาร อันเนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทานเข้าไป รวมถึง กรดในกระเพาะอาหารที่หลั่งออกมาด้วย ดังนั้นการนอนหลับจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อีกทางหนึ่ง

• กินอะไรดีที่สุดสำหรับสมอง

นักวิจัยได้ทดลองให้ชาย-หญิง 22 คน อายุ 60-70 ปี ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรตล้วนๆ โปรตีนล้วน ไขมันล้วน เครื่องดื่มทั้ง 3 ชนิดให้พลังงาน ช่วยให้การทำข้อสอบเกี่ยวกับความจำระยะสั้นดีขึ้น ผลปรากฏว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มคาร์โบไฮเดรตทำได้ดีที่สุด ในการทบทวนความจำหลังจากดื่มไป 1 ชั่วโมง ชี้ให้เห็นว่า คาร์โบไฮเดรตมีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง

• ส้นสูงและรองเท้ากีฬาผิดประเภท
เพิ่มความเสี่ยงข้อกระดูกอักเสบ


ศาสตราจารย์แอนโธนี เรดมอนด์ นักวิจัยโรคเกี่ยวกับเท้าและโรคข้ออักเสบของสมาคมแพทย์รักษาโรคเกี่ยวกับมือ และเท้าในอังกฤษ กล่าวว่า โรคข้ออักเสบเกิดได้กับคนทุกวัย ไม่เฉพาะกับคนแก่เท่านั้น แต่ก็มีวิธีการป้องกันง่ายๆ หลายวิธี เช่น การสวมรองเท้าที่เหมาะสม จะช่วยลดแรงกดบนเท้าและข้อต่อระหว่างการทำกิจกรรมประจำวันให้เหลือน้อยที่สุด และลดความเสี่ยงในการทำให้ข้อต่อบาดเจ็บและเสียหาย

“สำหรับรองเท้าที่ใส่เป็นประจำทุกวัน ขอแนะนำรองเท้าที่ปลายมน สูงไม่เกิน 1 นิ้ว และมีแผ่นซึมซับการสะเทือนเพื่อลดแรงกระแทกต่อข้อต่อ”

ศาสตราจารย์เรดมอนด์ยังเตือนว่า การสวมรองเท้ากีฬาที่ไม่ได้ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับกีฬาที่เล่น จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเอง เพราะระหว่างเล่นกีฬาจะมีแรงกดที่ข้อต่อสูงกว่าน้ำหนักตัวถึง 8 เท่า

“ถ้าคุณรู้สึกเจ็บเท้าหรือเข่าบ่อยๆ อย่าชะล่าใจ เพราะโรคข้ออักเสบบางชนิดอาจเริ่มต้นจากเท้า และการรักษาแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญต่อผลสำเร็จที่ดีที่สุดในการบำบัดระยะยาว”

• น้ำมะพร้าวชะลอโรคหัวใจ
ในหญิงวัยทอง


ดร.นิซาอูดะห์ ระเด่นอาหมัด อาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ผู้หญิงวัย หมดประจำเดือน หรือหญิงวัยทองที่ขาดฮอร์โมน จากรังไข่มากระตุ้นมดลูก เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ กระดูกผุ จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนสังเคราะห์ทดแทน แต่มีผลวิจัยจากต่างประเทศเตือนว่า การรับฮอร์โมนสังเคราะห์ต่อเนื่องนานกว่า 5 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่

ทีมวิจัยจึงตั้งเป้าหาสารธรรมชาติทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์ โดยนำน้ำมะพร้าวมาศึกษา เนื่องจากมีเอสโตรเจนสูงไม่ต่างจากถั่วเหลือง และกวาวเครือขาว ผลการวิจัยพบว่า น้ำมะพร้าวสามารถใช้เป็นสารทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์สำหรับหญิงวัยทองได้ แต่ก็ไม่ควรดื่มมาก อาจเลือกดื่มสลับกับน้ำนมถั่วเหลือง เนื่องจากน้ำมะพร้าวมีส่วนกระตุ้นให้ไขมันชนิดดี (เอชดีแอล) มีปริมาณสูงขึ้นเกินความจำเป็น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย ธาราทิพย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น