xs
xsm
sm
md
lg

ตาบอดอีกแล้ว! สาวร้อยเอ็ดควง"ปวีณา"ร้อง "จุรินทร์"ช่วยตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หญิงตาบอดควงปวีณา ร้องสธ. หลังตาบอดเพราะหยอดตา อ้างไม่มีฉลากคำเตือน ช่วยพิสูจน์ถูกผิด “จุรินทร์”.ไม่ปักใจสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพราะหยอดตานานต่อเนื่อง 6 ปี ทำประสาทตาข้างซ้ายเสียมองไม่เห็น

ปวีณา หงสกุล พร้อมด้วย ผู้เสียหาย เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พร้อมด้วย พ.ต.ท.รุ่งเรือง สลับสี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด ได้นำ น.ส.จิราวรรณ วิชัยศร อายุ 36 ปี ผู้เสียหายกรณีประสาทตาข้างซ้ายไม่สามารถมองเห็นร้อยละ 80 ภายหลังจากเข้ารับการรักษาและใช้ยาหยอดตาของคลินิกแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเกิดจากความบกพร่องในการวินิจฉัยและการให้ยารักษาหรือไม่ พร้อมทั้งนำตัวอย่างยาให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ทำการตรวจสอบว่ามีสารอันตรายหรือไม่และขอข้อมูลเพื่อประกอบการสอบสวนสรุปคดี

นางปวีณา กล่าวว่า ผู้เสียหายได้เข้ารับการตรวจรักษาที่คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าแพ้อาหารทะเลและควันบุรี่ โดยให้ยาหยอดตาและยาเม็ดมารักษา ซึ่งข้างขวดยาระบุเพียงหยอดวันละ 8 ครั้ง หรือทุกๆ 2 ชั่วโมง แต่ข้างขวดกลับไม่มีคำเตือนว่าเป็นยาอันตราย หรือหมดอายุเมื่อไหร่ ซึ่งผู้เสียหายใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน และยังสั่งซื้อยาไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องเดินทางตามสามีไปอยู่ประเทศเนเธอแลนด์ จนกระทั่งเริ่มมีอาการตาซ้ายผิดปกติ จนมองเกือบไม่เห็น จากนั้นผู้เสียหายเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเรียกร้องคลินิกดังกล่าวแต่ไม่เป็นผล จึงเข้าร้องเรียนตนและได้พาเข้าตรวจโดยละเอียดอีกครั้งที่โรงพยาบาลจักษุรัตนิน พบว่า ดวงตาซ้ายบอดร้อยละ 80 จริง ดังนั้น จึงแจ้งความดำเนินคดี และนำยาหยอดตาส่งตรวจกองพิสูจน์หลักฐาน

“ผลการพิสูจน์ยาหยอดตา 2 ขวด พบว่า ขวดหนึ่งมีสารชนิดแอนตาโซลีน(Antazoline) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ และอีกขวดพบสารชนิดเพร็ดนิโซโลน(Prednisolone) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีอันตรายหรือไม่ วันนี้จึงต้องมาขอความช่วยเหลือให้รัฐมนตรี สธ.สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่าสารดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ เพื่อจะได้นำหลักฐานไปประกอบการสอบสวนต่อไป” นางปวีณากล่าว

ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองการประกอบโรคศิลปะ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานของคลินิกดังกล่าว และได้ให้ อย. ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับสารทั้งสองชนิดและจัดทำเอกสารเป็นทางการมีการควบคุมอย่างไร ผิดเกณฑ์มาตรฐานตรงไหนบ้าง คาดว่าภายใน 1 เดือนจะได้ข้อสรุปทั้งหมด

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ยาหยอดตาดังกล่าวมาจากคลินิกแห่งนี้จริงหรือไม่ หากมาจากคลินิกนี้จริงจะต้องทำการตรวจสอบต่อว่าสถานพยาบาลมีการจ่ายยาตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ เนื่องจากผู้เสียหายระบุว่า ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยก่อนจ่ายยาและสั่งซื้อยาไปใช้เอง ซึ่งคลินิกไม่มีหน้าที่ในการขายยา รวมถึงต้องพิจารณาว่าคลินิกแห่งนี้มีการปรุงยาที่ถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจะขอความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เป็นผู้ที่ให้รายละเอียดเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวินิจฉัยต่อไป

“ยาหยอดตาบางชนิดมีสเตียรอยด์ผสมอยู่ด้วย ดังนั้นสารดังกล่าวจึงสามารถพบได้ในยาหยอดตาได้ ซึ่งใช้ในการรักษาโรคบางกลุ่ม เช่น โรคติดเชื้อบางชนิด ภูมิแพ้เรื้อรัง การอักเสบบางชนิด เป็นต้น เพียงแต่ต้องมีข้อบ่งชี้และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ด้วย”นพ.ธเรศกล่าว

น.ส.จิราวรรณ กล่าวว่า เมื่อมารักษาครั้งแรกรู้สึกดีมาก พอใช้ยาหยอดตาอาการคันก็หายทันที โดยเริ่มใช้ตั้งปี 2546 จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ตาข้างซ้ายเริ่มบวม มีตุ่มขึ้นบริเวณเปลือกตาด้านล่าง ปวดศีรษะและอาเจียนรุนแรง เมื่อไปพบแพทย์ที่ประเทศเนเธอแลนด์ แพทย์ได้สั่งหยุดยา และบอกว่าตาซ้ายเสียหายไปแล้วร้อยละ 80 โดยระบุว่าเกิดจากความดันตาสูง และมีต้อหิน แต่ตนเชื่อว่าน่าจะมาจากการรักษาของยาหยอดตาดังกล่าว ทั้งนี้ มาร้องเรียนเพราะต้องการพิสูจน์ความถูกต้อง และไม่อยากให้เกิดกรณีซ้ำรอยตนอีก ส่วนจะเรียกค่าเสียหายหรือไม่ขอให้หลังการสอบสวนก่อน

ขณะที่ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า โดยปกติการใช้ยาสเตียรอยด์จะต้องมีข้อบ่งชี้ คำเตือนหลักๆ 2 ข้อ คือ 1. การใช้ยานี้เป็นเวลานานจะก่อให้เกิดต้อหิน ต้อกระจก การติดเชื้อในลูกตาดำจนอาจทำให้ตาบอดได้ และ 2.หากใช้ยานี้นานเกิน 7 วัน แต่อาการไม่ดีขึ้นต้องปรึกษาแพทย์ทันที ส่วนยากินสำหรับรักษาดวงตานั้นจะเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งมีข้อบ่งชี้ว่า ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ เบาหวาน วัณโรค เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น