xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : การจัดการความโกรธ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม่ : หยุดตีกันเดี๋ยวนี้! (เสียงเรียบเฉียบขาด)
ตอนนี้แม่เห็นเด็กสองคนกำลังโกรธจัด หน้าตาไม่มี
ความสุขเลย

ไท : ก็พี่แทนแย่งรถบังคับผมไป ด่าว่าไอ้น้องขี้งก งี่เง่า (เสียงเครือ)

แทน : ไทว่าผมโง่ แล้วก็สอบตก (เสียงเครือเหมือนกัน)

หมอเหมียว หากเกิดเหตุการณ์ลูกๆ ทะเลาะกันเช่นนี้ พ่อแม่ควรจัดการกับอารมณ์โกรธของลูกดังนี้ค่ะ

แม่ : แทนไปยืนมุมโน้น ไทมามุมนี้ เอาละ หายใจเข้า-ออกลึกๆ นะลูก อารมณ์เย็นลงแล้วเราจะคุยกัน

หมอเหมียว ข้อแรก คือการจัดแบกคู่กรณีเพื่อผ่อนคลายอารมณ์โกรธ และใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสในการสอนลูก ด้วยการตั้งคำถามต่างๆ ที่ให้ลูกได้ทบทวนอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เช่น

แม่ : “ถ้าใครโดนด่าแบบนี้คงโกรธน่าดู ไหนเล่าให้แม่ฟังซิว่าลูกรู้สึกอย่างไร?”

“ลูกจะทำอย่างไรเมื่อโกรธ?”

“การด่ากันช่วยให้หายโกรธไหม?”

หมอเหมียว ขณะที่ลูกตอบถึงความรู้สึกของเขาโดยมีพ่อแม่รับฟังอย่างตั้งใจ จะช่วยให้ลูกเข้าใจอารมณ์และตระหนักได้เองในที่สุดค่ะ ปิดท้ายด้วยการให้ลูกช่วยกันคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ค่ะ

แม่ : ลูกคิดว่าจะมีวิธีไหนมั้ยที่จะเล่นโดยไม่ทะเลาะกัน?

ไท : งั้นพี่แทน เราตั้งกติกากันดีมั้ย แบ่งกันเล่นคนละชั่วโมง

แทน : แล้วถ้าไทเล่นจนลืมเวลา พี่จะพูดเตือนดีๆ

แม่ : เป็นกติกาที่ดีมากจ้ะ แม่เชื่อว่าลูกๆ จะปฏิบัติตามกติกานี้ด้วยความเคารพนะจ๊ะ

สอนลูกให้ "รู้จัก" อารมณ์โกรธ

เมื่อลูกทะเลาะกันและเกิดอารมณ์โกรธ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักสั่งให้ลูกหยุดโกรธทันที ซึ่งเป็นการปฏิเสธความเป็นจริงที่ลูกกำลังเผชิญซึ่งเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติอย่างยิ่ง และถ้าตามด้วยการเทศนาสั่งสอนอีกยกใหญ่ โดยไม่ใส่ใจว่าอารมณ์ของลูกขณะนั้นเป็นอย่างไร ยิ่งเป็นการแก้ปัญหาข้ามขั้นตอนและไร้ผล เพราะขณะที่อารมณ์เป็นฟืนเป็นไฟเด็กจะไม่สนใจ ฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ แต่เด็กต้องการคนที่จะเข้าใจอารมณ์ว่าเขารู้สึกอย่างไร การทำให้ลูกรู้ตัว และเข้าใจอารมณ์โกรธในขณะนั้น เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอันดับแรก เมื่ออารมณ์โกรธ ของลูกคลายลงแล้วจึงมีความพร้อมที่จะรับฟังคำสั่งสอน หรือข้อเสนอแนะของพ่อแม่ ฝึกให้ลูกรู้จักและเข้าใจอารมณ์ตัวเองจะทำให้ลูกรู้ตัวเร็วขึ้นและสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนได้ ซึ่งเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้ลูกอยู่อย่างมีความสุขร่วมกับคนอื่นและประสบความสำเร็จในชีวิต

ควรทำ

หลักสำคัญในการจัดการความโกรธคือ

• ให้ลูกแยกตัวออกมาจากเหตุการณ์ อยู่ในบรรยากาศที่สงบเพื่อคลายอารมณ์

• ให้ระบายความรู้สึก เช่น พูดคุยกับคนที่เข้าใจ เขียนบันทึกทำกิจกรรมอื่น

• ให้รู้ตัวว่ากำลังโกรธ อาจทำได้โดยการให้ประเมินใบหน้าของตุ๊กตาหน้าต่างๆ ให้สังเกตหน้าตาของคนอื่น ส่องกระจกดูตัวเอง หรือตรวจเช็กสภาพของตนเองว่ากำลังเกร็ง หายใจแรง ขมวดคิ้วอยู่หรือไม่ หรือตรวจเช็กสภาพจิตใจว่าปั่นป่วนแค่ไหน

• ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา นึกถึงต้นเหตุที่ทำให้คนคนนั้นทำตัวแบบนั้น หรือให้นึกถึงความรู้สึกที่คนคนนั้นรู้สึกอยู่ หรือให้นึกถึงความดีของคนคนนั้น เป็นต้น

• เมื่อความโกรธลดลงแล้ว ค่อยมาหาวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

ไม่ควรทำ

พ่อแม่ควรสำรวจใจตัวเองด้วย เพราะบางทีก็โกรธที่เห็นลูกทะเลาะกัน การเข้าไปจัดการความโกรธด้วยอารมณ์ ใช้เสียง ดัง ใช้กำลังลงโทษรุนแรงกับลูก ลูกจะเลียนแบบการจัดการ ปัญหาด้วยอารมณ์ของพ่อแม่

จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)

กำลังโหลดความคิดเห็น