xs
xsm
sm
md
lg

โจ๋ไทยคุณภาพสุขภาพจิตต่ำ รับมือปัญหาได้น้อย-แนะ ร.ร.ช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
อึ้ง! เยาวชนไทยมีความสามารถจัดการปัญหาต่ำ พบ 1 ใน 5 เข้าภาวะเสี่ยงเป็นผู้มีสุขภาพจิตต่ำ แนะโรงเรียนช่วยเหลือ เพิ่มเติมการจัดการจิตคู่การเรียน

นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับกรมการปกครอง กรุงเทพฯ กรมสุขภาพจิต และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสำรวจและประเมินสุขภาพจิตของเยาวชนไทย ภายใต้โครงการ “ประเมินสุขภาพจิตเด็กอายุ 15 ปีที่มารับบริการทำบัตรประชาชนครั้งแรก” ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาชนอายุ 15 ปี และทำบัตรประชาชนเป็นครั้งแรก ใน 3 จังหวัดนำร่อง คือ กทม.ลำพูน และกาญจนบุรี จำนวน 5,238 ตัวอย่าง

โดยวิธีการนำแบบสอบถามดัชนีวัดสุขภาพจิตคนไทย มาใช้เก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ เพื่อให้รับทราบถึงปัญหา และนำไปสู่การจัดทำนโยบาย และเตรียมความพร้อมด้านพัฒนาสุขภาพจิตประชาชนไทย โดยจากการสำรวจพบว่า เยาวชนไทยได้คะแนนสุขภาพจิตที่ต่ำที่สุด จากคำถามที่เกี่ยวกับสมรรถนะของจิตใจ หรือความสามารถในการจัดการปัญหาด้านต่างๆ การเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรง การยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น การควบคุมอารมณ์ โดยคะแนนรวมทั้งหมด พบว่า เยาวชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.6 มีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ในระดับปกติร้อยละ 32.8 มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ดี และเยาวชนร้อยละ 18.6 มีภาวะสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง

นพ.ประเวช กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์กลุ่มเด็กที่มีภาวะเสี่ยงทางสุขภาพจิต ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 พบว่า เด็กชายมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตมากกว่าเด็กหญิง ครอบครัวขนาดกลางมีความเสี่ยงมากกว่าครอบครัวขนาดเล็ก หรือใหญ่เกินไป โดยเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่ได้ศึกษาต่อ จะมีความเสี่ยงมากกว่า ส่วนเด็กที่ยังเรียนหนังสือ พบว่า เด็กที่มีการเรียนดี จะมีความเสี่ยงต่ำ ส่วนเมื่อวิเคราะห์เรื่องฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว พบว่า เด็กใน กทม.ที่มีฐานะไม่ดี จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเด็กที่มีฐานะไม่ดีในจังหวัดอื่น โดยครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คือ มีเพียงพ่อ หรือ แม่ จะมีความเสี่ยงสูงที่สุด และชัดเจนมากในเขต กทม.

ทั้งนี้ นพ.ประเวช กล่าวด้วยว่า สำหรับเด็กมีคะแนนด้านสมรรถนะจิตใจต่ำ หมายถึงเด็กมีความสามารถด้านการจัดการปัญหาน้อย ซึ่งสถาบันการศึกษา โรงเรียน สามารถช่วยเหลือได้ด้วยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพจิต เพื่อให้คำแนะนำ และสร้างกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต สร้างวุฒิภาวะ และการจัดการอารมณ์ ควบคู่กับการเรียนการสอนภาควิชาการ
กำลังโหลดความคิดเห็น