xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จีน : พระพุทธรูปหินแกะสลักบนหน้าผาเขาเหม็ง พระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดของจีน
รัฐบาลจีนเตรียมทุ่มงบ 350 ล้านบาท บูรณะพระพุทธรูปเก่าอายุ 1,459 ปี

• จีน : เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวซินหัวของจีนได้รายงานว่า รัฐบาลจีนเตรียมอนุมัติงบราว 350 ล้านบาท เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปหินแกะสลักบนหน้าผาเขาเหม็ง อันเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดของจีน อายุราว 1,459 ปี อยู่ในเมืองไท่หยวน เมืองหลวงของมณฑลซานซี ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก หลังการดำเนินงานของเหมืองถ่านหิน 7 แห่งที่อยู่ใกล้เคียง ได้สร้างความเสียหายให้แก่บริเวณ โดยรอบ โดยทางการจีนได้สั่งปิดเหมืองไปแล้วใน ปี 2007 เพื่อคุ้มครององค์พระพุทธรูป และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหวังที่จะพัฒนาบริเวณดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

“งบประมาณจากรัฐก้อนนี้ จะนำไปใช้ซ่อมหน้าผาให้แข็งแรงคงทน อุดรอยแตกร้าวขององค์พระพุทธรูปและบริเวณหน้าผา และฟื้นฟูบริเวณภูเขาให้เขียวขจีิ” เซียว ซิงไห่ เจ้าหน้าที่ธรณีวิทยาของเมืองไท่หยวนกล่าว
(จาก AP)

มาเลเซียเปลี่ยนชื่อถนน เป็นชื่อพระสงฆ์ดัง

• มาเลเซีย : เมื่อเร็วๆนี้ รัฐมะละกา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นรัฐแห่งแรกที่นำชื่อพระสงฆ์ผู้ล่วงลับ “พระซีท คิม เบ็ง” ผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมมาเลเซีย มาเป็นชื่อถนน

โดยพิธีเปลี่ยนชื่อถนน Pelanduk Putih เป็น Seet Kim Beng ได้จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ บริเวณใกล้วัดเซค เกีย เอนห์ ในกาจาห์ เบรัง มี “พระซีท จิต เฮง” ประธานพุทธสมาคมมาเลเซียคนปัจจุบัน “พระซีท จิค ฮวง” อดีตประธาน และ“พระซีท ลี เติร์ค” ประธานคณะกรรมการโรงเรียนเอสเจเค (ซี) เซียง ลิน ร่วมในพิธี

ดาโต๊ะ กาน เตียน ลู รักษาการประธานพรรค Malaysia Chinese Association ในรัฐมะละกา กล่าวในพิธีว่า ทางรัฐมะละกามีมติให้เปลี่ยนชื่อถนนดังกล่าว เพื่อเป็นเกียรติแก่พระซีท ในคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างให้กับประเทศชาติ

กานกล่าวว่า พระซีทเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนประถมศึกษาเซียง ลิน (ปัจจุบันคือ โรงเรียนเอสเจเค (ซี) เซียง ลิน) ในปี 1951 ซึ่งนับเป็นโรงเรียนประถมศึกษาจีนแห่งแรกในมาเลเซียที่สอนวิชาพุทธศาสนา และได้รณรงค์ให้รัฐบาลประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดสาธารณะในคาบสมุทรมลายูได้สำเร็จในปี 1962 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวันหยุดแห่งชาติในปี 1988

ดร.ออง ซี ยิว ประธานสมาคมยุวพุทธมาเลเซีย กล่าวว่า ชุมชนชาว พุทธเจริญเติบโตได้ด้วยการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของผู้อื่น โดยพระซีทผู้ล่วงลับได้แสดงความคิดเห็นนี้ไว้ ตรงกับโครงการรณรงค์ “หนึ่งมาเลเซีย” ซึ่งประกาศโดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย “นายิบ ตัน ราซัค” เมื่อปี 2008
(จาก Thestar Online)

มาเลเซียจัดแสดงพระอรหันตธาตุ

• มาเลเซีย : ลามะ โซปา รินโปเช พระชื่อดังในนิกายมหายาน อยู่ในระหว่างเดินทางรอบโลก เพื่อจัดแสดงพระอรหันตธาตุของบรรดาลามะที่มีชื่อเสียง โดยจะมาที่ประเทศมาเลเซียในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนชาวมาเลเซียเข้ากราบไหว้พระอรหันตธาตุที่ดูคล้ายเม็ดไข่มุกอันงดงาม ซึ่งเชื่อกันว่า พระอรหันตธาตุเปรียบเสมือนตัวแทนคำสอนของพระภิกษุเหล่านั้น

โดยจะจัดแสดงที่ศูนย์ชอคยี ไกอาลเซน ในปีนัง ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2010 และจะย้ายไปจัดแสดงต่อที่ศูนย์ โลซัง ดรักปา ในเซลังงอ ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2010 โดยไม่เก็บค่าเข้าชม แต่ผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคได้

ดร.ดาเนียล เยียว ประธานศูนย์ ชอคยีฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร อุทิศตนเพื่อเผยแพร่ธรรมะ กล่าวว่า ทัวร์พระอรหันตธาตุรอบโลกครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในงานจัดแสดงครั้งใหญ่ที่สุด เนื่อง จากเป็นที่รวมพระอรหันตธาตุจำนวนมากให้ได้สักการบูชา

ประธานศูนย์ชอคยีฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ลามะโซปา รินโปเช ผู้รวบรวมพระอรหันตธาตุที่นำมาจัดแสดงนี้ เป็นผู้ก่อตั้งวัดโกปาน ในประเทศเนปาล และมูลนิธิเพื่อการคุ้มครองขนบธรรมเนียมลัทธิมหายาน โดยท่านมีสานุศิษย์หลายแสนคนทั่วโลก
(จาก Thestar Online)

สมาคมพุทธจีน แต่งตั้งผู้นำสงฆ์รูปใหม่

• จีน : เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีนได้จัดการประชุมระดับชาติเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเฟ้นหาผู้นำคนใหม่ และมีมติแต่งตั้งพระอาจารย์ชวน หยิน เป็นประธานสมาคมฯคนใหม่

โดยพระอาจารย์ชวน หยิน ได้เข้ารับตำแหน่งต่อจากพระอาจารย์หยี เช็ง ซึ่งเป็นประธานสมาคมฯมาตั้งแต่ปี 2002 เพื่อทำหน้าที่สร้างความสามัคคีปรองดองในหมู่ชาวพุทธและส่งเสริม พุทธศาสนาในประเทศ ในการนี้ได้มีการสวดสรรเสริญพระรัตนตรัย เพื่อเป็นการปฏิญาณตนต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลักธรรมคำสอน และประชาคม
(จาก CCTV)

อินโดนีเซียออกกฎเข้มห้ามนักท่องเที่ยวนุ่งสั้นเข้าชมบุโรพุทโธ

• อินโดนีเซีย : อินโดนีเซียออกกฏคุม เข้มนักท่องเที่ยวที่แต่งกายโชว์เนื้อหนังเข้า ชมโบราณสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ โดยข้อบังคับใหม่ที่เริ่มใช้ในเดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาระบุว่า นักท่องเที่ยวที่สวมกางเกงขาสั้นและกระโปรงสั้นเข้าชมวัดบุโรพุทโธ จะต้องนุ่งโสร่งทับ เพื่อให้เกียรติต่อสถานที่ และต้องสวมรองเท้ายาง เพื่อป้องกันมิให้บริเวณโดยรอบที่เป็นหินแกะสลักเสียหาย

“นอกจากวัดบุโรพุทโธจะเป็นแหล่งท่อง เที่ยวแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชน มาสักการบูชาอีกด้วย เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามายังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาต้องแสดงความเคารพ ไม่ควรนุ่งกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น เพราะไม่สุภาพ” เปอร์โนโมซิสโว ปราเสตโย ผู้จัดการบริษัทที่ดูแลโบราณ สถานแห่งนี้กล่าว โดยระบุว่า ข้อบังคับใหม่นี้จะช่วยสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่นี่ให้ดีขึ้น

“เราได้รับคำร้องเรียนจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเสมอๆ เกี่ยวกับการแต่งกายที่ล่อแหลมของนักท่องเที่ยวบางคนที่มาเยือนบุโรพุทโธ”

ปราเสตโยบอกว่า ข้อบังคับนี้จะทดลองใช้เป็นเวลา 1 เดือน และรองเท้าแตะที่จะทำให้หินภูเขาไฟเสียหายน้อยที่สุด คือรองเท้าที่สานจากใบเตยแห้ง ซึ่งขณะนี้ทางวัดได้สั่งชุมชนท้องถิ่นให้ผลิต และจะบรรจุลงในข้อบังคับการแต่งกายของนักท่องเที่ยว โดยในช่วงทดลองนี้ ทางวัดจะไม่เก็บค่าใช้ โสร่งและรองเท้าแตะ

บุโรพุทโธ ตั้งอยู่ในภาคกลางของเกาะชวา สร้างขึ้นเมื่อราว 1,200 ปีที่แล้ว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของอินโดนีเซีย ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุด ในปี 2009 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 2.5 ล้านคน องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1991 โดยให้คำนิยามว่า “เป็นผลงานชิ้นเอกสุดยอดอัจฉริยะงานสร้างของมนุษย์”
(จาก Otago Daily Times)

ลาวเตรียมสร้าง ม.พุทธศาสนาแห่งแรก

• ลาว : เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งแรกของลาวขึ้นที่วัดพระบาท ในหมู่บ้านนาไค แขวงเซธานี ซึ่งอยู่ห่างจากนครเวียงจันทน์ราว 60 กม. เพื่อเปิดโอกาสทาง การศึกษาให้ลูกหลานของชนกลุ่มน้อยและคนชนบทในลาว

พระเถระบัวคำ สารีบุตร รักษาการประธานองค์กรพุทธแห่งประเทศลาว และประธานการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเปิดรับพระภิกษุลาวเข้าศึกษาต่อในระดับสูง และบุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาพุทธศาสนา โดยระบุว่า ทางรัฐมีนโยบายเปิดโอกาสด้านการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ทั้งในเมืองและชนบท ได้เข้าถึงแหล่งศึกษา

องค์กรพุทธฯตระหนักดีว่า พระภิกษุ สามเณรลาวส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชนกลุ่มน้อยและผู้ใช้แรงงาน ซึ่งด้อยโอกาสทางการศึกษา อันเนื่องมาจากสภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ลาวจำเป็นต้องสร้างมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา เพราะมีนักเรียนจำนวนมากที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน 9 จังหวัด หาที่เรียนต่อไม่ได้

ประธานการศึกษาแห่งชาติมั่นใจว่า ด้วยอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิทั้งฆราวาสและพระภิกษุ ซึ่งจบจากต่างประเทศ จะช่วยให้พระที่ศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีคุณภาพสูง

“ตอนนี้เรากำลังเตรียมสร้างครูอาจารย์ บางท่านกำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทย พม่า และพระภิกษุ 10 รูปที่กำลังศึกษาอยู่ในอินเดีย รวมทั้งอีกหลายรูปในประเทศอื่นๆ ครูอาจารย์เหล่านี้จะช่วยให้เราพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อออกมารับใช้ประเทศชาติ”

โดยมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาจะเปิด สอนหลักสูตรวิชาการทางพุทธศาสนา การศึกษา และสังคมศาสตร์ ด้วยค่าเรียนที่ถูกกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ

ประธานการศึกษาแห่งชาติยังกล่าวถึงการที่บางคนไม่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของพระภิกษุ โดยมองว่าไม่ได้มาตรฐานนั้น แต่แท้จริงแล้ว พระภิกษุสามารถให้ความรู้แก่นักเรียนได้ดีกว่า

“หลังจากพระภิกษุจบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็สามารถรับใช้สังคมด้วยการเป็นครูทั่วๆไป และมีบทบาทสำคัญในการสอนเรื่องศีลธรรมและหลักประพฤติปฏิบัติอันดีงาม เป็นการรักษาวัฒนธรรมของชาติ” พระเถระบัวคำกล่าว

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยดังกล่าวมี 26 อาคาร รวมทั้งห้องประชุมใหญ่ 1 ห้อง หอพักนักศึกษา 2 แห่ง และอาคารเรียนสูง 3 ชั้น 4 อาคารซึ่งรองรับนักศึกษาได้ราว 3,000 คน นอกจากนี้ยังมีโรงครัว 1 แห่ง ห้องพักครู ห้องสมุด และห้องสุขา ด้วยงบประมาณค่าก่อสร้างราว 45 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,500 ล้านบาท) โดยเงินที่ใช้ในการก่อสร้าง ส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค
(จาก VientianeTimes)

พิพิธภัณฑ์สมาคมเอเชีย ในนครนิวยอร์ก จัดนิทรรศการ “การจาริกแสวงบุญและพุทธศิลป์”

• อเมริกา : “การจาริกแสวงบุญและพุทธศิลป์” เป็นนิทรรศการใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการจาริกแสวงบุญต่อการผลิตงานศิลปะในเอเชีย โดยจะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์สมาคมเอเชีย ในนครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม ถึง 20 มิถุนายน 2010

ไฮไลท์ของนิทรรศการอยู่ที่ศิลปวัตถุสำคัญล้ำค่าราว 120 ชิ้นที่จะนำมาจัดแสดง มีทั้งรูปประติมากรรม ภาพวาด ภาพพิมพ์ เครื่องใช้ในพิธีกรรม รูปถ่าย และแผนที่ อายุราวศตวรรษที่ 1-20 โดยมีศิลปวัตถุส่วนหนึ่งที่ไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน

การจาริกแสวงบุญของชาวพุทธเริ่มมีขึ้นในเอเชียใต้ในศตวรรษที่ 1 โดยเดินทางไปยังสถานที่ตามพุทธประวัติ ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน เพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นถึงความสำคัญของพุทธประวัติ

ผู้เข้าชมจะได้เห็นถึงอิทธิพลของการจาริกแสวงบุญที่มีต่อการผลิตงานศิลปะทั่วเอเชีย ทั้งความจำเป็นของศิลปะวัตถุที่ใช้ในการจาริกแสวงบุญ และการสร้างวัตถุเครื่องรางของขลังเพิ่มมากขึ้น เช่น ภาพระบายสีมันดาลา ม้วนกระดาษ ฉาก รูปประติมากรรม วงล้อมนตรา ศาลเจ้า สิ่งทอและแผนที่ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงแรงจูงใจ ในการจาริกแสวง บุญ การจัดเตรียมพิธีกรรม การสักการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งทำให้เห็นถึงการจาริกแสวงบุญไปตามดินแดนต่างๆ และการผลิตงานศิลปะตามอิทธิพลของพิธีกรรมทางศาสนาที่มีอยู่ก่อนหรือมีอยู่ในสมัยนั้น
(จาก Asia-Society)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดย เภตรา)
มาเลเซีย : นำชื่อพระสงฆ์ผู้ล่วงลับ พระซีท คิม เบ็ง ผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมมาเลเซีย มาเป็นชื่อถนน
มาเลเซีย : พระอรหันตธาตุ ที่ดูคล้ายเม็ดไข่มุกอันงดงาม
จีน : พระอาจารย์ชวน  หยิน ประธานสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีนคนใหม่
อินโดนีเซีย : บุโรพุทโธ โบราณสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ
อินโดนีเซีย : บุโรพุทโธ โบราณสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ
อเมริกา : การจัดนิทรรศการ การจาริกแสวงบุญและพุทธศิลป์ ในนครนิวยอร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น