xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : รักษาสัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูก : ทำไมไม่เหลืออะไรให้ผมกินเลยอ่ะ? (น้ำเสียงเคือง ตัดพ้อ)
แม่ : ก็ลูกสัญญาเองไม่ใช่เหรอว่า ไม่ต้องเหลืออะไรไว้ให้ ถ้าวันนี้ลูกกลับมาไม่ทันกินข้าวเย็น
ลูก : ก็ตอนนั้นเล่นบอลอยู่นี่แม่ (หงุดหงิด)
แม่ : ลูกสัญญาและผิดสัญญาทุกครั้ง ปล่อยให้พ่อแม่รอกินข้าวเสมอ
พ่อ : ซีเรียสไปได้แม่ มันดึกแล้วนะ ลูกหิวข้าวแย่แล้ว
แม่ : ลูกอยากเป็นเด็กที่ไม่มีใครเชื่อถือเพราะไม่รักษาคำพูดหรือเปล่า?
ลูก : ไม่ครับ
แม่ : แม่รู้ว่าลูกหิว แต่อยากรู้ว่า ลูกคิดจะเริ่มต้นรักษาสัญญาที่ให้ไว้บ้างรึเปล่า
พ่อ : โอ๊ย! ไม่ใจร้ายไปหน่อยเหรอแม่ ใจคอจะให้ลูกนอนหิวทั้งคืนหรือไง พ่อโทรสั่งพิซซ่าให้ดีกว่า
ลูก : ไม่ต้องครับพ่อ ผมอยากรักษาสัญญาที่ให้กับแม่ เมื่อตอนเย็น ขอโทษนะครับ ที่ผมผิดสัญญามาตลอด
แม่ : แม่ภูมิใจในตัวลูกมากจ้ะ เอานมรองท้องสักกล่องไหม
ลูก : ดีครับแม่ ผมไปอาบน้ำก่อนนะครับ
พ่อ : แหมไอ้นี่.... นิสัยลูกผู้ชายเหมือนพ่อไม่มีผิด ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น (น้ำเสียงภูมิใจ)
แม่ : “ลูกไม้หล่นไกลพ่อ” มากกว่า (น้ำเสียงรำพึง)

จัดตารางเวลา - สร้างวินัยให้เป็นทำนอง

เด็กๆล้วนต้องการกติกา หรือข้อตกลงที่ตัวเองสามารถทำได้และเกิดความสามารถเมื่อได้ทำ การทำซ้ำๆและสม่ำเสมอจนเป็นปรกติในชีวิตประจำวันของเด็ก ก็จะเป็นการสร้างอุปนิสัยที่ดีและวินัยให้กับชีวิต ไม่มีเด็กคนไหนรู้สึกดีกับการที่วันหนึ่งพ่อแม่เข้มงวด แต่อีกวันกลับผ่อนปรน ขึ้นๆลงๆตามอารมณ์จนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ความสม่ำเสมอจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ลูกฝึกวินัยอย่างได้ผลราบรื่น

การจัดท่วงทำนองให้กับวินัยภายในบ้าน คือการจัดตารางเวลาให้ลูกว่า เวลาไหนเป็นเวลาเล่น เวลาทำการบ้าน เวลากินข้าว เวลาช่วยงานบ้านพ่อแม่ เวลานอน ตามความยากง่าย ถี่ห่าง ให้เหมาะสมกับวัย และทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ลูกจะน้อยลง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันจะดีขึ้น ครอบครัวไหนที่พ่อแม่สร้างวินัยให้เป็นทำนองได้ เท่ากับสร้างนิสัยดีๆให้กับลูกอย่างสร้างสรรค์และสร้างสุขให้ทุกคนในบ้าน เพราะวินัยไม่ใช่เป็น “การลงโทษ” แต่เป็นการ “เรียนรู้” ระหว่างกัน เพื่อฝึกฝนตนเองของลูกและพ่อแม่ด้วย

ควรทำ

หลักการวางกติกา

• เด็กเล็ก (อนุบาล ประถม) พ่อแม่เป็นคนกำหนดกติกาที่เหมาะสมกับวัยและการใช้ชีวิตในสังคม เด็กโต (มัธยม) ควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกา เด็กจะยินดีทำเพราะรู้สึกว่าพ่อแม่รับฟัง

• วางกติกาให้เด็กทำสิ่งที่ดีทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น เคารพสิทธิ์คนอื่น สวัสดีผู้ใหญ่ เล่นของเล่นต้องเก็บให้เรียบร้อย เป็นต้น

• ต้องรับผลจากการทำหรือไม่ทำตามกติกา เช่น ถ้าทำตามกติกาจะเกิดอะไร และถ้าไม่ทำตามจะเกิดอะไร

• เมื่อลูกไม่ทำตามกติกา พ่อแม่ต้องยืนยันในสิ่งที่ตกลงกันไว้อย่างสุภาพ ไม่ใช้อารมณ์ ทั้งพ่อแม่ลูกต้องอดทนเพราะที่สุดของการฝึกฝน คือ ความภาคภูมิใจและเคารพตนเอง

ไม่ควรทำ

• อย่าสอนขณะโกรธหรืออารมณ์เสีย เช่น ถ้าลูกอาบน้ำแล้วทิ้งเสื้อผ้าเรี่ยราดกับพื้น แม่ทนไม่ได้ต้องมาเก็บให้ เก็บไปก็บ่นว่าไป ผลเสียที่ตามมาคือ เด็กจะติดนิสัยไม่รับผิดชอบ เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างแม่กับลูก เพราะคำพูดร้ายๆตอนที่โกรธ

• อย่าเถียงกันต่อหน้าลูก กรณีที่พ่อแม่เห็นไม่ตรงกัน ในการจัดระเบียบกติกา ควรปรับวิธีการให้สอดคล้องกัน ไม่เช่นนั้น เด็กไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร

จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)

กำลังโหลดความคิดเห็น