xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนนั่งนอนดูทีวีเกิน4 ชม./วัน ชีวิตสั้นลงจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

นักวิจัยจากเบเกอร์ ไอดีไอ ฮาร์ต แอนด์ ไดอะบีตส์ อินสติติวท์ ในรัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย ได้ติดตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ใหญ่ 8,800 คน และพบว่าการใช้เวลาหน้าทีวีแต่ ละชั่วโมงในแต่ละวันเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้ นักวิจัยได้สัมภาษณ์ชาย 3,846 คน และหญิง 4,954 คน ที่อายุ 25 ปีขึ้นไป รวมทั้งทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด วัดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และสอบถามพฤติกรรมการดูทีวี โดยกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการทดสอบตั้งแต่ปี 1999 และถูกติดตามผลจนถึงปี 2006

งานศึกษาที่ตีพิมพ์ใน เซอร์คูเลชัน : เจอร์นัล ออฟ ดิ อเมริกัน ฮาร์ต แอสโซซิเอชัน พบว่าทุกชั่วโมงที่เราอยู่หน้าทีวีมีความเกี่ยวพันกับความเสี่ยงเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่เพิ่มขึ้น 11%, ความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้น 9% และความเสี่ยงเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้น18%
รายงานยังระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบ กับคนที่ดูทีวีวันละไม่ถึง 2 ชม. พบว่าคนที่ดูทีวีวันละ 4 ชม.ขึ้นไปมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเพิ่มขึ้น 46% และเพิ่มขึ้นถึง 80% จากโรคหลอดเลือดหัวใจ

เดวิด ดันสแตน ผู้อำนวยการห้องวิจัยกิจกรรมทางร่างกายในแผนกการเผาผลาญอาหารและโรคอ้วนของสถาบันเบเกอร์ ไอดีไอ และเป็นผู้นำการวิจัยนี้ กล่าวว่าการวิจัยนี้มุ่งเน้นการดูทีวีเป็นพิเศษ แต่ผลที่ค้นพบบ่งชี้ว่าพฤติกรรมการนั่งๆ นอนๆ เป็นเวลานาน เช่น การนั่งที่โต๊ะหรือหน้าคอมพิวเตอร์ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากร่าง กายมนุษย์ถูกออกแบบมาให้เคลื่อน ไหว ไม่ใช่นั่งนิ่งๆ นานๆ  

การค้นพบนี้มีนัยไม่เพียงกับคนที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่มีน้ำหนักตัวเหมาะสมด้วย เนื่องจากการนั่งอยู่กับที่นานๆ อาจส่งผลลบต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดด้วยเช่นเดียวกัน

“กรน” ลดความเสี่ยงตายก่อนวัย

นักวิจัยอิสราเอลเผยผลศึกษาที่ท้าทายงานวิจัยในอดีต โดยระบุว่าการกรนอาจทำให้อายุยืนยาวขึ้น โดยล่าสุดผลการศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง 600 คนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป พบว่ากลุ่มคนที่กรนในระดับปานกลางมีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัย น้อยกว่าคนที่ไม่มีประวัติเคยกรนมาก่อนถึงครึ่งหนึ่ง ส่วนคนที่มีอาการกรนรุนแรงมีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยเท่ากับคนที่ไม่กรนเลย     
 
หนึ่งในทฤษฎีที่อาจอธิบายเรื่องนี้ได้ก็คือ การที่ออกซิเจนและเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ มีการหยุดชะงักเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจากการหยุดหายใจระหว่างกรน กลับทำให้หัวใจและ สมองแข็งแรงขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือหากเกิดอาการหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง ร่างกายจะรับมือได้ดีกว่า   
    
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์จิม ฮอร์น หัวหน้าศูนย์วิจัยเกี่ยวกับภาวะการหลับของมหาวิทยาลัยลัฟโบโร อังกฤษ กล่าวว่าแม้ผลวิจัยจากอิสราเอล บ่งชี้ข้อดีของการกรน แต่ตนเชื่อว่าคนที่มีอาการกรนรุนแรงควรเข้ารับการบำบัดมากกว่าจะคิดว่านั่นเป็นวิธียืดอายุตัวเอง

ระวัง! ผงชูรสทำร้ายดวงตา

นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮิโรซากิ ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองกับหนูพบว่า หนูที่กินอาหารที่มีปริมาณสารโซเดียมกลูตาเมท ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับผงชูรส มีความสามารถในการมองเห็นลดลง เนื่องจากชั้นเรตินาในดวงตาถูกทำลาย และกิจกรรมการส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าในเซลล์ประสาทตาลดลง ซึ่งอาจส่งผลเช่นเดียวกันนี้กับมนุษย์

นอกจากนี้ฮิโรชิ โฮกุโร หัวหน้าคณะวิจัยสังเกตว่า สาเหตุที่จำนวนผู้ป่วยโรคต้อหินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจมาจากการนิยมรับประทาน อาหารที่ปรุงรสด้วยสารโมโนโซเดียมกลูตาเมท

อย. เตือนอันตรายจากผลิตภัณฑ์ย้อมผม

ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนอันตรายจากผลิตภัณฑ์ย้อมผม ซึ่งส่วนใหญ่มีส่วนผสมของสีย้อม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ อาการที่แพ้มักเป็นผื่นซึ่งจะลามมาถึงบริเวณต้นคอ หลังหู ใบหู และศีรษะ ระวังอย่าให้เข้าตา ต้องทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ด้วยการทาผลิตภัณฑ์ปริมาณเล็กน้อยบริเวณหลังหูหรือท้องแขน ทิ้งไว้ 24-48 ชม. หากไม่ มีความผิดปกติใดๆ ก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องหยุดใช้และล้างออกด้วยน้ำทันทีเมื่อมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน หรือมีแผลผื่นแดงบริเวณที่ใช้ หรือถูกน้ำยา หากอาการไม่ทุเลาให้นำผลิตภัณฑ์ที่เหลือไปปรึกษาแพทย์ รวมทั้งห้าม ใช้เมื่อหนังศีรษะมีรอยถลอก เป็นแผลหรือโรคผิวหนัง และไม่ควรเกาศีรษะอย่างแรงในขณะสระผม ห้ามใช้ย้อมขนตา หรือขนคิ้ว เด็ดขาด

สธ. พบ 5 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอันตราย คุกคามคนไทยหนัก ป่วยเพิ่มขึ้นนาทีละ 1 คน

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเรื้อรังระบบทางเดินหายใจ เตลอดปี 2551 พบว่า มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 5 โรคที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 44 จังหวัด รวม 2,179,504 ราย โดยเป็นผู้ป่วยเบาหวาน 645,620 ราย ความดันโลหิตสูง 1,145,557 ราย โรคหัวใจขาดเลือด 148,206 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 107,709 ราย และโรคเรื้อรังทางเดินหายใจ 32,412 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่ เมื่อเปรียบอัตราป่วยจากทั้ง 5 โรคดังกล่าวต่อประชากรทุก 1 แสนคน จากผู้ป่วยทั้งหมดนี้ เป็นผู้ที่เริ่มป่วยในปี 2551 จำนวน 718,297 ราย เฉลี่ยเดือนละเกือบ 60,000 ราย หรือป่วยเพิ่มขึ้นนาทีละ 1 คน และเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 56 ของผู้ป่วยทั้งหมด

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า หากป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้ว สิ่งที่ประชาชนต้องดูแลเป็นพิเศษ มี 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ อาหาร การออกกำลังกาย และกินยาเพื่อควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง หากพึ่งยาอย่างเดียวแต่ไม่ปรับพฤติกรรมการกินหรือออกกำลังกาย ก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดย ธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น