xs
xsm
sm
md
lg

“มะละกา”มรดกโลกใหม่ ในสายธารประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : เหล็งฮู้ชง
ทิวทัศน์เมืองใหม่มะละกาเมื่อมองลงมาจากหอคอยมะละกา
สมัยเด็กในวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมคุ้นเคยกับชื่อ“ช่องแคบมะละกา”ระหว่างแหลมมลายูกับเกาะสุมาตราที่มีความยาวกว่า 800 กิโลเมตรเป็นอย่างดี เพราะคุณครูสอนว่านี่คือจุดยุทธศาสตร์ทางการเดินเรือสำคัญแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ

กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้(8 ก.ค.)ชื่อของมะละกา(Malacca)โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อยูเนสโกประกาศให้เมืองมะละกาและจอร์จทาวน์ในมาเลเซียเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ซึ่งก็บังเอิญตรงกับช่วงที่ผมไปเที่ยวมะละกากับการท่องเที่ยวมาเลเซียพอดี
พิพิธภัณฑ์บาบ้า-ญวนย่า
สำหรับเมืองมะละกาคนมาเลย์ถือเป็นหนึ่งเมืองประวัติศาสตร์สำคัญของบ้านเมืองเขา โดยตามตำนานเล่าว่า เจ้าชายปรเมศวร(Parameswara) ที่ลี้ภัยมาจากสุมาตราได้มาค้นพบ โดยขณะที่เจ้าชายกำลังขึ้นฝั่งพักผ่อน เห็นกระจงถูกฝูงหมาป่ารุมไล่ทำร้าย กระจงเมื่อจวนตัวจึงหามาสู้กับหมาป่าจนตัวตาย

เจ้าชายเมื่อเห็นเหตุการณ์เกิดความรู้ประทับใจในความกล้าหาญของกระจง จึงเกิดไอเดียว่าควรสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บริเวณนี้ ณ ที่กระจงตายบริเวณต้นมะละกาซึ่งก็คือต้นมะขามป้อมในบ้านเรานั่นเอง
จัตุรัสแดงที่ดูโดดเด่นด้วยโบสถ์คริสต์(ซ้าย)และอาคารสตัดธิวท์(ขวา)
จากนั้นเมืองนี้ก็ค่อยๆเติบโตจากชุมชนมลายูเป็นเมืองท่าริมทะเล ที่ต่อมา(ประมาณ 500-600 ปีที่แล้ว)ชาวจีนโพ้นทะเลได้อพยพเข้ามา และสร้างตำนานบาบ้า-ญวนย่า (Baba-Nyonya)ขึ้นที่นี่ โดยบาบ้า(ผู้ชาย)ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ส่วนญวนย่า(ผู้หญิง)ส่วนใหญ่เป็นสาวพื้นเมืองมลายู

ใครที่อยากชมอดีตและรู้จักกับความเป็นบาบ้า-ญวนย้าอย่างละเอียดละออก็ต้องไปที่ พิพิธภัณฑ์บาบ้า-ญวนย่า ในไชน่าทาวน์ บนถนน Jalan Tun Tan Cheng Lock ที่ภายนอกดูโดดเด่นสะดุดตาด้วยรูปแบบอาคารทาวน์เฮาส์แบบจีนผสมยุโรปที่สีสันและลวดลาย

ส่วนภายในตกแต่งแบบคอร์ตยาร์ตมีช่องแสงส่องตรงกลาง ซึ่งหลากหลายไปด้วยของจัดแสดง ทั้ง เฟอร์นิเจอร์โบราณลวดลายสวยงาม ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ถ้วย ชาม เครื่องกระเบื้องเคลือบ รูปภาพ โคมแต่งงานเก่าแก่ เครื่องครัว เครื่องบดยา ผ้าทอโบราณ ฯลฯ เรียกว่ารับชมและรับฟังเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อธิบายกันเพลิน
สามล้อดอกไม้
ใครที่เต็มอิ่มกับพิพิธภัณฑ์บาบ้า-ญวนย่าแล้วก็อย่าเพิ่งไปไหนไกล เพราะที่ย่านไชน่าทาวน์นี่ล้วนเต็มไปด้วยสีสันและชีวิตชีวา ทั้งอาคารบ้านเรือน วัด มัสยิด และวิถีชีวิตผู้คนที่มีให้ชมให้สัมผัสกันอย่างจุใจ

จากสีวันแบบตะวันออกขอสลับอารมณ์ไปชมสีสันแบบตะวันตกกันบ้าง เนื่องจากช่องแคบมะละกาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยมีเมืองมะละกาเป็นเมืองท่าสำคัญโดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่มะละการุ่งเรืองมาก นั่นจึงเป็นเหตุให้เมืองนี้เป็นที่หมายปองของบรรดาจักรวรรดินิยม จนในที่สุดโปรตุเกสได้เดินทางเข้ามายึดครองในปี ค.ศ.1511-1641 ก่อนที่จะถูกดัตช์(ฮอลแลนด์)เข้ามาครอบครองต่อในปี ค.ศ. 1641-1795 ก่อนที่จะเปลี่ยนมือผู้ปกครองมาเป็นอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1795-1941 แล้วญี่ปุ่นก็เข้ามายึดต่ออีกทีในช่วงสั้นๆ ระหว่าง ค.ศ.1941-1945

จากนั้นมะละกากลับไปอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1945-1957 ก่อนที่มาเลเซียจะปลดแอกเป็นไทด้วยการประกาศอิสรภาพ ในปี ค.ศ. 1957 ซึ่งมะละกาคือสถานที่ประกาศเอกราช โดยปัจจุบันตึกอนุสรณ์ประกาศอิสรภาพยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ในย่านท่องเที่ยวสำคัญของเมืองนี้
ป้อมปืนโปรตุเกส A’Famosa
สำหรับความสำคัญในด้านนี้และความสำคัญในฐานะเมืองเก่าแก่คนมาเลเซียหลายๆคนเขายกให้มะละกาเป็นต้นทางแห่งประวัติศาสตร์มาเลเซียกันเลยทีเดียว ซึ่งจุดที่เป็นไฮไลท์สำคัญทางการท่องเที่ยวของมะละกานั้นก็ต้องยกให้ที่บริเวณ จตุรัสแดง บนถนน Laksamana หรือที่หลายๆคนเรียกว่า จัตุรัสดัตช์ เนื่องจากที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางชุมชนดัตช์ในสมัยที่เข้ามาปกครองมลายู

ที่นี่แวดล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอันสวยงาม มีใจกลางจตุรัสเป็นลานน้ำพุเก่าแก่แบบอังกฤษที่สร้างถวายแด่ราชินีวิคตอเรียในปี ค.ศ. 1904 ส่วนใกล้ๆกันตั้งเด่นไปด้วยหอนาฬิกาที่ถือเป็นจุดถ่ายรูปน่าสนใจอีกมุมหนึ่งของเมืองนี้

ในขณะที่รอบๆน้ำพุนั้นก็เรียงรายไปด้วยรถสามล้อ(ถีบ)หรือที่ผมเรียกว่า“สามล้อดอกไม้” เนื่องจากสามล้อแต่ละคันต่างตกแต่งประดับประดาไปด้วยหลากสีสันพร้อมกางร่มกันแดดสีเหลืองเด่น เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมยังจุดต่างๆในละแวกนี้
ตึกอนุสรณ์ประกาศอิสรภาพ
ส่วนที่ถือเป็นพระเอกแห่งจัตุรัสแดงก็คือสถาปัตยกรรมแบบดัตช์สีแดงเด่น ที่ประกอบด้วย โบสถ์คริสต์(Chirst Church)ศิลปกรรมดัตช์ประยุกต์ ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1753 และอาคารสตัดธิวท์ (Stadhuys) ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1650 เป็นอาคารดัตช์เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย ปัจจุบันอาคารสตัดธิวท์กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดี ที่น่าสนใจยิ่งของมะละกา

ชมจัตุรัสแดงแล้วก็อย่าเพิ่งจรลีหนีไปไหน เพราะบนเนินเหนืออาคารสตัดธิวท์(เดินผ่านอาคารขึ้นไป)จะเป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์ปอล (St. Paul) ที่ระหว่างทางจะมีต้นมะละกาหรือต้นมะขามป้อม 1 ต้นขึ้นโดดเด่นให้นักท่องเที่ยวได้ยลกัน

จากนั้นเส้นทางจะพาไปสู่โบสถ์เซนต์ปอลบนเนินด้านหลังจัตุรัสแดงที่บนนั้นสามารถมองลงไปเห็นวิวทิศน์บริเวณนั้นไปจนถึงทะเลหรือบริเวณช่องแคบมะละกาได้เป็นอย่างดี
สวนน้ำที่ A’Formosa
โบสถ์เซนต์ปอล สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1753 แต่ว่าปัจจุบันเหลือแต่ซากกับอดีตที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องราวของนักบุญ Francis Xavier ที่ภายในโบสถ์เป็นสุสานของท่าน ส่วนสังขารของนักบุญท่านนี้หลังลาลับจากโลกไปว่ากันว่าไม่เน่าเปื่อยเหมือนพระเกจิไทยหลายๆรูป และถูกนำกลับไปยังเมืองโกอา ในอินเดีย ตามพระประสงค์ของท่านก่อนเสียชีวิต โดยที่ด้านหน้าโบสถ์มีรูปปั้นของท่าน(ข้อมือขวาขาด)ตั้งโดดเด่นอยู่

จากโบสถ์เซนต์ปอลเมื่อเดินลงไปก็จะพบกับ ป้อม A’Famosa ป้อมปืนที่โปรตุเกสสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1511 ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเพียงป้อมเดียว ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งมะละกาที่มีคนไปถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก
หอคอยมะละกา
นอกจากป้อมเก่าแก่แล้ว ละแวกนี้ยังมีสิ่งชวนชมอีกหลายอย่าง อาทิ ตึกอนุสรณ์ประกาศอิสรภาพ ที่ภายในจัดเก็บข้อมูลเหตุการณ์การประกาศอิสรภาพของชาวมาเลเซีย พระราชวังวังสุลต่านแห่งมะละกา(จำลอง) ที่ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม เป็นต้น

สิ่งชวนชมในมะละกายังไม่หมดเพียงแค่นี้เพราะเมืองนี้ยังมีของดีอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น จตุรัสโปรตุเกส มัสยิด Tranquerah วัดจีนเก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย(Cheng Hoon Teng Temple) วัดซำปอกง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ สวนสนุก สวนสัตว์อันหลากหลาย ในขณะที่ออกนอกเมืองออกไปก็จะมีคอมเพล็กซ์ทางการท่องเที่ยวอย่าง A’Formosa ที่ประกอบด้วยที่พัก ร้านอาหาร สวนสนุก การแสดงโชว์ กิจกรรมผจญภัย สวนสัตว์ สวนน้ำ
นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวบนหอคอยมะละกา
นอกจากนี้มะละกายังมีนวัตกรรมทางการท่องเที่ยวใหม่ล่าสุดที่เพิ่งสร้างเสร็จแค่ 2 เดือนกว่าๆอย่างหอคอยมะละกา(Sky Tower)ที่มีความสูง 110 เมตร จุคนได้ 66 คน ที่แม้นั่งอยู่กับที่ก็สามารถชมวิวได้ 360 องศา เนื่องจากตัวหอคอยจะค่อยหมุนเป็นวงกลมเปลี่ยนมุมมองไปอย่างช้าๆ ทำให้สามารถมองเห็นตัวเมืองมะละกาได้รอบทิศทางทั้งเมืองเก่า เมืองใหม่ ท้องทะเล ช่องแคบมะละกา แม่น้ำมะละกา

ทั้งนี้จากการเที่ยวจุดเด่นๆของเมืองนี้และปิดท้ายด้วยการมาขึ้นหอคอยชมวิวมุมสูงนั้น ผมยอมรับว่าเมืองนี้มีเสน่ห์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองมรดกโลกแห่งใหม่ ผิดกับมรดกโลกปราสาทพระวิหารที่นอกจากจะไม่สมบูรณ์เพราะขาดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในฝั่งไทยแล้ว เขาพระวิหารยังเป็นมรดกโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ก็ไม่รู้ว่ายูเนสโกประกาศให้เป็นได้ยังไง ???
*****************************************

มะละกา เป็นเมืองทางตอนใต้ของมาเลเซีย อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐเนเกรีและยะโฮร์ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ใช้เวลาเดินทางทางรถยนต์จากกรุงกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า ทั้งนี้เวลาในมาเลเซียเร็วกว่าเมืองไทย 1 ชม. ใช้เงินสกุลริงกิต ในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ริงกิต ประมาณ 10 บาท ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดกิจกรรมท่องเที่ยวเมืองมะละกาเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวมาเลเซียประจำประเทศไทย โทร. 0-2631-1994-6
กำลังโหลดความคิดเห็น