xs
xsm
sm
md
lg

‘ชัยชนะ’ นำ ‘อันวาร์’ เข้าเส้นทางมุ่งสู่อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อะนิล เนตโต

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Victorious Anwar on path to power
By Anil Netto
27/08/2008

ชัยชนะอย่างท่วมท้นของ อันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำฝ่ายค้านมากบารมีของมาเลเซีย ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันอังคาร(26) ได้กระตุ้นเพิ่มพูนพลังให้แก่การรณรงค์ของเขาซึ่งมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การโค่นล้มรัฐบาล อีกทั้งทำให้คำมั่นสัญญาของเขาที่จะก้าวคืบไปสู่ “ปุตราจายา” ศูนย์บริหารราชการแผ่นดินของประเทศ กลายเป็นความจริงขึ้นมา โดยที่อันวาร์เคยประกาศไว้แล้วว่า ณ ที่นั้น เขาตั้งใจที่จะ “จ้องตา” ท้าทายนายกรัฐมนตรีอับดัลเลาะห์ บาดาวี

ปีนัง – ชัยชนะของ อันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำฝ่ายค้านมากบารมี ในการเลือกตั้งซ่อมอันสำคัญยิ่ง ณ เขตเลือกตั้ง เปอร์มาตัง ปาอูห์ ในรัฐปีนัง เมื่อวันอังคาร(26) ทำให้ความเป็นไปได้ทางการเมืองของมาเลเซียในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ไปเปิดกว้างขึ้นอย่างมาก จากการลงสมัครภายในร่มธงของพรรคยุติธรรมของประชาชน (People’s Justice Party และใช้ชื่อย่อจากชื่อพรรคในภาษามาเลย์ว่า PKR) ของเขา อันวาร์สามารถลอยลำทำคะแนนได้มากกว่าคู่แข่งขันที่มาจากพรรคแกนนำรัฐบาลถึง 15,671 คะแนน โดยที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิกว่า 80% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตดังกล่าวทั้งสิ้นประมาณ 58,000 คน

คะแนนที่เขาเอาชนะคู่แข่งขัน ยังมากกว่าที่ วัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล ภรรยาของเขาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานพรรคพีเคอาร์ เคยทำได้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม โดยในคราวนั้นเธอชนะไป 13,388 คะแนน ชัยชนะมากน้อยขนาดไหนของอันวาร์ กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันบ่อยครั้ง ในฐานะมาตรวัดพลังความสามารถของเขาที่จะดึงดูดความสนับสนุนของประชาชน เพื่อขับดันสิ่งที่เขาประกาศเอาไว้ว่า จะก้าวคืบ “จากเปอร์มาตัง ปาอูห์ สู่ปุตราจายา” ศูนย์บริหารราชการแผ่นดินของประเทศ

ความพยายามของเขาที่จะใช้เขตเลือกตั้งเปอร์มาตัง ปาอูห์ เป็นฐานส่งให้แนวร่วมฝ่ายค้านของเขา สามารถเข้าช่วงชิงอำนาจมาจากแนวร่วมฝ่ายรัฐบาลที่ใช้ชื่อว่า “บาริซัน นาชันนัล” (Barisan Nasional หรือ BN)ในท้ายที่สุดนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่เขาหยิบยกขึ้นมาใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อมของเขาคราวนี้ และก็เป็นที่จับจิตจับใจของชาวมาเลเซียจำนวนมากที่กำลังหวังให้ประเทศมีการปฏิรูปทางประชาธิปไตยและทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ทางฝ่ายแนวร่วมบีเอ็น ได้พยายามต่อสู้กับอันวาร์ ด้วยการฉวยใช้ประโยชน์จากคดีที่เขาถูกฟ้องร้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน ทว่าลงท้ายแล้วก็ไม่สามารถดึงคะแนนในเขตเปอร์มาตัง ปาอูห์ ไปได้มากมายอะไรอยู่นั่นเอง โดยที่อันวาร์กลับได้เสียงจากผู้มาใช้สิทธิถึงสองในสาม นอกจากนั้น เขายังน่าจะประสบความสำเร็จในการเอาชนะใจผู้ออกเสียงที่เป็นคนมาเลย์ในเขตนี้ราว 60-65% โดยที่คนกลุ่มนี้มีจำนวนเกือบเป็น 70% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทีเดียว

สำหรับผู้ออกเสียงที่เป็นคนจีนและคนอินเดียในเขตนี้ ก็น่าที่จะลงคะแนนให้แก่พรรคพีเคอาร์อย่างชนิดเป็นกอบเป็นกำ ทั้งนี้อันวาร์ประสบความสำเร็จเป็นอันดีอยู่แล้วในการผนึกรวมพรรคฝ่ายค้านที่เคยแตกแยกกันมากให้กลายเป็นแนวร่วมกัน โดยประกอบไปด้วย พรรคพีเคอาร์ของเขา, พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party หรือDAP) ซึ่งประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติแต่พื้นฐานเลยเป็นพรรคคนจีน, และพรรคอิสลาม PAS

แนวร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม พันธมิตรประชาชน (People’s Alliance หรือ PR) ชนะได้ที่นั่งในสภาไป 81 ที่นั่งจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ขณะที่แนวร่วมบีเอ็นได้ 140 ที่นั่ง ซึ่งเท่ากับพวกพรรคร่วมรัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากสองในสามในสภา หลังจากที่เคยรักษาไว้ได้อย่างยาวนาน สำหรับการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ก็ถูกจับตามองในฐานะปรอทวัดว่า ความสนับสนุนของพันธมิตรพีอาร์มีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่แค่ไหน ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปได้ผ่านพ้นไป

นอกจากนั้น มันยังถูกมองเป็นเครื่องวัดความสนับสนุนของประชาชนที่ให้แก่แนวร่วมบีเอ็นของรัฐบาล หลังจากที่มีการประกาศขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปกันอย่างมโหฬารถึง 41% ในเดือนมิถุนายน แม้หลังจากนั้นจะได้มีการลดราคาลงมาราว 6% ในสัปดาห์ที่แล้ว อันที่จริง ความสนับสนุนที่มีต่อแนวร่วมพรรครัฐบาลได้ลดต่ำลงเรื่อยๆ มาพักหนึ่งแล้ว สืบเนื่องจากความเชื่องช้าในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น, การใช้นโยบายหลายด้านที่อิงอยู่กับการแบ่งแยกเชื้อชาติ, และความล้มเหลวในการดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง ต่อสถาบันต่างๆ ที่ทรงสำคัญในการธำรงรักษาธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย

ความล้มเหลวดังกล่าวส่งผลให้ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาแนวร่วมบีเอ็นถูกมองว่า มีความชอบธรรมทางศีลธรรมตกต่ำเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ความเสียหายของบีเอ็มในการเลือกตั้งวันที่ 8 มีนาคม ที่ได้คะแนนเสียงจากผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย บ่งชี้ให้เห็นว่าความเสื่อมโทรมในเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองของพวกเขา ในที่สุดแล้วก็ไล่ตามทันความเสื่อมทรุดในเรื่องความชอบธรรมทางศีลธรรมแล้ว เมื่อสองด้านนี้บวกกันเข้า บีเอ็นก็อยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับนับแต่นั้นมา ไม่สามารถที่จะสกัดกั้นไม่ให้ความน่าเชื่อถือของตนเองหดหายต่อไปอีก ดังที่สะท้อนให้เห็นจากผลการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมา ชัยชนะจากการเลือกตั้งซ่อมที่ได้รับการคาดหมายวาดหวังกันไว้อย่างสูง จึงได้เพิ่มเติมพลังขับเคลื่อนให้แก่ความพยายามของอันวาร์ที่จะช่วงชิงอำนาจปกครองประเทศมาให้ได้ภายในวันที่ 16 กันยายน ตามที่เขาได้เคยประกาศเอาไว้ ทั้งนี้เขายังคงยืนยันว่าจะทำได้สำเร็จแน่นอน เพราะส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะแปรพักตร์ เวลานี้ พันธมิตรพีอาร์เป็นผู้ปกครองท้องถิ่นใน 5 รัฐจากทั้งสิ้น 13 รัฐของสหพันธรัฐมาเลเซียอยู่แล้ว แต่กระนั้นมันก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายดายที่จะโค่นล้มแนวร่วมบีเอ็น ซึ่งปกครองประเทศติดต่อกันมาเกือบ 51 ปีเต็มๆ แล้ว หากนับตั้งแต่ที่ดินแดนคาบสมุทรมลายู ได้รับเอกราชจากอังกฤษ และสถาปนาเป็นประเทศมลายา ขึ้นในปี 1957

พวกนักยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์อาจจะมองว่า อันวาร์จงใจเลือกใช้วันที่ 16 กันยายน ซึ่งเป็น “วันมาเลเซีย” ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการในเชิงสัญลักษณ์ โดยที่ในวันดังกล่าวของเมื่อปี 1963 สหพันธรัฐมาเลเซียได้ถือกำเนิดขึ้นมา จากการผนวกรวมตัวกันของมลายา, ซาบาห์, ซาราวัก, และสิงคโปร์ (ต่อมาสิงคโปร์ถอนตัวออกจากสหพันธ์แยกไปเป็นประเทศเอกราชในปี 1965) ทั้งนี้อันวาร์กำลังหวังว่าจะสามารถดึงให้ ส.ส.จากซาบาห์ และจากพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ให้ถอนตัวออกจากแนวร่วมบีเอ็น

อันวาร์มีกำหนดเข้าสาบานตัวเป็นสมาชิกสภาในวันพฤหัสบดี(28) จากนั้นบรรดา ส.ส.ของพันธมิตรพีอาร์ก็จะเลือกเขาขึ้นเป็น ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ระหว่างการปราศรัยหาเสียงหลายต่อหลายครั้ง เขาเคยพูดว่าเขาต้องการที่จะจ้องตาท้าทายนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ เมื่อนายกรัฐมนตรีมาแถลงเสนอร่างงบประมาณแผ่นดินต่อสภาในสิ้นเดือนนี้

การรณรงค์หาเสียงครั้งนี้ โดยข้อเท็จจริงแล้วถือเป็นการทำศึกกันในทางพฤตินัยระหว่างอันวาร์ บุคคลที่ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าจะต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป กับ รองนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ผู้ซึ่งตามแผนการถ่ายโอนอำนาจแล้ว มีกำหนดที่จะสืบตำแหน่งต่อจากอับดุลเลาะห์ในปี 2010 ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเช่นนี้ ทำให้รัศมีดาวเด่นของนาจิบต้องหมองมัวไปบ้าง จากการที่เขาเป็นหัวหอกดูแลการรณรงค์หาเสียงของบีเอ็น ให้แก่ อาริฟ ชาห์ โอมาร์ ชาห์ ผู้ลงแข่งขันกับอันวาร์ครั้งนี้

ในส่วนการรณรงค์หาเสียงของอันวาร์เอง สามารถจับจิตจับใจชาวมาเลเซียจำนวนมาก จากคำมั่นสัญญาใน 2 เรื่องสำคัญ นั่นคือ การปรับปรุงแก้ไขเรื่องความสามัคคีภายในชาติ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในอาการไร้ชีวิตชีวา สำหรับชาวมาเลเซียที่มิใช่คนเชื้อสายมาเลย์แล้ว คำมั่นของเขาที่จะจัดให้มี “วาระทางเศรษฐกิจสำหรับชาวมาเลเซีย” ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกมากยิ่งขึ้น ได้ก่อให้เกิดความหวังว่าจะมีการเน้นหนักให้ความสำคัญกับระบบสังคมที่ถือคุณธรรมความสามารถเป็นหลัก หลังจากมาเลเซียได้ใช้นโยบายให้สิทธิพิเศษด้านต่างๆ มากมายแก่ชาวมาเลย์ตลอดจนกลุ่มคนพื้นถื่นอื่นๆ มานานปีแล้ว

ในเวลาเดียวกัน อันวาร์ก็แสดงความสามารถในการปัดเป่าความหวาดผวาของคนเชื้อสายมาเลย์ที่ว่า พวกเขาจะต้องเป็นฝ่ายสูญเสียพ่ายแพ้ ถ้าหากมีการปรับสนามแข่งขันในทางเศรษฐกิจเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยที่เป็นคนเชื้อจีนและเชื้ออินเดีย สามารถลงแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น “ผมจะปกป้องสิทธิต่างๆ ของคนมาเลย์ ขออย่าได้สงสัยเลยในเรื่องนี้ แต่เรายังจะต้องช่วยคนยากจนของทุกๆ เชื้อชาติถ้าหากพวกเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนจีน อินเดีย หรืออื่นๆ” นี่เป็นคำกล่าวที่เขาพูดย้ำซ้ำๆ อยู่เสมอตลอดการรณรงค์หาเสียงคราวนี้

ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้อันวาร์สามารถที่จะสร้างความสมดุลระหว่างความคาดหวังและความวิตกของกลุ่มคนที่ขัดแย้งชิงดีกันอยู่ และก่อให้เกิดผลดีแก่การรณรงค์ก้าวคืบสู่ปุตราจายาของเขา ทว่าหลังจากนี้แล้ว ก่อนอื่นใดเลยเขาคงต้องฟันฝ่าให้พ้นข้อกล่าวหาเรื่องมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน ที่กำหนดเข้าพิจารณาคดีในศาลกันในวันที่ 10 กันยายนนี้ ตลอดจนการที่สำนักงานต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ ได้เปิดการสอบสวนข้อกล่าวหาใหม่ๆ ซึ่งอดีตเพื่อนมิตรที่หันกลับมาเป็นศัตรูทางการเมืองของเขา ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวโทษในระหว่างการรณรงค์หาเสียงครั้งนี้

อะนิล เนตโต เป็นนักเขียนที่พำนักอยู่ในปีนัง
กำลังโหลดความคิดเห็น