xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ศรีนครินทร์แจงไม่ได้ผ่าตัดต้อกระจกทำคนตาบอด - หญิงวัย 48 อำนาจเจริญจอตาอักเสบติดไวรัส-ต้อหินแทรกซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.พิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ร่วมกันชี้แจงต่อสื่อมวลชน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โรงพยาบาลศรีนครินทร์แถลงข่าวแจงกรณีพบครอบครัวรันทด เด็กหญิงวัย 14 ที่จังหวัดอำนาจเจริญต้องขาดเรียนบ่อย เพื่อดูแลแม่ตาบอดสนิท 2 ข้าง ผลจากติดเชื้อผ่าตัดต้อกระจกจาก รพ.ศรีนครินทร์ไม่เป็นความจริง เผยผู้ป่วยตาบอด เพราะความรุนแรงของโรคจอตาอักเสบติดเชื้อไวรัส ม่านตาอักเสบและต้อหินแทรกซ้อน ผู้ป่วยไม่ได้เป็นต้อกระจก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเที่ยงวันนี้ (11 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 6 สำนักงานคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศ.นพ.พิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รศ.นพ.วิทูรย์ ประเสริฐเจริญสุข และ ศ.นพ.ยศอนันต์ ยศไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ร่วมกันแถลงชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีมีข่าวว่า ด.ญ.ประภาพร อายุ 13 ปี เด็กหญิงยอดกตัญญูนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ ต้องขาดเรียนบ่อยๆเพื่อเฝ้าดูแลอาการของนางนงคราญ สวาสุด อายุ 48 ปี ผู้เป็นแม่ ซึ่งตาบอดสนิท อันเป็นผลจากการติดเชื้อหลังการผ่าตัดรักษาต้อกระจกที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ กล่าวชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวมีข้อมูลบางส่วนที่คลาดเคลื่อน ตามข้อเท็จจริงแล้วนางนงคราญมีอาการตาซ้ายมัว มองไม่ค่อยเห็นจึงเข้ารับการรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งคณะแพทย์ได้วินิจฉัยว่านางนงคราญเป็นม่านตาอักเสบตาซ้าย จึงส่งต่อมายังแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม 2552 ถือเป็นครั้งแรกที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์

ต่อมาทีมจักษุแพทย์ได้ตรวจและวินิจฉัยว่า นางนงคราญ มีปัญหาจอตาอักเสบติดเชื้อไวรัส ม่านตาอักเสบและต้อหินแทรกซ้อน แพทย์จึงได้แนะนำให้นอนเพื่อรักษาตัว แต่ผู้ป่วย คือ นางนงคราญได้ขอไปรักษาต่อที่กรุงเทพฯ ดังนั้น กรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่านางนงคราญเป็นผู้ป่วยตาต้อกระจกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ แล้วเกิดการติดเชื้อในระหว่างการรักษาผ่าตัด จนทำให้ตาบอดสนิทนั้นจึงไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ภิเศกกล่าวว่า โรงพยาบาลเองมีความเห็นใจนางนงคราญและลูกสาวเป็นอย่างมาก เมื่อเช้าวันเดียวกันนี้ จึงได้ส่งรถพร้อมเจ้าหน้าที่ไปรับตัวนางนงคราญจากจังหวัดอำนาจเจริญเพื่อมาตรวจรักษาและให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป

ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่าหลังจากนางนงคราญเข้าไปรักษาต่อกับโรงพยาบาลในกรุงเทพฯแล้ว ได้กลับมาตรวจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์อีกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม และวันที่ 1 กันยายน 2552 ผลการตรวจของแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการมองเห็นแย่ลง ตาซ้ายเห็นแค่แสงไฟ การวินิจฉัยเหมือนเดิม แพทย์จึงได้ให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้ยารักษาม่านตาอักเสบและยารักษาต้อหินต่อ

ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2552 ได้ แพทย์ได้ผ่าตัดวุ้นตาร่วมกับฉีดยาต้านไวรัส เข้าในช่องวุ้นตาซ้าย ใช้เวลาผ่าตัดราว 30 นาที่ หลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์ ตาซ้ายเห็นดีขึ้น เห็นมือโบกไปมา ได้ฉีดยาต้านไวรัสเข้าในช่องวุ้นตาซ้ายต่อเนื่องและให้ยากินต้านไวรัสด้วย

ในอีก 1 เดือนต่อมา ตาซ้ายกลับเห็นแค่แสงไฟ ตาขวาเริ่มมัวลง แพทย์ตรวจพบตาขวาเริ่มมีจอตาอักเสบติดเชื้อไวรัส จึงฉีดยาต้านไวรัส เข้าในช่องวุ้นตาขวาด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยมาตรวจรักษาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ด้วยอาการตาขวามัวลง เห็นแค่นับนิ้วมือได้ที่ระยะ 2 ฟุต ตาซ้ายมองไม่เห็นแสงไฟ ตรวจพบมีม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบติดเชื้อไวรัสและต้อหินแทรกซ้อนทั้ง 2 ตา และมีขั้วประสาทตาขวาฝ่อ ให้การรักษาด้วยยาต่อ หลังจากนั้นผู้ป่วยไม่ได้มาตรวจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์อีกเลย จนกระทั่งทราบเรื่องราวของนางนงคราญอีกครั้งจากข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ

รศ.นพ.ชาญชัยกล่าวย้ำว่า โดยสรุปแล้วนางนงคราญไม่ได้เป็นต้อกระจก แต่เป็นจอตาอักเสบติดเชื้อไวรัส ม่านตาอักเสบและต้อหินแทรกซ้อน ผู้ป่วยไม่ได้ผ่าตัดต้อกระจก แต่ได้รับการผ่าตัดวุ้นตา ร่วมกับฉีดยาต้านไวรัสเข้าในช่องวุ้นตาและสาเหตุที่ทำให้ตาบอดทั้งสองข้างนั้น เป็นผลจากความรุนแรงของโรคจอตาอักเสบติดเชื้อไวรัส ม่านตาอักเสบและต้อหินแทรกซ้อน ทางโรงพยาบาลอยากให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริง เพื่อจะได้ไม่วิตกกังวลและให้ความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศรีนครินทร์เช่นเดิม

ศ.นพ.ยศอนันต์ ยศไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุแพทย์ กล่าวถึงตัวเลขผู้ป่วยต้อกระจกที่รอนัดหมาย เพื่อผ่าตัดว่าค่อนข้างสูงเช่นกัน แต่ละวันต้องผ่าตัดผู้ป่วยเฉลี่ย 10 ราย จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ขณะนี้มีอยู่ 14 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น