xs
xsm
sm
md
lg

สถิติชี้ชัดคนไทยสุขมากขึ้นคู่แต่งงานสุขมากสุด แต่พบคนกรุงสุขลดลง มองโลกแง่ร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบคนไทยสุขมากขึ้น เพศชายสุขกว่าเพศหญิง ชี้คนแต่งงานสุขมากที่สุด พบพังงาสุขมากสุดครอง แชมป์ 2 ปีซ้อน ขณะที่สมุทรสงคราม สุขน้อยที่สุด ส่วนคนกรุง สุขเป็นลำดับที่ 65

วันนี้ (22 มิ.ย.) นายวิลาส สุวี รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวผลการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในรอบ 3 ปี (2551-2553) ซึ่งกรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นว่า ปีที่ผ่านมา จากสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในกลุ่มตัวอย่าง 87,000 คนทั่วประเทศ พบว่า แนวโน้มสุขภาพจิตคนไทยดีขึ้น โดยพบว่าคนไทยมีแนวโน้มสุขภาพจิตดีขึ้น โดยมีคะแนนตามแบบประเมินความสุขของกรมสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจาก 31.80 คะแนน ในปี 2551 เป็น 33.09 และ 33.30 ในปี 2552 , 2553 ตามลำดับ โดยสัดส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตหรือมีความสุขน้อย มีแนวโน้มลดลง จากปี 2551 อยู่ที่ 17.8 คะแนน เป็น 12.8 และ 11.2 คะแนน ในปี 2552 และ 2553 โดยพบว่าเมื่อจำแนกประเภท พบว่า เพศชายมีสุขภาพจิตดีกว่าเพศหญิง โดยเด่นในเรื่องของสมรรถภาพทางใจ คือ สามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า และคนที่อยู่ในวัย 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในปี 2552 คะแนนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 4.6 โดยพบว่า คนมีสถานะสมรสมีความสุขมากที่สุด รองลงมาเป็น คนโสด และน้อยที่สุด คือ กลุ่มหย่าร้าง ม่าย แยกทาง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายวิลาส กล่าวว่า รอบ 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ มีแนวโน้มสุขภาพจิตดีขึ้นในทุกๆปี ในขณะที่ คนไทยในภาคกลางมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตในปี 2553 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2552 จาก 32.54 เป็น 32.60 คะแนน นอกจากนี้ พบว่า ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงน้อย คือ มีสัดส่วนของคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงาน จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงมาก คือ มีคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับคนไม่ทำงาน หรือไม่มีคนทำงานเลย ในขณะที่ ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีภาระพึ่งพิง มีเฉพาะคนทำงาน กลับมีสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อแบ่งคะแนนความสุขระดับจังหวัด พบว่า ระดับคะแนนของจังหวัดที่มีความสุขมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ จ.พังงา ตรัง มหาสารคาม นราธิวาส ตาก โดย จ.พังงา มีคะแนนเป็นจังหวัดที่มีความสุขมากติดกันเป็นปีที่ 2 ส่วนระดับคะแนนของจังหวัดที่มีความสุขต่ำ 5 ลำดับ คือ สมุทรสงคราม สุโขทัย ภูเก็ต สมุทรปราการ สระแก้ว โดยจ.สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และสระแก้ว

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ กล่าวต่อว่า ขณะที่ กทม .มีคะแนนความสุขในปี 2552 อยู่ที่ลำดับ 59 แต่ปี 2553 ลดลงอยู่ที่ลำดับ 65 โดยระดับความสุขคนกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2551-2552 ดีขึ้น และเริ่มลดต่ำลงช่วงปลายปี 2552 เข้าสู่ปี 2553 ซึ่งเหตุที่ กทม.มีความสุขน้อยลง มีปัจจัยหลายสาเหตุ ทั้งในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สอดคล้องกับตัวเลขที่ชี้ว่า คนนอกเขตเทศบาลจะมีความสุขมากกว่าคนในเมือง โดยพบว่า คะแนนเรื่องสมรรถภาพของจิตใจคน กทม.ต่ำสุด หมายถึงความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง การมีจิตใจสาธารณะ ซึ่งพบว่า คนกรุงเทพฯ มองโลกในแง่ร้ายมากกว่าคนในภาคอื่น

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสำรวจในครั้งนี้ช่วยให้ได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปัจจัยความสุขคนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เอื้อต่อการสร้างความสุขคนไทย เมื่อเปรียบเทียบประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้สูงกับประชาชนที่มีรายได้ต่ำ พบประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้สูงมีความสุขน้อยกว่าประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้ต่ำและในกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ในระดับใกล้เคียงกัน มีร้อยละของผู้มีความสุขน้อยหรือผู้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ต่างกันเป็น สิบเท่า สำหรับในพื้นที่ กทม. ซึ่งมีระดับความสุขลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียดในเรื่องปัญหาความแตกแยก ซึ่งความเครียดที่สูงขึ้นจะทำให้ความอดทนต่ำลง จึงมักพบเหตุการณ์ที่เกิดจากความเครียดมาก โดยแนวทางการแก้ปัญหาจะมีการนำคู่มือความสุขไปเร่งพัฒนาเครื่องมือในการช่วยเหลือ และลดความเครียดสะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น