xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : เดี๋ยวก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม่ : หยุดอ่านการ์ตูนแล้วไปทำการบ้านเดี๋ยวนี้!

โอม : เดี๋ยวก่อนแม่ จะจบแล้ว

แม่ : ถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำการบ้านเดี๋ยวนี้ แม่จะ...

พ่อ : ไม่ให้เงินซื้อการ์ตูนอีก ก็เห็นพูดขู่อย่างนี้ทุกทีแหละ แล้วก็ใจอ่อนควักซื้อให้ลูกทุกครั้ง

แม่ : คราวนี้แม่เอาจริงนะพ่อ

โอม : จะจบเล่มแล้วแม่

แม่ : ชั่วโมงที่แล้วก็พูดว่าจะจบ โกหกไปเรื่อยๆ อย่างนี้ แม่ไม่ชอบ

โอม : ชั่วโมงที่แล้วน่ะ จะจบเล่มหนึ่งไงแม่ ส่วนชั่วโมงนี้ก็จะจบ เล่มสาม โอมไม่ได้พูดโกหกซะหน่อย

แม่ : ลุกไปทำการบ้านเดี๋ยวนี้! (เสียงเข้มเย็นพูดเน้นคำ พร้อมเสียงหวดไม้เรียวกระทบโต๊ะดังขวับ ขวับ)

โอม : ทันทีครับแม่ (กระตือรือร้นสุดขีด)

แม่ : พ่อ! ไปหุงข้าว!

พ่อ : เดี๋ยวนี้เลยจ้า

การออกคำสั่ง ติดสินบน บ่น ข่มขู่ หรือการลงโทษด้วยอารมณ์ เป็นวิธีการฝึกเด็กที่ไม่ได้ผล หรืออาจได้ผลแค่เฉพาะหน้าค่ะ พ่อแม่ควรกำหนดกติกาและให้เด็กปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ จะทำให้เด็กควบคุมตนเองได้ในที่สุด ข้อสำคัญไม่ควรใจอ่อนหรือสงสารลูกมากเกินไป ซึ่งเด็กจะใช้เป็นจุดอ่อนและนำมาเป็นข้อต่อรองค่ะ

กำกับวินัยอย่างนุ่มนวล

การตั้งกติกาและข้อตกลงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การปฏิบัติให้สำเร็จนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ระยะเวลาและความอดทนทั้งพ่อแม่และลูก พ่อแม่ที่ต้องการฝึกฝนลูก ในเรื่องระเบียบวินัยมี 2 หลักใหญ่ๆ ที่เราต้องทำ คือ

1. การวางขอบเขตกติกาหรือข้อตกลงที่ชัดเจน

การตั้งขอบเขตกติกาที่ชัดเจนจะทำให้เห็นผลสำเร็จไม่ไกลเกินเอื้อม เด็กจะรู้สึกมั่นคง เมื่อรู้ว่าพ่อแม่คาดหวังพฤติกรรมอะไรจากเขา รู้ว่าการกระทำใดของเขาเป็นที่ยอมรับ และไม่เป็นที่ยอมรับ พ่อแม่อย่าลืมที่จะชื่นชมลูกในพฤติกรรมดีๆ ของลูก เช่น

“แม่ภูมิใจที่ลูกมีความรับผิดชอบทำการบ้านจนเสร็จแล้วค่อยไปเล่น” การชื่นชมสิ่งดีๆที่ลูกทำถือเป็นกำลังใจที่จะช่วยให้ลูกทำดีต่อไป

2. การกำกับให้ทำอย่างจริงจัง สุภาพ และไม่ใช้อารมณ์

เมื่อลูกเผลอไผลหรือลองหยั่งใจพ่อแม่ด้วยการทำบ้างไม่ทำบ้าง พ่อแม่ต้องเตือนและกำกับให้ลูกทำทันทีด้วยท่าทีที่สุภาพ เอาจริง ความนิ่งของพ่อแม่ ใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ จะทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เอาจริงและมีความปรารถนาดีต่อเขา พ่อแม่กำลังฝึกฝน ไม่ใช่กำลังลงโทษเขา อย่าใจอ่อนให้ลูกต่อรองบ่อยๆ หรือยอมปล่อยให้ลูกทำผิดข้อตกลง ถ้าพ่อแม่ไม่เคารพกฎที่ตัวเองตั้งขึ้น เด็กจะรู้ว่ากฎนั้นไม่จริงจัง ละเลยได้ เมื่อตั้งกติกาขึ้นและเข้าใจร่วมกันแล้ว พ่อแม่ต้องเข้มงวดให้ลูกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อาจปรับหรือยืดหยุ่นบ้างแต่ต้องหลังจากทดลองใช้ไปสักระยะหนึ่งแล้ว ไม่ควรปรับเปลี่ยน กลับไปกลับมาบ่อยๆ จะทำให้การฝึกฝนไม่ได้ผล

ควรทำ

• การเอาจริงไม่จำเป็นต้องรุนแรง ท่าทีในการคุมกฎ กติกา หรือข้อตกลงต่างๆ ของพ่อแม่ ต้องนิ่ง สุภาพ เอาจริง ชัดเจน สม่ำเสมอ จะช่วยให้เด็กทำตามได้ดี แต่ท่าทีที่กราดเกรี้ยว โวยวาย ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวปล่อยเดี๋ยวลงโทษ มักจะได้ผลชั่วคราว

• กำกับให้ทำทันทีโดยงดการต่อรอง และชื่นชมเมื่อลูกทำได้ ความสม่ำเสมอจะช่วยให้ลูกเข้าถึงวินัยและยับยั้งชั่งใจได้ในที่สุด

• การออกคำสั่งที่ดีควรตระหนักถึงสิ่งต่อไปนี้
+ เป็นคำสั่งที่เด็กทำได้แน่ เช่น ล้างจาน ตากผ้า
+ เป็นคำสั่งที่เหมาะสมกับเวลา เช่น สั่งให้ทำหลังดูทีวีจบ
+ เป็นคำสั่งที่ชัดเจน เข้าใจได้ง่าย
+ เป็นคำสั่งที่สั่งถูกคน ไม่สั่งให้พี่ไปทำงานในหน้าที่ของน้อง
+ สั่งแล้วเอาจริง กำกับให้ทำ อย่าเปิดโอกาสให้หลีกเลี่ยง

ไม่ควรทำ

• อย่าใช้วิธีสอนแบบพูดซ้ำๆ เตือนบ่อยๆ ให้เด็กทำงานโดยที่ท่าทีของพ่อแม่ไม่เอาจริง เด็กจะเรียนรู้ว่ายังไม่ต้องทำก็ได้ เอาไว้รอให้ถึงจุดที่พ่อแม่โกรธหรือเอาจริงเมื่อไรจึงค่อยทำ เท่ากับฝึกให้ลูกเป็นคนโอ้เอ้ ไม่เอาจริง ทำเมื่อจวนตัว ไม่รู้จักหน้าที่ เตือนตัวเองไม่เป็น ต้องมีคนคอยบอก

• พ่อแม่ที่สั่งให้ลูกทำงานแต่ไม่ได้ติดตามผลการทำงานใกล้ชิด
เท่ากับเป็นการฝึกให้เด็กเรียนรู้ว่า ทำหรือไม่ทำ พ่อแม่ก็ไม่รู้

• อย่าเป็นพ่อแม่ที่ยอมทำงานของลูกเพราะใจอ่อน สงสาร กลัวว่าลูกจะเหนื่อยแล้วยอมทำแทนเด็ก นอกจากไม่ช่วยฝึกฝนแล้ว ลูกจะไม่เชื่อถือคำพูดและขาดความนับถือพ่อแม่ ไปด้วย

* หัวใจการเลี้ยงดู

หลักการปลูกฝังวินัยให้ลูกอย่างได้ผล ต้องกำหนดกติกาให้ชัดเจน และกำกับให้ทำอย่างสุภาพ

จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น