เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คนไทยได้รับข่าวที่น่าหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเล่าเรียนกำลังขวนขวายศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า การส่งลูกไปเรียนเมืองนอกหรือไปเรียนในหลักสูตรพิเศษช่วงปิดเทอมเพื่อฝึกภาษาเป็นที่นิยมกันอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศใกล้ๆ อย่าง สิงคโปร์
เมื่อเด็กหญิงณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ เดินทางไปสิงคโปร์ เพื่อเรียนภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุร่วงตกลงไปบนรางรถไฟฟ้า ขณะยืนรอรถอยู่ที่สถานี และต้องถูกตัดขาทิ้งทั้ง 2 ข้าง และครอบครัวของเธอได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอสเอ็มอาร์ที หลังปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของบริษัท ที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 120,000 บาท
ล่าสุดข่าวที่ออกมาจากทางสิงคโปร์ คนไทยก็ต้องใจหายวูบ รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นเด็กหญิงชาวไทยและเป็นข่าวโด่งดัง หลังจากที่บริษัทรถไฟฟ้าสิงคโปร์ หรือเอสเอ็มอาร์ที (SMRT) ผู้ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าของสิงคโปร์ ยื่นคำร้องค้านในคดีที่โดนครอบครัว ‘น้องธันย์’ เด็กหญิงณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 15 ปี ซึ่งเคราะห์ร้ายที่โดนเบียดตกลงไปในรางรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ จนโดนทับขาดขาดทั้ง 2 ข้าง เรียกค่าเสียหาย 3.4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ 85 ล้านบาท โดยยืนยันว่า ให้บริการภายใต้มาตรการความปลอดภัยอย่างครบถ้วน มีทั้งการติดคำเตือน และจัดหาการป้องกันภัยล่วงหน้า อย่างเช่น ขีดเส้นเหลือง และระยะการไหลของขบวนรถหลังจากพนักงานขับเหยียบเบรก ก็กำหนดไว้ภายในระยะปลอดภัย
โดยเอสเอ็มอาร์ทีแย้งว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กหญิงณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อายุ 15 ปี เป็นเพราะความประมาทของตัวเธอเอง และว่าเด็กหญิงณิชชารีย์ ตระหนักดีถึงอันตรายที่อาจเกิดจากรถไฟฟ้าที่กำลังเข้าสถานี และว่า หากยืนอยู่หลังเส้นเหลืองจนกว่ารถไฟจะเข้าเทียบสถานี เด็กหญิงณิชชารีย์ก็จะปลอดภัย ไม่มีทางร่วงลงไปในรางรถไฟฟ้าได้
สำหรับกรณีนี้ ถึงแม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศสิงคโปร์มีกฎระเบียบข้อบังคับสูง แต่เชื่อว่าหลายๆ คนมองปนระคนสงสัยว่า ข้อบังคับต่างๆ ที่เข้มงวดของสิงคโปร์เกี่ยวอะไรด้วยหรือ กับความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง คงไม่แสดงออกถึงความไม่รับผิดชอบถึงเพียงนี้
หากลองมองเข้าไปยังประเทศที่มีความเจริญมากที่สุดในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยความมานะอดทน หัวคิดและฝีมือของบุคลากรในประเทศ คงต้องยอมรับอย่างดุษณีว่า ความสำเร็จดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ณ สถานที่อันมีขีดจำกัดทั้งเรื่องพื้นที่ น้ำจืด และอีกกหลายอย่าง สิงคโปร์สามารถก้าวผ่านขึ้นมาผงาดในวงการการค้าภูมิภาคได้อย่างสง่า กระนั้นความคิดแบบพ่อค้านี่หรือจะดีที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมในสังคมโลก
เบ้าหลอมแห่งชาติของประชากรสิงคโปร์
วัฒนธรรมและอุปนิสัยประจำชาติ รวมถึงการตัดสินใจในเชิงกฎหมายและมนุษยธรรมล้วนหลีกไม่พ้นจากบรรทัดฐานของเบ้าหลอมทางสังคมของชาตินั้นๆ สิงคโปร์เอง แม้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีธรรมาภิบาลและโปร่งใสมากที่สุดในโลก มีเศรษฐกิจที่ดีตัวเลขที่สวยหรู รวมถึงกฎหมายและข้อห้ามภายใต้บทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ประชากรที่มีอยู่กว่า 5 ล้านคนบนเกาะเล็กๆ ปลายติ่งคาบสมุทรมลายู ดูจะภูมิใจในความเป็นเลิศของชาติตัวเอง แต่ดูเหมือนไร้น้ำใจและเขี้ยววลากดินเรื่องผลประโยชน์ของชาติตัวเองในสายตาประชาคมอาเซียนและชาวโลก
ณัฐพจน์ ยืนยง นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าความรุดหน้าของเศรษฐกิจสิงคโปร์เกิดจากประชากรในประเทศมีคุณภาพที่สูงและมีคุณสมบัติพิเศษด้านการค้า โดยชาวสิงคโปร์ มีจำนวนประชากรประมาณ 5.08 ล้านคน (2553) ซึ่งมากที่สุดเป็นชาวจีนกว่า 76.5% ชาวมาเลย์ 13.8% ชาวอินเดีย 8.1% และอื่น ๆ 1.6% ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าประชากรที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นชาวจีนนั้น อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อุปนิสัยหลักๆ ของคนชนชาตินี้ คือมีความขยันขันแข็งเป็นอย่างยิ่ง
โดยจะเห็นได้จากตั้งแต่ปี 2508 ที่สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซีย ก็กลายเป็นแค่เกาะเล็กๆ แต่ด้วยมันสมอง ความขยัน และฝีมือก็ได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่ปี จนได้เป็นศูนย์กลางการค้า เท่านี้ก็พอจะทำให้เห็นแล้วว่าประชากรในประเทศเป็นผู้มีระเบียบวินัย และความมานะอดทนเป็นอย่างมาก จนอาจขาดความตระหนักในเรื่องอื่นๆไปบ้าง
“ตอนที่เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด บิงก์เลย์ แรฟเฟิลส์ ผู้สำรวจและก่อตั้งประเทศเดินเรือมาแถบนี้ เห็นสิงคโปร์เข้าก็สนใจในตัวเกาะแห่งนี้ หลังจากนั้นก็ยินดีเปิดรับชาวจีนให้มาพักในเมืองเพราะเขาเห็นว่าคุณสมบัติของชาวจีนที่จะสามารถพัฒนาประเทศจนรุดหน้าได้ จนเป็นบ่อเกิดที่คนจีนมาแวะพักเรือและอาศัย อยู่ที่นั่น เรื่อยมาจนเป็นประชากรหลักของประเทศจนทุกวันนี้
“ส่วนเรื่องจิตใจและอุปนิสัยโดยรวมของคนสิงคโปร์ก็เหมือนๆ กับคนทั่วไป แต่ด้วยความเป็นนักค้าขายที่เก่ง จึงจะมองเห็นผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับมากกว่า ถึงแม้จะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณ์พิเศษในการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แต่ชาวสิงคโปร์มีความกลัวภายในจิตใจคือกลัวการล้มเหลว และกลัวการเสียเปรียบ และคิดถึงประโยชน์ที่ตนเองจะได้ เป็นเรื่องหลัก ส่วนกรณีน้องธันย์ต้องดูข้อกฎหมายระหว่างเรากับเขา ซึ่งส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะนี้ตลอด ไม่ว่าจะกรณีอะไรก็แล้วแต่ คงต้องต่อสู้กันไป”
ด้านความคิดเห็นของ เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล สถาปนิกหนุ่มที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่สิงคโปร์ เล่าให้ฟังถึงสภาพสังคมโดยรวมของที่นั่นว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นระเบียบสูง ทั้งกฎข้อบังคับของสังคมหรือของแต่ละบุคคล แต่ถ้าถามถึงน้ำจิตน้ำใจของคนสิงคโปร์แล้ว เชาว์วัฒน์
บอกว่ามันไม่ได้แตกต่างจากบ้านเราเท่าไหร่นัก
“ผมเคยทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่สิงคโปร์ โดยส่วนตัวแล้วสังคมโดยรวมของที่โน่นต่างจากบ้านเราอย่างเห็นได้ชัด เพราะที่โน่นมีความรับผิดชอบต่อกฎและระเบียบมาก สมมติว่าถนนเส้นนี้ห้ามจอดริมฟุตปาธมันก็จะไม่มีใครมาเปิดไฟกะพริบขอจอดแน่นอน ถ้ากฎมันว่าอย่างไรคนของเขาก็จะทำอย่างนั้น”
เชาว์วัฒน์เล่าประสบการณ์ตรงของเขาในสิงคโปร์ว่า คนสิงคโปร์ ถ้าดูเป็นคนทั่วๆ ไป ก็มีอยู่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือชาวมาเลย์เอง ในเรื่องของจิตใจ ความเห็นอกเห็นใจ มิตรภาพ มันไม่ต่างจากคนไทยหรอก แต่ว่าหากมองลึกไปกว่านั้น จะเห็นว่าเขายังเป็นคนที่ยึดติดกับกฎต่างๆ ในสังคมอยู่มาก คือถ้ามีกรณีใดๆ เกิดขึ้น ก็ต้องว่าการตามกฎโดยไม่มีการยกเว้นหรือยืดหยุ่นเลย แม้ว่าเขาจะรู้สึกเห็นใจแค่ไหนก็ตาม
“มันก็ย้อนกลับไปถึงประเด็นที่ว่า พวกเขาเกิดและเติบโตมาอย่างไร ทุกคนเติบโตมาด้วยกฎ ประเทศนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่ความจริงแล้วมันก็มีความเป็นเผด็จการอยู่ กฎหมายของที่นั่นจะเข้มและไม่มีใครกล้าล่วงละเมิดเลย อย่างบ้านเราตอนที่มีม็อบนั้น ประชาชนสามารถออกมาชุมนุมได้ ออกมาปิดถนนได้ ผมเลยถามเพื่อนชาวสิงคโปร์เล่นๆ ว่า เคยมีแบบนี้ในบ้านเขาบ้างไหม เขาก็บอกว่าลึกๆ แล้วก็ไม่มีใครพอใจรัฐบาลหรอก เพราะการปกครองผูกขาดเกินไป แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครออกมาประท้วงเพราะต้องโดนจับแน่นอน เขาก็ถามผมกลับว่าที่ประเทศไทยทำไมไม่มีตำรวจออกมาจับ”
เมื่อคนภายนอกมอง ก็มักจะคิดว่า คนสิงคโปร์เคร่งเครียดกับชีวิตและมีกฎระเบียบมาก แต่ในสายตาของชาวสิงคโปร์เองกลับไม่ได้มองอย่างนั้น
“คนที่นั่นเขาไม่ได้มองว่าตัวเองเครียดหรอกเพราะเขาโตมาอย่างนั้น เขาจะคิดว่าตนเองเป็นคนมีความรับผิดชอบ รู้จักวางแผน แต่ถ้าให้เรามองก็เห็นว่า เขานี่เครียดมากเลยนะ”
คลุกคลีตีโมง ‘สิงคโปร์’
สำหรับการมองลงไปลึกๆ ถึงคนสิงคโปร์ คนที่สามารถไขความกระจ่างได้ในระดับหนึ่ง กฤช เทพบำรุง ผ่านทัศนะของมัคคุเทศก์ที่ได้คลุกคลีและร่วมงานกับชาวสิงคโปร์มาเป็นเวลานานหลายปี เขาเล่าว่าโดยส่วนตัวนั้นยอมรับและนับถือเรื่องความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดชาวสิงคโปร์
“คนสิงคโปร์เกือบทั้งหมดเป็นคนมีการศึกษาดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันถ้าพ่อแม่เป็นชาวจีนล้วนก็จะพยายามให้ลูกพูดภาษาอังกฤษให้ได้และให้ดี และก็ยังคงยึดถือขนมธรรมเนียมประเพณีอยู่อย่างเคร่งครัดเช่นกัน”
แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือน้ำจิตน้ำใจนั้น กฤชขยายภาพให้เห็นแจ่มชัดว่า ในช่วงแรกๆ ที่ชาวสิงคโปร์เพิ่งเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ล้วนแต่เป็นคนมีอุปนิสัยน่ารักและจับจ่ายใช้สอยอยู่พอสมควร ซึ่งก็มากกว่าปัจจุบัน แต่ในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมากลับเริ่มเปลี่ยนไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยต้องการที่จะเที่ยวให้ได้คุ้มที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามจะหาสิ่งที่ดีที่สุดในราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ละเลยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไป
“ในสมัยก่อนคนสิงคโปร์เป็นนักท่องเที่ยวที่ยังใหม่ พูดภาษาอังกฤษก็ยังไม่ได้มาก การจับจ่ายใช้สอยก็ยังเป็นไปอย่างเต็มที่ แต่ผ่านสักประมาณ 3-5 ปีให้หลังมานี้ เขาจะค่อนข้างจับจ่ายซื้อของยากขึ้น ต้องการของที่ถูกและดี ก็ยังถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในเรื่องของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เท่าที่เห็นคนสิงคโปร์จะไม่ยอมเสียเปรียบเด็ดขาด โดยหลายๆคน ยังแสดงถึงการขาดน้ำใจบ้างก็มีให้เห็นด้วยเช่นกัน แบบว่าแซงคิว ไม่ลุกให้ผู้หญิง เด็กหรือคนแก่นั่ง เวลาที่มีการรวมนั่งในบัสคันเดียวกันรวมกันหลายๆ ชาติ คนสิงคโปร์ก็จะรีบจับจองที่นั่งเร็วที่สุดก่อนเพื่อนเสมอ โดยไม่ได้มองเผื่อเลยว่าจะมีคนแก่หรือคนท้องขึ้นมาหรือไม่”
กรณีน้องธันย์ ทำให้ได้มองเห็นลักษณะนิสัยประชาติของสิงคโปร์มากขึ้น แต่ด้วยความสัมพันธ์หลายๆ อย่างของทั้งไทยและสิงคโปร์ เราก็ยังคงเป็นเพื่อนบ้านที่แลกเปลี่ยนหลายๆ สิ่งกันต่อไป หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น นักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อ หรือเทกคอร์สสั้นๆที่สิงคโปร์เนื่องจากความล้ำหน้าการศึกษาของประเทศนี้ ทางด้าน บริษัท ไทม์ อะบอร์ด หนึ่งในเอเยนซีให้คำปรึกษานักเรียนไทยไปเรียนที่สิงคโปร์บอกว่า ถึงแม้จะมีกรณีน้องธันย์เกิดขึ้น แต่กลับไม่มีผลกระทบต่อการส่งนักเรียนไปยังสิงคโปร์ของบริษัทตน เนื่องจากผู้ปกครอง หรือตัวนักเรียนเองก็ยังมีความมั่นใจในมาตรฐานการเรียนของที่นั่นมากกว่า ซึ่งถึงแม้เรื่องประกันภัยจะเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่โน่นเป็นผู้ดูแลก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลกระทบที่ทำให้นักเรียนไทยจะเลือกไปเรียนสิงคโปร์น้อยลง หรือถ้าจะมีก็คงเป็นจำนวนน้อยมาก
……….
แม้ว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (Gross Domestic Product-GDP) จะเป็นตัววัดความเจริญของคนในประเทศนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม สังคมโลกยังต้องการความมีน้ำใจ ละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่เสมอ หากทำการค้าที่ได้รับแต่ผลกำไร โดยที่ไม่ได้เหลียวหลังแลหน้าเลยว่ามีผลกระทบทางจิตใจของผู้อื่นหรือไม่ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ชาติไหนปรารถนาเช่นกัน คงต้องยอมรับว่า ถึงแม้ประเทศนี้จะมีความเจริญด้านวัตถุมากจริงๆ แล้วจะไม่มองความเจริญด้านจิตใจไปเลยคงไม่ได้.
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK