น้องธันย์” ดีขึ้น กลับเมืองไทยเข้ารักษาตัวที่ “ศูนย์สิรินธรฯ” สธ.พร้อมรับการทำกายภาพบำบัด เตรียมใส่ขาเทียมพระราชทานจาก “สมเด็จพระเทพฯ” ผอ.ศูนย์ฯ คาด ใช้เวลาฝึกใส่ขาเทียม 6 สัปดาห์ ด้านเจ้าตัวบอก เผยพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพฯ ช่วยให้ใจเข็มแข็ง ถือคติ “คิดบวก” สร้างกำลังใจให้ชีวิต ด้านพ่อตั้งทนายฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากรถไฟฟ้าสิงคโปร์ หลังไม่ได้รับความเหลียวแล
จากกรณีที่ ด.ญ.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อายุ 14 ปี หรือ น้องธันย์ ซึ่งเดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษ ที่ประเทศสิงคโปร์ และประสบอุบัติเหตุรถไฟฟ้าทับจนสูญเสียขาทั้งสองข้าง กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมอบให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเรื่องของขาเทียมผ่านโครงการขาเทียมของศูนย์สิรินธรฯ
ล่าสุด (14 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้องธันย์ พร้อมด้วย นายกิตติ์ธเนศ เป็นเอกชนะศักดิ์ บิดา ได้เข้าฝึกทำกายภาพบำบัด ที่ตึกกายภาพบำบัด ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ภายหลังเข้าพักรักษาตัวตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดยนพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมการแพทย์ดูแล และฟื้นฟู รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ขาเทียมชนิดที่ดีที่สุด ซึ่งกรมได้จัดซื้ออุปกรณ์ขาเทียมที่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ซีเลก เป็นเทคโนโลยีใหม่สั่งการด้วยไมโครชิป กรมสั่งซื้อมาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี สำหรับขาเทียมชนิดนี้มีความพิเศษกว่าขาเทียมทั่วไป เนื่องจากควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถควบคุมความเร็วในการเดิน ทำให้การเดินดูเป็นธรรมชาติ และคล่องตัวมากขึ้น
พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรฯ กล่าวว่า ด.ญ.ณิชชารีย์ จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูร่างกาย การทำกายภาพบำบัด และการฝึกใช้ขาเทียมเป็นเวลาราว 6 สัปดาห์ โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรก จะเป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย ฝึกกล้ามเนื้อขา โดยเฉพาะข้อสะโพก และทดลองใช้ขาเทียมที่จัดขึ้นชั่วคราวก่อน โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่เหลือจะเป็นการฝึกใช้ขาเทียมจริง อย่างไรก็ตาม สำหรับ ด.ญ.ณิชชารีย์ ถือว่าเป็นเด็กที่มีกำลังใจดีมาก ฝึกง่าย และยอมรับที่จะสวมใส่ขาเทียม ขณะที่บางคนหากประสบเหตุการณ์เช่นนี้มักจะท้อแท้ ซึมเศร้าร่วม 2-3 เดือนทีเดียว
ด.ญ.ณิชชารีย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ตนเดินทางกลับมาประเทศไทยก็ได้รับกำลังใจทั้งจากครอบครัว เพื่อน ญาติ แพทย์ พยาบาล และบรรดาเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นอย่างดี หลายคนทยอยมาเยี่ยมดูอาการเรื่อยๆ จึงทำให้มีกำลังใจขึ้นมาก ในเวลาว่างก็พยายามฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง ตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้สู้มาโดยตลอด คือ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งตนระลึกถึงอยู่เสมอและตั้งใจไว้ว่าจะต้องหายในเร็ววันเพื่อจะได้ตั้งใจเรียนหนังสือต่อไป และเป็นจิตแพทย์อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ โดยในเวลาว่างก็อ่านหนังสือเป็นประจำ พยายามคิดบวกให้ตนเองมีกำลังใจเสมอ และยิ้มแย้มแจ่มใสกับคนรอบข้าง ซึ่งคิดว่าหากทำได้คนรอบกายก็จะสบายใจ และสัญญากับตัวเองไว้ว่า หากวันหนึ่งได้เป็นจิตแพทย์ก็จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยคิดบวกเช่นกัน
ด้าน นายกิตติ์ธเนศ ผู้เป็นบิดา กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ ตนสอนลูกอยู่เสมอว่า อวัยวะทุกส่วนมีความสำคัญหมด แต่ขา หากเกิดต้องสูญเสียไป จะเป็นอวัยวะที่หามาทดแทนได้ง่ายที่สุด เพื่อเป็นการให้กำลังใจลูก เพราะเรื่องกำลังใจสำคัญที่สุด เนื่องจากแม้จะได้อุปกรณ์ที่ดีเพียงใด ถ้ากำลังใจไม่ดีก็ไม่เกิดผล และขณะนี้ถือว่า น้องธันย์ มีกำลังใจที่ดีมาก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาทางบริษัท SMRT ซึ่ง ดูแลรถไฟฟ้าของประเทศสิงคโปร์ ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเท่าที่ควร ทั้งที่ตัว น้องธันย์ ก็ยืนยันแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เพราะโดนเบียด ไม่ได้เป็นลม แต่ทาง SMRT แสดงความรับผิดชอบโดยออกเงินค่าช่วยเหลือการรักษาพยาบาลแค่ช่วงแรกเป็นเงิน 5,000 เหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยราวแสนกว่าบาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่เหลือตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ตนเป็นคนออกเองทั้งหมด รวมแล้วมากกว่า 1 ล้านบาท
“ทางสโมสรโรตารี่ จ.ตรัง ซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่ ได้ประสานไปยังสโมสรโรตารี่ของสิงคโปร์ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และเห็นว่า ควรตั้งทนายความขึ้นมาสู้คดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก SMRT ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งทนายความชาวสิงคโปร์ขึ้นมาสู้คดีนี้แล้ว เพื่อขอความเป็นธรรมจากศาลสิงคโปร์ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น้องธัญย์เป็นคนโดนเบียดจนตกลงไป ซึ่งความจริงแล้วในบริเวณดังกล่าวควรที่จะมีการสร้างรั้วกั้น เพราะจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า เคยมีผู้เกิดเหตุตกรางรถไฟฟ้าในสิงคโปร์แล้ว 24 ราย และเสียชีวิตหมดทุกราย แต่ทาง SMRT ก็ยังไม่มีการสร้างรั้วกั้น จึงต้องการฟ้องร้องขอความเป็นธรรมจากศาลสิงคโปร์ และเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับรถไฟฟ้าในประเทศต่างๆ ด้วย เพราะตนสงสัยมาก ว่า ทำไมสร้างรถไฟฟ้าราคาหลายล้านบาทได้ แต่กับการสร้างรั้วกั้นตรงจุดรอขึ้นรถไฟฟ้าทำไมสร้างไม่ได้” นายกิตติ์ธเนศ กล่าว