xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : สสารไม่มีวันหายไปจากโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูกสาว : แม่! เห็นผ้าพันคอเนตรนารีหนูมั้ย? (น้ำเสียงร้อนรน)
แม่ : ทุกทีสิน่า ชอบถอดแล้ววางไม่เป็นที่เป็นทาง พอจะใช้ก็วุ่นกันทั้งบ้าน ที่ห้องล่ะหาทั่วรึยัง?
ลูกสาว : ไม่เจอค่ะแม่
แม่ : เอ้า อยู่นี่ ดูซิมาซุกไว้ข้างตู้หนังสือ
ลูกสาว : แม่คะ วอคเกิลด้วยค่ะ มันหายไป
แม่ : โอ้ย! หายอีกแล้วเหรอ เดือนนี้ลูกซื้อไป 2 อันแล้วนะ
ลูกสาว : ทฤษฎีของหายกล่าวไว้ว่า สสารไม่มีวันหายไปจากโลก เพียงแต่ตอนนี้หนูไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน ฮี่ๆๆ แต่ถ้าอันใหม่ก็มีขายที่สหกรณ์โรงเรียนค่ะ
แม่ : เฮ้อออออ แล้วสสารในกระเป๋าฉันก็หายไปอยู่ในกระเป๋าคนอื่น
เมื่อไหร่ลูกจะรับผิดชอบได้ซะทีน้า... (เสียงอ่อนใจ)

ทุกครั้งที่พ่อแม่รีบเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูก เรากำลังตัดโอกาสในการฝึกแก้ไขปัญหาของลูกอยู่นะคะ พ่อแม่ควรทำใจให้หนักแน่นอดทน ไม่แทรกทำแทน และวางใจให้ลูกได้อยู่กับปัญหา เพราะการปล่อยให้ลูกเผชิญผลและหัดแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้สูงสุดค่ะ

ฝึกลูกให้เก่ง พ่อแม่ต้องยึดหลักมรณานุสติและวางอุเบกขา

จุดอ่อนของครอบครัวไทยในปัจจุบันคือ พ่อแม่ไม่ฝึกให้ลูกได้พึ่งตนเอง หรือฝึกแต่ไม่ต่อเนื่องจริงจัง มักแทรกทำแทน ทำให้เด็กไม่อดทน และสมาธิสั้น เด็กจึงขาดความสามารถในการดูแลตัวเอง มีผลทำให้ขาดความสามารถในการทำเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ในเรื่องเรียน จากการประเมินไอคิวและอีคิวเด็กไทยในทุกระดับ ผลออกมาพบว่า เด็กไทยไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์และอีคิวก็ลดต่ำลง พร้อมทั้งปัญหาสุขภาพจิตของเด็กทั่วประเทศก็ถีบตัวสูงขึ้น

“ไม่อยากให้ลูกลำบาก” ทำให้พ่อแม่มักเน้นให้ลูกเรียนหนังสือให้เก่งๆ อย่างเดียว แต่ไม่ฝึกทักษะด้านอื่นๆ ให้ลูก เด็กจึงไม่ได้ “เรียนรู้” แต่เต็มไปด้วย “ความรู้” จากหนังสือเรียนที่ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด ทำอะไรไม่เป็น พึ่งตนเองไม่ได้ ขาดทักษะการคิดและการแก้ปัญหา ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ปัจจุบันจึงพบเด็กติดเกม ติดยาเสพติด ท้องในวัยเรียน วัยรุ่นฆ่าตัวตาย ยกพวกตีกัน รุมทำร้ายแล้วถ่ายคลิป ฯลฯ ระบาดอย่างหนักในยุคนี้ แล้วพ่อแม่ควรยึดหลักใดในการเลี้ยงลูก

ควรทำ

• เด็กต้องการพ่อแม่ต้นแบบที่มีจิตใจเข้มแข็ง วางอุเบกขาได้ เพื่อฝึกฝนให้ลูกพัฒนาตนเองให้เก่ง แกร่ง และมั่นใจในตนเองว่าสามารถอยู่ได้ทุกสถานการณ์โดยไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่คอยช่วยเหลือ

• พ่อแม่ควรให้ลูกเผชิญกับปัญหาเพื่อการเรียนรู้สูงสุด เช่น เด็กใช้เงินค่าขนมตลอดสัปดาห์หมดตั้งแต่วันอังคาร อีก 3 วันที่เหลือเด็กจะต้องหัดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและรับผิดชอบการกระทำของตนเอง พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปช่วยจัดการให้

• ฝึกลูกให้มีทักษะการวางแผนล่วงหน้า การเก็บข้าวของเป็นที่เป็นทาง เพื่อสะดวกในการใช้และไม่ต้องเสียเวลาค้นหา

• ฝึกฝนเรื่องความรับผิดชอบในด้านอื่นๆ ให้ลูกด้วย เช่น
+ รับผิดชอบเรื่องส่วนตัว เช่น กินข้าว เข้านอน อาบน้ำ
+ รับผิดชอบเรื่องดูแลข้าวของ เครื่องใช้ ของเล่น กระเป๋า เครื่องแต่งตัว
+ รับผิดชอบเรื่องงานบ้าน เช่น ล้างจาน ตากผ้า รดน้ำต้นไม้
+ รับผิดชอบเรื่องเวลา เช่น การนัดหมาย กำหนดเวลาออกจากบ้าน การตรงต่อเวลา
+ รับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่น เช่น การเลี้ยงปลา การให้อาหารสุนัข

ไม่ควรทำ

เมื่อมอบงานให้เด็กรับผิดชอบเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่พ่อแม่กลับเข้าไปทำงานแทนเด็ก เท่ากับทำลายความน่าเชื่อถือของคำสั่งของพ่อแม่ ต่อไปเด็กจะไม่ฟังเวลาที่พ่อแม่สอน

*หัวใจการเลี้ยงดู

• ยึดหลักมรณานุสติ (หลักคิด) คือ คิดว่าเราอาจตายได้ทุกวัน มีเวลาอยู่กับลูกน้อย จึงต้องฝึกให้ลูกดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด ลูกต้องอยู่ได้ พึ่งตนเองได้เมื่อไม่มีเรา

• มีอุเบกขา (หลักใจ) คือต้องตัดใจ หรือวางใจให้ลูกได้อยู่กับปัญหาและอุปสรรค เพราะจะกระตุ้นให้ลูกหัดคิด และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ถูกบ้าง ผิดบ้าง ลูกก็จะมีประสบการณ์และมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น ตัดใจให้ลูกเผชิญทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบเพื่อฝึกให้ลูกเก่งขึ้น ให้รู้จักความลำบาก ชีวิตที่ลำบากจะทำให้ลูกมีความสามารถมากขึ้น

• อดทนทำอย่างสม่ำเสมอ (หลักมือ : ลงมือทำ) อัจฉริยะไม่ได้เกิดขึ้น เพียงข้ามคืน กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว การฝึกฝนทุกอย่างต้องใช้เวลาและการทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเช่น ความรับผิดชอบของลูกจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อลูกได้ฝึกรับผิด (เรียนรู้ผิด) รับชอบ (เรียนรู้ถูก) อยู่บ่อยๆ จนเพาะบ่มเป็นความรับผิดชอบที่ฝังติดตัวไปตลอด จะฝึกลูกให้เก่งพึ่งตนเองได้ อาจต้องเริ่มต้นแก้ที่ใจของพ่อแม่ก่อนอันดับแรก

จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)

กำลังโหลดความคิดเห็น